20-051 คติและฐานะ 2 อย่าง เป็นต้น



พระไตรปิฎก


คติและฐานะ ๒ อย่างเป็นต้น
{๒๗๑}[๒๗] ผู้มีการงานปกปิดไว้ A พึงหวังได้ B คติอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ
นรกหรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ผู้มีการงานไม่ปกปิดไว้พึงหวังได้คติอย่าง ๑ ใน ๒
อย่าง คือ เทวดาหรือมนุษย์ (๖)
{๒๗๒}[๒๘] ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิพึงหวังได้คติอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ นรกหรือ
กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน (๗)
[๒๙] ผู้เป็นสัมมาทิฏฐิพึงหวังได้คติอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ เทวดาหรือ
มนุษย์ (๘)
{๒๗๓}[๓๐] สถานที่รองรับคนทุศีล ๒ แห่ง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน
สถานที่รองรับคนมีศีล ๒ แห่ง คือ เทวดาหรือมนุษย์ (๙)
{๒๗๔}[๓๑] เราพิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ C ๒ ประการจึงอาศัยเสนาสนะอัน
เงียบสงัด คือ ป่าโปร่งและป่าทึบ D
อำนาจประโยชน์ ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เห็นการอยู่เป็นสุขในปัจจุบันของตน E
๒. อนุเคราะห์คนรุ่นหลัง
เราพิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ ๒ ประการนี้แลจึงอาศัยเสนาสนะอันเงียบ
สงัด คือ ป่าโปร่งและป่าทึบ (๑๐)
{๒๗๕}[๓๒] ธรรม ๒ ประการนี้เป็นฝ่ายวิชชา
ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สมถะ (การฝึกจิตให้สงบเป็นสมาธิ)
๒. วิปัสสนา (ความเห็นแจ้ง)
สมถะที่ภิกษุเจริญแล้วย่อมให้สำเร็จประโยชน์อะไร
คือ ย่อมให้จิตเจริญ
จิต F ที่เจริญแล้วย่อมให้สำเร็จประโยชน์อะไร
คือ ย่อมละราคะได้
วิปัสสนาที่ภิกษุเจริญแล้วย่อมให้สำเร็จประโยชน์อะไร
คือ ย่อมให้ปัญญาเจริญ
ปัญญาที่เจริญแล้วย่อมให้สำเร็จประโยชน์อะไร
คือ ย่อมละอวิชชาได้
{๒๗๖} จิตที่เศร้าหมองเพราะราคะย่อมไม่หลุดพ้น ปัญญา G ที่เศร้าหมองเพราะอวิชชา
ย่อมไม่เจริญ เพราะสำรอกราคะจึงมีเจโตวิมุตติ เพราะสำรอกอวิชชา จึงมีปัญญา-
วิมุตติ (๑๑)
พาลวรรคที่ ๓ จบ
เชิงอรรถ
A การงานที่ปกปิดไว้ หมายถึงบาปกรรม แท้จริง ขึ้นชื่อว่าบาป บุคคลจะทำอย่างปกปิดหรือไม่ปกปิด
ก็ตาม ก็ชื่อว่าบาปกรรมที่ปกปิดไว้ (องฺ.ทุก.อ. ๒/๒๗/๒๙)
B พึงหวังได้ ในที่นี้หมายถึงจำต้องปรารถนา จำต้องมีแน่นอน หรือจำต้องบังเกิดในคตินั้น ๆ แน่นอน
(องฺ.ติก.อ. ๒/๗๐/๒๑๔)
C อำนาจประโยชน์ หมายถึงเหตุทั้งหลาย (องฺ.ทุก.อ. ๒/๓๑/๓๐)
D ป่าโปร่ง (อรญฺญ) หมายถึงป่าอยู่นอกเสาหลักเมืองออกไปอย่างน้อยชั่ว ๕๐๐ ลูกธนู ป่าทึบ (วนปตฺถ)
หมายถึงสถานที่ไม่มีผู้คนอยู่อาศัยเลยเขตหมู่บ้านไป (องฺ.ทุก.อ. ๒/๓๑/๓๐)
E เห็นการอยู่เป็นสุขในปัจจุบันของตน หมายถึงการอยู่ผาสุกอันเป็นโลกิยะและโลกุตตระ (องฺ.ทุก.อ.
๒/๓๑/๓๐)
F จิต ในที่นี้หมายถึงมรรคจิต คือจิตในขณะแห่งมรรค (องฺทุก.อ. ๒/๓๒/๓๐)
G ปัญญา ในที่นี้หมายถึงมรรคปัญญา คือปัญญาในขณะแห่งมรรค (องฺ.ทุก.อ. ๒/๓๒/๓๐)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.