20-013 บุคคลผู้เป็นเอก



พระไตรปิฎก


๑๓. เอกปุคคลวรรค
หมวดว่าด้วยบุคคลผู้เป็นเอก

{๑๓๙}[๑๗๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เป็นเอก เมื่อเกิดขึ้นใน
โลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาว
โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บุคคลผู้เป็น
เอกคือใคร คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บุคคลผู้เป็นเอกนี้แล เมื่อเกิด
ขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์
ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย (๑)
{๑๔๐}[๑๗๑] ความปรากฏแห่งบุคคลผู้เป็นเอกหาได้ยากในโลก บุคคลผู้เป็นเอกคือ
ใคร คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ความปรากฏแห่งบุคคลผู้เป็นเอก
นี้แลหาได้ยากในโลก (๒)
{๑๔๑}[๑๗๒] บุคคลผู้เป็นเอก เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเป็นอัจฉริยมนุษย์ A บุคคล
ผู้เป็นเอกคือใคร คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บุคคลผู้เป็นเอกนี้แล
เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเป็นอัจฉริยมนุษย์ (๓)
{๑๔๒}[๑๗๓] การตายของบุคคลผู้เป็นเอกเป็นเหตุให้คนจำนวนมากพลอยเดือดร้อน
ไปด้วย บุคคลผู้เป็นเอกคือใคร คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า การตาย
ของบุคคลผู้เป็นเอกนี้แลเป็นเหตุให้คนจำนวนมากพลอยเดือดร้อนไปด้วย (๔)
{๑๔๓}[๑๗๔] บุคคลผู้เป็นเอก เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นไม่เป็นที่สอง B ไม่มี
สหาย C ไม่มีอัตภาพใดเหมือน D ไม่มีใครเปรียบเทียบ E ไม่มีผู้ทำกิจเปรียบเทียบ F หา
บุคคลเปรียบเทียบมิได้ G หาผู้เสมอมิได้ H เสมอกับบุคคลผู้หาผู้เสมอมิได้ I เป็นผู้เลิศ
กว่าสัตว์สองเท้า J บุคคลผู้เป็นเอกคือใคร คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
บุคคลผู้เป็นเอกนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นไม่เป็นที่สอง ไม่มีสหาย ไม่มี
อัตภาพใดเหมือน ไม่มีใครเปรียบเทียบ ไม่มีผู้ทำกิจเปรียบเทียบ หาบุคคลเปรียบ
เทียบมิได้ หาผู้เสมอมิได้ เสมอกับบุคคลผู้หาผู้เสมอมิได้ เป็นผู้เลิศกว่าสัตว์สอง
เท้า (๕)
{๑๔๔}[๑๗๕-๑๘๖] ความปรากฏแห่งบุคคลผู้เป็นเอกเป็นความปรากฏแห่งจักษุอัน
ยิ่งใหญ่ เป็นความปรากฏแห่งแสงสว่างอันยิ่งใหญ่ เป็นความปรากฏแห่งโอภาสอัน
ยิ่งใหญ่ เป็นความปรากฏแห่งอนุตตริยะ ๖ K เป็นการทำให้แจ้งปฏิสัมภิทา ๔ L เป็น
การรู้แจ้งชัดธาตุหลายชนิด เป็นการรู้แจ้งชัดธาตุที่แตกต่างกัน เป็นการทำให้แจ้ง
ผลคือวิชชา(ความรู้แจ้ง)และวิมุตติ(ความหลุดพ้น) เป็นการทำให้แจ้งโสดาปัตติผล
สกทาคามิผล อนาคามิผล และอรหัตตผล บุคคลผู้เป็นเอกคือใคร คือ พระตถาคต
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะความปรากฏแห่งบุคคลผู้เป็นเอกนี้แล จึงมีความ
ปรากฏแห่งจักษุอันยิ่งใหญ่ มีความปรากฏแห่งแสงสว่างอันยิ่งใหญ่ มีความปรากฏ
แห่งโอภาสอันยิ่งใหญ่ มีความปรากฏแห่งอนุตตริยะ ๖ มีการทำให้แจ้งปฏิสัมภิทา ๔
มีการรู้แจ้งชัดธาตุหลายชนิด มีการรู้แจ้งชัดธาตุที่แตกต่างกัน มีการทำให้แจ้งผล
คือวิชชาและวิมุตติ มีการทำให้แจ้งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล และ
อรหัตตผล (๖-๑๗)
{๑๔๕}[๑๘๗] เราไม่เห็นบุคคลอื่นแม้คนเดียวที่เผยแผ่โดยชอบซึ่งธรรมจักรอันยอด
เยี่ยมที่ตถาคตประกาศไว้แล้วเหมือนสารีบุตรนี้ สารีบุตรย่อมเผยแผ่โดยชอบซึ่ง
ธรรมจักรอันยอดเยี่ยมที่ตถาคตประกาศไว้แล้ว (๑๘)
เอกปุคคลวรรคที่ ๑๓ จบ
เชิงอรรถ
A เป็นอัจฉริยมนุษย์ ในที่นี้หมายถึงประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์เป็นอันมาก หรือเป็นมนุษย์ผู้ได้สั่งสม
บารมีมาแล้วโดยลำดับซึ่งยากที่ใครจะสั่งสมได้ เช่น ให้ทานในชาติที่เป็นพระเวสสันดรแล้วถือปฏิสนธิในภพ
ดุสิต ทรงรับคำอ้อนวอนของเทวดา เปิดวันมหาวิโลกนะ ๕ ถือปฏิสนธิในตระกูลมีโภคะมาก แม้ในวันถือ
ปฏิสนธิและในวันประสูติก็ให้โลกธาตุหวั่นไหว เสด็จดำเนินได้ ๗ ก้าว ทรงเศวตฉัตรทิพย์ บันลือสีหนาท
ว่า “เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก” เมื่อญาณแก่เต็มที่ก็ทรงสละราชสมบัติออกผนวช ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ
(องฺ.เอกก.อ. ๑/๑๗๒/๑๐๒)
B ไม่เป็นที่สอง หมายถึงไม่มีพุทธเจ้าองค์ที่สอง (ในโลกธาตุเดียวกัน) กล่าวคือไม่มีพระสัพพัญญูพุทธเจ้า
ผู้บำเพ็ญบารมี ๔ อสงไขย แสนกัป ๘ อสงไขย แสนกัป หรือ ๑๖ อสงไขย แสนกัป กำจัดยอดแห่งมาร ๓
จำพวก รู้แจ้งพระสัพพัญญุตญาณ (องฺ.เอกก.อ. ๑/๑๗๔/๑๐๔)
C ไม่มีสหาย หมายถึงไม่มีบุคคลที่มีอัตภาพหรือธรรมที่ตรัสรู้เสมอเหมือน (องฺ.เอกก.อ. ๑/๑๗๔/๑๐๔)
D ไม่มีอัตภาพใดเหมือนหมายถึงไม่มีอัตภาพอื่นเหมือนอัตภาพของพระพุทธเจ้า แม้ในสิ่งที่พวกมนุษย์
ใช้เงินหรือทองสร้างรูปเหมือนนั้น ก็ไม่มีใครสามารถสร้างให้เหมือนพระองค์ได้เลยแม้แต่น้อย (องฺ.เอกก.อ.
๑/๑๗๔/๑๐๔)
E ไม่มีใครเปรียบเทียบ หมายถึงไม่ว่าจะเป็นอัตภาพของผู้ใดก็ไม่สามารถจะเปรียบเทียบกับอัตภาพของ
พระพุทธเจ้า (องฺ.เอกก.อ. ๑/๑๗๔/๑๐๔-๑๐๕)
F ไม่มีผู้ทำกิจเปรียบเทียบ หมายถึงไม่มีผู้เทียมทาน คือไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงธรรมที่พระตถาคต
แสดงไว้ได้ เช่น สติปัฏฐาน ๔ ประการที่ทรงแสดงไว้ ไม่มีใครสามารถลดให้เหลือเป็น ๓ ประการ หรือ
เพิ่มให้เป็น ๕ ประการได้ (องฺ.เอกก.อ. ๑/๑๗๔/๑๐๔-๑๐๕)
G หาบุคคลเปรียบเทียบมิได้ หมายถึงไม่มีคู่แข่ง คือ ไม่มีใครอื่นที่จะกล้าปฏิญญาว่า ‘เราเป็นพระพุทธเจ้า’
ได้เหมือนพระตถาคต (องฺ.เอกก.อ. ๑/๑๗๔/๑๐๕)
H หาผู้เสมอมิได้ หมายถึงไม่มีสรรพสัตว์เท่ากับพระองค์ เพราะไม่มีบุคคลจะเท่าเทียมได้ (องฺ.เอกก.อ.
๑/๑๗๔/๑๐๕)
I เสมอกับบุคคลผู้หาผู้เสมอมิได้ หมายถึงทรงเป็นผู้เสมอกับพระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งหลายทั้งในอดีต และ
อนาคต ซึ่งหาผู้เสมอมิได้ (องฺ.เอกก.อ. ๑/๑๗๔/๑๐๕)
J สัตว์สองเท้า ในที่นี้หมายถึงมนุษย์ และเทวดาทั้งหลาย (องฺ.เอกก.อ. ๑/๑๗๔/๑๐๕)
K อนุตตริยะ ๖ คือ ทัสสนานุตตริยะ การเห็นอันเยี่ยม สวนานุตตริยะ การฟังอันเยี่ยม ลาภานุตตริยะ การ
ได้อันเยี่ยม สิกขานุตตริยะ การศึกษาอันเยี่ยม ปาริจริยานุตตริยะ การบำรุงอันเยี่ยม อนุสสตานุตตริยะ
การระลึกอันเยี่ยม (องฺ.เอกก.อ. ๑/๑๗๕-๑๘๖/๑๐๖)
L ปฏิสัมภิทา ๔ คือ อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในเนื้อความ ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉาน
ในหลักการ นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในภาษา และปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานใน
ความคิดทันการ (องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๑๗๒/๑๘๓-๑๘๔, ขุ.ปฏิ. ๓๑/๑๑๐/๑๒๓, อภิ.วิ. ๓๕/๗๑๘/๓๕๙)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.