12-311 สาราณียธรรม 6 ประการ



พระไตรปิฎก


สาราณียธรรม ๖ ประการ
{๕๔๒} [๔๙๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย สาราณียธรรม(ธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน) ๖ ประการนี้ ทำให้เป็นที่รัก
ทำให้เป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อ
ความสามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน A
สาราณียธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. ตั้งมั่นเมตตากายกรรม B ในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายทั้งต่อหน้าและ
ลับหลัง สาราณียธรรมแม้นี้ ทำให้เป็นที่รัก ทำให้เป็นที่เคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความ
สามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๒. ตั้งมั่นเมตตาวจีกรรม ในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายทั้งต่อหน้าและ
ลับหลัง สาราณียธรรมแม้นี้ ทำให้เป็นที่รัก ทำให้เป็นที่เคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความ
สามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๓. ตั้งมั่นเมตตามโนกรรม ในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายทั้งต่อหน้าและ
ลับหลัง สาราณียธรรมแม้นี้ ทำให้เป็นที่รัก ทำให้เป็นที่เคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความ
สามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๔. บริโภคโดยไม่แบ่งแยก C ลาภทั้งหลายที่ประกอบด้วยธรรม ได้มา
โดยธรรม โดยที่สุดแม้เพียงบิณฑบาต บริโภคร่วมกับเพื่อนพรหม-
จารีทั้งหลายผู้มีศีลทั้งต่อหน้าและลับหลัง สาราณียธรรมแม้นี้ ทำให้
เป็นที่รัก ทำให้เป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อ
ความไม่วิวาทกัน เพื่อความสามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๕. เป็นผู้มีศีลไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท ท่านผู้รู้สรรเสริญ
ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ เสมอกันกับเพื่อน
พรหมจารีทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง สาราณียธรรมแม้นี้
ทำให้เป็นที่รัก ทำให้เป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน
เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความสามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๖. เป็นผู้มีทิฏฐิโดยทิฏฐิอันประเสริฐ เป็นนิยยานิกธรรม D เพื่อ
ความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้ทำตาม เสมอกันกับเพื่อนพรหมจารี
ทั้งหลายทั้งต่อหน้าและลับหลัง สาราณียธรรมแม้นี้ ทำให้เป็นที่รัก
ทำให้เป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความ
ไม่วิวาทกัน เพื่อความสามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
ภิกษุทั้งหลาย สาราณียธรรม ๖ ประการนี้ ทำให้เป็นที่รัก ทำให้เป็นที่เคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความสามัคคีกัน เพื่อ
ความเป็นอันเดียวกัน ทิฏฐิอันไกลจากกิเลสที่เป็นข้าศึก เป็นนิยยานิกธรรมนำ
บุคคลผู้ทำตามนั้นออกไป เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เป็นธรรมชั้นยอดที่ยึดคุม
สาราณียธรรม ๖ ประการนี้ไว้
ภิกษุทั้งหลาย ยอดอันเป็นส่วนสูงสุดเป็นที่ยึดคุมเรือนยอด แม้ฉันใด ทิฏฐิ
อันไกลจากกิเลสที่เป็นข้าศึก เป็นนิยยานิกธรรมนำบุคคลผู้ทำตามนั้นออกไป เพื่อ
ความสิ้นทุกข์โดยชอบนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นธรรมชั้นยอดที่ยึดคุมสาราณียธรรม
๖ ประการนี้ไว้
เชิงอรรถ
A เพื่อความเป็นอันเดียวกัน หมายถึงความเป็นเอกภาพ ไม่ก่อความแตกแยก (ม.มู.อ. ๒/๔๙๒/๓๐๒, องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๒/๑๐๔)
B เมตตากายกรรม หมายถึงกายกรรมที่พึงทำด้วยจิตประกอบด้วยเมตตา และเมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม ก็มีอรรถาธิบายเช่นเดียวกันนี้ (ม.มู.อ. ๒/๔๙๒/๓๐๒, องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๑/๙๗)
C ไม่แบ่งแยก หมายถึงไม่แบ่งแยกอามิสโดยคิดว่า “จะให้เท่านี้ ๆ” และไม่แบ่งแยกบุคคลโดยคิดว่า “จะให้แก่คนนั้น ไม่ให้แก่คนนี้” (ม.มู.อ. ๒/๔๙๒/๓๐๓, องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๑/๙๙)
D นิยยานิกธรรม หมายถึงธรรมที่ตัดมูลรากแห่งวัฏฏะ ทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ แล้วนำสัตว์ออกจากวัฏฏะ (อภิ.สงฺ.อ. ๘๓-๑๐๐/๙๘)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.