20-002 ธรรมเป็นเหตุละนิวรณ์



พระไตรปิฎก


๒. นีวรณปหานวรรค
หมวดว่าด้วยธรรมเป็นเหตุละนิวรณ์

{๑๒}[๑๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง
ที่เป็นเหตุให้กามฉันทะ(ความพอใจในกาม)ที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้ว
ก็เป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้นเหมือนสุภนิมิต A นี้ เมื่อมนสิการสุภนิมิตโดยไม่
แยบคาย B กามฉันทะที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วก็เป็นไปเพื่อความ
เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น (๑)
{๑๓}[๑๒] เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้พยาบาท(ความคิดร้าย)ที่
ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็เป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้นเหมือน
ปฏิฆนิมิต C นี้ เมื่อมนสิการปฏิฆนิมิตโดยไม่แยบคาย พยาบาทที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น
และที่เกิดขึ้นแล้วก็เป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น (๒)
{๑๔}[๑๓] เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้ถีนมิทธะ(ความหดหู่และ
เซื่องซึม)ที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็เป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง
ขึ้นเหมือนความไม่ยินดี ความเกียจคร้าน ความเมื่อยขบของร่างกาย ความเมา
อาหาร และความที่จิตหดหู่นี้ เมื่อมีจิตหดหู่ ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น และ
ที่เกิดขึ้นแล้วก็เป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น (๓)
{๑๕}[๑๔] เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้อุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่าน
และร้อนใจ)ที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็เป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์
ยิ่งขึ้นเหมือนความไม่สงบแห่งจิตนี้ เมื่อมีจิตไม่สงบ อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิดขึ้นก็
เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วก็เป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น (๔)
{๑๖}[๑๕] เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้วิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย)ที่
ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็เป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้นเหมือน
อโยนิโสมนสิการ(การมนสิการโดยไม่แยบคาย)นี้ เมื่อมนสิการโดยไม่แยบคาย วิจิกิจฉา
ที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วก็เป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น (๕)
{๑๗}[๑๖] เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้กามฉันทะที่ยังไม่เกิดขึ้นก็
ไม่เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็ละได้เหมือนอสุภนิมิต D นี้ เมื่อมนสิการอสุภนิมิตโดย
แยบคาย กามฉันทะที่ยังไม่เกิดขึ้นก็ไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วก็ละได้ E (๖)
{๑๘}[๑๗] เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้พยาบาทที่ยังไม่เกิดขึ้นก็ไม่
เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็ละได้เหมือนเมตตาเจโตวิมุตติ F นี้ เมื่อมนสิการเมตตา
เจโตวิมุตติโดยแยบคาย พยาบาทที่ยังไม่เกิดขึ้นก็ไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วก็
ละได้ (๗)
{๑๙}[๑๘] เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิดขึ้นก็ไม่
เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็ละได้เหมือนความริเริ่ม ความพากเพียร ความบากบั่นนี้
เมื่อปรารภความเพียร G แล้ว ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิดขึ้นก็ไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้ว
ก็ละได้ (๘)
{๒๐}[๑๙] เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิด
ขึ้นก็ไม่เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็ละได้เหมือนความสงบแห่งจิตนี้ เมื่อมีจิตสงบแล้ว
อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิดขึ้นก็ไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วก็ละได้ (๙)
{๒๑}[๒๐] เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิดขึ้น
ก็ไม่เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็ละได้เหมือนโยนิโสมนสิการ
(การมนสิการโดยแยบคาย)นี้ เมื่อมนสิการโดยแยบคาย วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิดขึ้นก็ไม่เกิดขึ้น
และที่เกิดขึ้นแล้วก็ละได้ (๑๐)
นีวรณปหานวรรคที่ ๒ จบ
เชิงอรรถ
A สุภนิมิต หมายถึงอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความใคร่ (องฺ.เอกก.อ. ๑/๑๑/๒๘)
B มนสิการโดยไม่แยบคาย ในที่นี้หมายถึงการคิดผิดทาง คือคิดถึงสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง คิดถึงสิ่งที่เป็นทุกข์
ว่าเป็นสุข คิดถึงสิ่งที่ไม่มีตัวตนว่ามีตัวตน คิดถึงสิ่งที่ไม่งามว่างาม หรือการคิดคำนึงตรงข้ามกับความ
เป็นจริง (องฺ.เอกก.อ. ๑/๑๑/๒๙)
C ปฏิฆนิมิต หมายถึงนิมิตที่ไม่น่าปรารถนา (องฺ.เอกก.อ. ๑/๑๒/๒๙)
D อสุภนิมิต หมายถึงสภาพอันไม่งามซึ่งเป็นอารมณ์สมถกัมมัฏฐานในชั้นปฐมฌาน คือ (๑) อุทธุมาตกะ ซาก
ศพที่เน่าพองขึ้นอืด (๒) วินีลกะ ซากศพที่มีสีเขียวคล้ำคละด้วยสีต่างๆ (๓) วิปุพพกะ ซากศพที่มีน้ำเหลือง
ไหลเยิ้มตามที่ที่แตกปริออก (๔) วิจฉิททกะ ซากศพที่ขาดจากกันเป็น ๒ ท่อน (๕) วิกขายิตกะ ซากศพที่
ถูกสัตว์จิกทึ้งกัดกิน (๖) วิกขิตตกะ ซากศพที่กระจุยกระจาย (๗) หตวิกขิตตกะ ซากศพที่ถูกสับฟันบั่น
เป็นท่อนๆ (๘) โลหิตกะ ซากศพที่มีโลหิตไหลอาบเรี่ยราดอยู่ (๙) ปุฬุวกะ ซากศพที่มีหนอนคลาคล่ำ
เต็มไปหมด (๑๐) อัฏฐิกะ ซากศพที่ยังเหลืออยู่แต่ร่างกระดูก หรือกระดูกท่อน (วิสุทธิ. ๑/๑๐๒/๑๙๔)
E ละได้ หมายถึงละได้ด้วยปหานะ ๕ อย่าง คือ ตทังคปหานะ วิกขัมภนปหานะ สมุจเฉทปหานะ
ปัสสัทธิปหานะ และนิสสรณปหานะ (องฺ.เอกก.อ. ๑/๑๖/๔๐)
F จิต นี้ เรียกว่า เมตตาเจโตวิมุตติ เพราะพ้นจากธรรมที่ไม่ดีทั้งหลายมีนิวรณ์ ๕ คือ กามฉันทะ
พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา เป็นต้น (องฺ.เอกก.อ. ๑/๑๗/๔๒)
G ปรารภความเพียร ในที่นี้หมายถึงมีความเพียรที่บริบูรณ์และมีความเพียรที่ประคับประคองไว้สม่ำเสมอ
ไม่หย่อนนัก ไม่ตึงนัก ไม่ให้จิตปรุงแต่งภายใน ไม่ให้ฟุ้งซ่านภายนอก คำว่า ความเพียร ในที่นี้หมาย
เอาทั้ง ความเพียรทางกาย เช่น เพียรพยายามทางกายตลอดคืนและวัน ดุจในประโยคว่า “ภิกษุใน
ธรรมวินัยนี้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุความดีด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอด
วัน” (อภิ.วิ. ๓๕/๕๑๙/๓๐๐) และ ความเพียรทางจิต เช่นเพียรพยายามผูกจิตไว้ด้วยการกำหนดสถานที่
เป็นต้น ดุจในประโยคว่า “เราจะไม่ออกจากถ้ำนี้จนกว่าจิตของเราจะหลุดพ้นจากอาสวะไม่ถือมั่นด้วย
อุปาทาน” (องฺ.เอกก.อ. ๑/๑๘/๔๓)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.