20-025 ธรรมอันเป็นเอก หมวดที่ 2
พระไตรปิฎก
๑๖. เอกธัมมบาลี
๒. ทุติยวรรค หมวดที่ ๒
{๑๘๑}[๒๙๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้อย่าง
หนึ่งที่เป็นเหตุให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็เป็นไปเพื่อ
ความเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้นเหมือนมิจฉาทิฏฐิ A (ความเห็นผิด)นี้ เมื่อเป็นมิจฉาทิฏฐิ
อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วก็เป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์
ยิ่งขึ้น (๑)
{๑๘๒}[๒๙๙] เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น
ก็เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็เป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้นเหมือนสัมมาทิฏฐิ B
(ความเห็นชอบ)นี้ เมื่อเป็นสัมมาทิฏฐิ กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น และที่เกิด
ขึ้นแล้วก็เป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น (๒)
{๑๘๓}[๓๐๐] เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น
ก็ไม่เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไปเหมือนมิจฉาทิฏฐินี้ เมื่อเป็นมิจฉาทิฏฐิ
กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นก็ไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไป (๓)
{๑๘๔}[๓๐๑] เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด
ขึ้นก็ไม่เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไปเหมือนสัมมาทิฏฐินี้ เมื่อเป็นสัมมาทิฏฐิ
อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นก็ไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไป (๔)
{๑๘๕}[๓๐๒] เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้มิจฉาทิฏฐิที่ยังไม่เกิดขึ้น
ก็เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็เจริญยิ่งขึ้นเหมือนอโยนิโสมนสิการ เมื่อมนสิการโดยไม่
แยบคาย มิจฉาทิฏฐิที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วก็เจริญยิ่งขึ้น (๕)
{๑๘๖}[๓๐๓] เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้สัมมาทิฏฐิที่ยังไม่เกิดขึ้น
ก็เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็เจริญยิ่งขึ้นเหมือนโยนิโสมนสิการ เมื่อมนสิการโดย
แยบคาย สัมมาทิฏฐิที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วก็เจริญยิ่งขึ้น (๖)
{๑๘๗}[๓๐๔] เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้เหล่าสัตว์ หลังจากตาย
แล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เหมือนมิจฉาทิฏฐินี้ เหล่าสัตว์ที่ประกอบ
ด้วยมิจฉาทิฏฐิ หลังจากตายแล้วย่อมไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก (๗)
{๑๘๘}[๓๐๕] เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้เหล่าสัตว์ หลังจากตาย
แล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์เหมือนสัมมาทิฏฐินี้ เหล่าสัตว์ที่ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ
หลังจากตายแล้วย่อมไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ (๘)
{๑๘๙}[๓๐๖] กายกรรมที่ถือปฏิบัติให้บริบูรณ์ตามสมควรแก่ทิฏฐิ วจีกรรมที่ถือ
ปฏิบัติให้บริบูรณ์ตามสมควรแก่ทิฏฐิ มโนกรรมที่ถือปฏิบัติให้บริบูรณ์ตามสมควร
แก่ทิฏฐิ เจตนา ความปรารถนา ความตั้งใจ และสังขารทั้งหลาย ของบุคคลผู้เป็น
มิจฉาทิฏฐิ ธรรมทั้งหมดนั้นย่อมเป็นไปเพื่อผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่า
พอใจ ไม่เกื้อกูล เป็นทุกข์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความเห็นเลวทราม
กายกรรมที่ถือปฏิบัติให้บริบูรณ์ตามสมควรแก่ทิฏฐิ … ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะความเห็นเลวทราม เปรียบเหมือนเมล็ดสะเดา เมล็ดบวบขม หรือเมล็ดน้ำ
เต้าขมที่บุคคลเพาะไว้ในดินชุ่มชื้น รสดินและรสน้ำที่มันดูดซับเอาไว้ทั้งหมด ย่อม
เป็นไปเพื่อความเป็นของขม เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเมล็ด
สะเดาเป็นต้นนั้นเลว ฉะนั้น (๙)
{๑๙๐}[๓๐๗] กายกรรมที่ถือปฏิบัติให้บริบูรณ์ตามสมควรแก่ทิฏฐิ วจีกรรมที่ถือ
ปฏิบัติให้บริบูรณ์ตามสมควรแก่ทิฏฐิ มโนกรรมที่ถือปฏิบัติให้บริบูรณ์ตามสมควร
แก่ทิฏฐิ เจตนา ความปรารถนา ความตั้งใจ และสังขารทั้งหลายของบุคคลผู้เป็น
สัมมาทิฏฐิ ธรรมทั้งหมดนั้นย่อมเป็นไปเพื่อผลอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
เกื้อกูล เป็นสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความเห็นดี
กายกรรมที่ถือปฏิบัติให้บริบูรณ์ตามสมควรแก่ทิฏฐิ … ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะความเห็นดี เปรียบเหมือนพันธุ์อ้อย พันธุ์ข้าวสาลีหรือเมล็ดจันทน์ที่บุคคล
เพาะไว้ในดินชุ่มชื้น รสดินและรสน้ำที่มันดูดซับเอาไว้ทั้งหมดย่อมเป็นไปเพื่อความ
เป็นของหวาน น่าอร่อย น่าชื่นใจ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพันธุ์อ้อยเป็นต้นนั้นดี
ฉะนั้น (๑๐)
ทุติยวรรค จบ
เชิงอรรถ
A มิจฉาทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ ประการ (องฺ.เอกก.อ. ๑/๒๙๘/๔๒๒, ดูเรื่องทิฏฐิ ๖๒ ประการใน
ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค แปล เล่มที่ ๙ ข้อ ๒๘-๙๘ หน้า ๑๑-๓๘)
B สัมมาทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงสัมมาทิฏฐิ ๕ ประการ คือ
(๑) กัมมัสสกตาทิฏฐิ
(๒) ฌานสัมมาทิฏฐิ
(๓) วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ
(๔) มัคคสัมมาทิฏฐิ
(๕) ผลสัมมาทิฏฐิ (องฺ.ทุก.อ. ๒/๑๗๕/๗๑)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต