12-289 จูฬเวทัลลสูตร การสนทนาธรรมที่ทำให้เกิดปัญญา สูตรเล็ก



พระไตรปิฎก


๔. จูฬเวทัลลสูตร
ว่าด้วยการสนทนาธรรมที่ทำให้เกิดปัญญา สูตรเล็ก
สักกายทิฏฐิ

{๕๐๕} [๔๖๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน A
เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น อุบาสกชื่อวิสาขะเข้าไปหาภิกษุณีชื่อธัมมทินนาถึงที่อยู่
น้อมไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร แล้วได้ถามธัมมทินนาภิกษุณีว่า “แม่เจ้าขอรับ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘สักกายะ สักกายะ’ ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า
‘สักกายะ”
{๕๐๖} ธัมมทินนาภิกษุณีตอบว่า “ท่านวิสาขะ อุปาทานขันธ์ B ๕ ประการ คือ
๑. รูปูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือรูป)
๒. เวทนูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือเวทนา)
๓. สัญญูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสัญญา)
๔. สังขารูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสังขาร)
๕. วิญญาณูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ)
ท่านวิสาขะ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า
‘สักกายะ”
วิสาขอุบาสกชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของธัมมทินนาภิกษุณีว่า “ดีละ แม่เจ้า”
แล้วได้ถามปัญหาต่อไปว่า “แม่เจ้าขอรับ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘สักกายสมุทัย
สักกายสมุทัย’ ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ‘สักกายสมุทัย”
“ท่านวิสาขะ ตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความ
กำหนัด มีปกติให้เพลิดเพลินในอารมณ์นั้น ๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
นี้พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ‘สักกายสมุทัย”
“พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘สักกายนิโรธ สักกายนิโรธ’ ธรรมอะไรที่พระผู้มี
พระภาคตรัสเรียกว่า ‘สักกายนิโรธ”
“ความดับตัณหาไม่เหลือด้วยวิราคะ ความสละ ความสละคืน ความพ้น
ความไม่อาลัยในตัณหานั้น นี้พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ‘สักกายนิโรธ”
“พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา สักกายนิโรธคามินี-
ปฏิปทา’ ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ‘สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา”
“อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)
๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)
๔. สัมมากัมมันตะ(กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)
๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ)
๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)
นี้พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ‘สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา”
“แม่เจ้าขอรับ อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ ๕ เป็นอันเดียวกัน หรือต่างกัน”
“ท่านวิสาขะ อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ ๕ ทั้งไม่เป็นอันเดียวกัน ทั้งไม่ต่างกัน
ความกำหนัดพอใจในอุปาทานขันธ์ ๕ ก็คืออุปาทานนั้นเอง”
{๕๐๗} [๔๖๑] “แม่เจ้าขอรับ สักกายทิฏฐิมีได้อย่างไร”
“ท่านวิสาขะ ปุถุชนในโลกนี้ผู้ยังไม่ได้สดับ ไม่ได้พบพระอริยะทั้งหลาย ไม่
ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้พบ
สัตบุรุษทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของ
สัตบุรุษ พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง
พิจารณาเห็นรูปในอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตาในรูปบ้าง พิจารณาเห็นเวทนา
ฯลฯ พิจารณาเห็นสัญญา ฯลฯ พิจารณาเห็นสังขารทั้งหลาย ฯลฯ พิจารณา
เห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณบ้าง
พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตาในวิญญาณบ้าง สักกายทิฏฐิ
มีได้ อย่างนี้แล”
“แม่เจ้าขอรับ สักกายทิฏฐิไม่มีได้อย่างไร”
“ท่านวิสาขะ พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ผู้ได้สดับแล้ว ได้พบพระอริยะ
ทั้งหลาย ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้รับคำแนะนำดีแล้วในธรรมของพระอริยะ
พบสัตบุรุษทั้งหลาย ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับคำแนะนำดีแล้วในธรรมของ
สัตบุรุษ ไม่พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูป
บ้าง ไม่พิจารณาเห็นรูปในอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง ไม่พิจารณาเห็น
เวทนา ฯลฯ ไม่พิจารณาเห็นสัญญา ฯลฯ ไม่พิจารณาเห็นสังขารทั้งหลาย ฯลฯ
ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามี
วิญญาณบ้าง ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาใน
วิญญาณบ้าง สักกายทิฏฐิไม่มีได้ อย่างนี้แล”
เชิงอรรถ
A ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๒๕๒ (รถวินีตสูตร) หน้า ๒๗๓ ในเล่มนี้
B ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๙๑ (สัมมาทิฏฐิสูตร) หน้า ๘๖ ในเล่มนี้

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.