12-293 เวทนา



พระไตรปิฎก


เวทนา
{๕๑๑} [๔๖๕] “แม่เจ้าขอรับ เวทนามีเท่าไร”
“ท่านวิสาขะ เวทนามี ๓ ประการ คือ (๑) สุขเวทนา (๒) ทุกขเวทนา
(๓) อทุกขมสุขเวทนา”
“สุขเวทนาเป็นอย่างไร ทุกขเวทนาเป็นอย่างไร อทุกขมสุขเวทนาเป็นอย่างไร”
“การเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข สำราญทางกาย หรือทางใจ นี้เป็นสุขเวทนา
การเสวยอารมณ์ที่เป็นทุกข์ ไม่สำราญทางกาย หรือทางใจ นี้เป็นทุกขเวทนา
การเสวยอารมณ์ที่มิใช่ความสำราญและที่มิใช่ความไม่สำราญทางกายหรือทางใจ นี้เป็น
อทุกขมสุขเวทนา”
“สุขเวทนาเป็นสุขเพราะอะไร เป็นทุกข์เพราะอะไร ทุกขเวทนาเป็นสุขเพราะ
อะไร เป็นทุกข์เพราะอะไร อทุกขมสุขเวทนาเป็นสุขเพราะอะไร เป็นทุกข์เพราะอะไร”
“สุขเวทนาเป็นสุขเพราะตั้งอยู่ เป็นทุกข์เพราะแปรไป ทุกขเวทนาเป็นทุกข์
เพราะตั้งอยู่ เป็นสุขเพราะแปรไป อทุกขมสุขเวทนาเป็นสุขเพราะรู้ เป็นทุกข์เพราะไม่รู้”
“อนุสัยชนิดไหนนอนเนื่องอยู่ในสุขเวทนา อนุสัยชนิดไหนนอนเนื่องอยู่ใน
ทุกขเวทนา อนุสัยชนิดไหนนอนเนื่องอยู่ในอทุกขมสุขเวทนา”
“ราคานุสัย(กิเลสที่นอนเนื่องคือความกำหนัด) นอนเนื่องอยู่ในสุขเวทนา
ปฏิฆานุสัย(กิเลสที่นอนเนื่องคือความขัดเคือง) นอนเนื่องอยู่ในทุกขเวทนา
อวิชชานุสัย(กิเลสที่นอนเนื่องคือความไม่รู้จริง) นอนเนื่องอยู่ในอทุกขมสุขเวทนา”
“ราคานุสัยนอนเนื่องอยู่ในสุขเวทนาทั้งหมดหรือ ปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่ใน
ทุกขเวทนาทั้งหมดหรือ อวิชชานุสัยนอนเนื่องอยู่ในอทุกขมสุขเวทนาทั้งหมดหรือ”
“ราคานุสัยนอนเนื่องอยู่ในสุขเวทนาทั้งหมดหามิได้ ปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่
ในทุกขเวทนาทั้งหมดหามิได้ อวิชชานุสัยนอนเนื่องอยู่ในอทุกขมสุขเวทนาทั้งหมด
หามิได้”
“ธรรมอะไรจะพึงละได้ในสุขเวทนา ธรรมอะไรจะพึงละได้ในทุกขเวทนา
ธรรมอะไรจะพึงละได้ในอทุกขมสุขเวทนา”
“ราคานุสัยจะพึงละได้ในสุขเวทนา ปฏิฆานุสัยจะพึงละได้ในทุกขเวทนา
อวิชชานุสัยจะพึงละได้ในอทุกขมสุขเวทนา”
“แม่เจ้าขอรับ ราคานุสัยจะพึงละได้ในสุขเวทนาทั้งหมดหรือ ปฏิฆานุสัยจะ
พึงละได้ในทุกขเวทนาทั้งหมดหรือ อวิชชานุสัยจะพึงละได้ในอทุกขมสุขเวทนา
ทั้งหมดหรือ”
“ท่านวิสาขะ ราคานุสัยจะพึงละได้ในสุขเวทนาทั้งหมดหามิได้ ปฏิฆานุสัยจะ
พึงละได้ในทุกขเวทนาทั้งหมดหามิได้ อวิชชานุสัยจะพึงละได้ในอทุกขมสุขเวทนา
ทั้งหมดหามิได้ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ย่อมละราคะได้ด้วย
ปฐมฌานนั้น ราคานุสัยมิได้นอนเนื่องอยู่ในปฐมฌานนั้น
อนึ่ง ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นอยู่ว่า ‘เมื่อไร เราจะได้บรรลุ
อายตนะ ที่พระอริยะทั้งหลายบรรลุแล้ว ดำรงอยู่ในบัดนี้’ เมื่อภิกษุนั้นตั้งความ
ปรารถนาในวิโมกข์ทั้งหลายอันเป็นอนุตตรธรรม A อย่างนี้ โทมนัสย่อมเกิดขึ้นเพราะ
ความปรารถนาเป็นปัจจัย ท่านละปฏิฆะได้ด้วยโทมนัสนั้น ปฏิฆานุสัยมิได้นอน
เนื่องอยู่ในโทมนัสนั้น อนึ่ง เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับ
ไปก่อนแล้ว ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้บรรลุจตุตถฌาน ที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติ
บริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ ย่อมละอวิชชาได้ด้วยจตุตถฌานนั้น อวิชชานุสัยมิได้
นอนเนื่องอยู่ในจตุตถฌานนั้น”
{๕๑๒} [๔๖๖] “แม่เจ้าขอรับ อะไรเป็นคู่เปรียบ B แห่งสุขเวทนา”
“ท่านวิสาขะ ทุกขเวทนาเป็นคู่เปรียบแห่งสุขเวทนา”
“อะไรเป็นคู่เปรียบแห่งทุกขเวทนา”
“สุขเวทนาเป็นคู่เปรียบแห่งทุกขเวทนา”
“อะไรเป็นคู่เปรียบแห่งอทุกขมสุขเวทนา”
“อวิชชาเป็นคู่เปรียบแห่งอทุกขมสุขเวทนา”
“อะไรเป็นคู่เปรียบแห่งอวิชชา”
“วิชชาเป็นคู่เปรียบแห่งอวิชชา”
“อะไรเป็นคู่เปรียบแห่งวิชชา”
“วิมุตติเป็นคู่เปรียบแห่งวิชชา”
“อะไรเป็นคู่เปรียบแห่งวิมุตติ”
“นิพพานเป็นคู่เปรียบแห่งวิมุตติ”
“แม่เจ้าขอรับ อะไรเป็นคู่เปรียบแห่งนิพพาน”
“ท่านวิสาขะ ท่านก้าวเลยปัญหาไปเสียแล้ว ไม่อาจกำหนดที่สุดแห่งปัญหาได้
เพราะพรหมจรรย์มีนิพพานเป็นที่หยั่งลง มีนิพพานเป็นจุดหมาย มีนิพพานเป็นที่สุด
ถ้าท่านยังหวังอยู่ก็ควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทูลถามเนื้อความนี้เถิด พระผู้มี-
พระภาคทรงตอบแก่ท่านอย่างไร ท่านควรทรงจำคำตอบไว้อย่างนั้นเถิด”
เชิงอรรถ
A อนุตตรธรรม หมายถึงมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ (อภิ.สงฺ.(แปล) ๓๔/๑๓๐๐/๓๒๘)
B คู่เปรียบ ในที่นี้มี ๒ ความหมาย (๑) หมายถึงคู่เปรียบที่ขัดแย้งกัน เช่น สุขกับทุกข์ (๒) หมายถึง คู่เปรียบที่คล้อยตามกันคือวิมุตติและนิพพานอันเป็นโลกุตตรธรรม (ม.มู.อ. ๒/๔๖๖/๒๗๗)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.