12-288 ปัจจัยแห่งเจโตวิมุตติ
พระไตรปิฎก
ปัจจัยแห่งเจโตวิมุตติ
{๕๐๓} [๔๕๘] “ท่านผู้มีอายุ ปัจจัยแห่งการเข้าเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีทุกข์ ไม่มีสุขมีเท่าไร”
“ท่านผู้มีอายุ ปัจจัยแห่งการเข้าเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีทุกข์ ไม่มีสุขมี ๔ ประการ
คือ (๑) เพราะละสุขได้ (๒) เพราะละทุกข์ได้ (๓) เพราะโสมนัสดับไปก่อน
(๔) เพราะโทมนัสดับไปก่อนแล้ว ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้จึงบรรลุจตุตถฌาน ซึ่งไม่มี
ทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
ปัจจัยแห่งการเข้าเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีทุกข์ ไม่มีสุขมี ๔ ประการนี้แล”
“ปัจจัยแห่งการเข้าเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิต A มีเท่าไร”
“ปัจจัยแห่งการเข้าเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิตมี ๒ ประการ คือ
๑. การไม่มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง B
๒. การมนสิการถึงนิพพานธาตุ ซึ่งไม่มีนิมิต C
ปัจจัยแห่งการเข้าเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิตมี ๒ ประการนี้แล”
“ปัจจัยแห่งการตั้งอยู่แห่งเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิต มีเท่าไร”
“ปัจจัยแห่งการตั้งอยู่แห่งเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิตมี ๓ ประการ คือ
๑. ไม่มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง
๒. มนสิการถึงนิพพานธาตุ ซึ่งไม่มีนิมิต
๓. อภิสังขาร D ในเบื้องต้น
ปัจจัยแห่งการตั้งอยู่แห่งเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิตมี ๓ ประการนี้แล”
“ปัจจัยแห่งการออกจากเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิต มีเท่าไร”
“ปัจจัยแห่งการออกจากเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิตมี ๒ ประการ คือ
๑. การมนสิการถึงนิมิตทั้งปวง
๒. การไม่มนสิการถึงนิพพานธาตุ ซึ่งไม่มีนิมิต
ปัจจัยแห่งการออกจากเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิตมี ๒ ประการนี้แล”
{๕๐๔} [๔๕๙] “ท่านผู้มีอายุ ธรรมเหล่านี้ คือ อัปปมาณาเจโตวิมุตติ E
อากิญจัญญาเจโตวิมุตติ F สุญญตาเจโตวิมุตติ G อนิมิตตาเจโตวิมุตติ H มีอรรถต่างกัน
มีพยัญชนะต่างกัน หรือมีอรรถอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น”
“ท่านผู้มีอายุ เพราะอาศัยเหตุใด ธรรมเหล่านี้จึงมีอรรถต่างกัน และมี
พยัญชนะต่างกัน เหตุนั้นมีอยู่ อนึ่ง เพราะอาศัยเหตุใด ธรรมเหล่านี้จึงมีอรรถ
อย่างเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น เหตุนั้นมีอยู่”
“เพราะอาศัยเหตุใด ธรรมเหล่านี้จึงมีอรรถต่างกัน และมีพยัญชนะต่างกัน
เหตุนั้นเป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้มีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ … ทิศที่ ๒ …
ทิศที่ ๓ … ทิศที่ ๔ … ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลก
ทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิต อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีกรุณาจิต … มีมุทิตาจิต …
มีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ … ทิศที่ ๒ … ทิศที่ ๓ … ทิศที่ ๔ …
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน
ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
นี้เรียกว่า ‘อัปปมาณาเจโตวิมุตติ’
อากิญจัญญาเจโตวิมุตติ เป็นอย่างไร
คือ เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุในพระธรรม-
วินัยนี้ บรรลุอากิญจัญญายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’
นี้เรียกว่า ‘อากิญจัญญาเจโตวิมุตติ’
สุญญตาเจโตวิมุตติ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี
พิจารณาเห็นว่า ‘สิ่งนี้ว่างจากตนบ้าง จากสิ่งที่เนื่องด้วยตนบ้าง’
นี้เรียกว่า ‘สุญญตาเจโตวิมุตติ’
อนิมิตตาเจโตวิมุตติ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้บรรลุอนิมิตตาเจโตสมาธิ เพราะไม่มนสิการถึง
นิมิตทั้งปวงอยู่
นี้เรียกว่า ‘อนิมิตตาเจโตวิมุตติ’
เพราะอาศัยเหตุใด ธรรมเหล่านี้จึงมีอรรถต่างกัน และมีพยัญชนะต่างกัน
เหตุนั้น เป็นอย่างนี้แล
เพราะอาศัยเหตุใด ธรรมเหล่านี้จึงมีอรรถอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่
พยัญชนะเท่านั้น เหตุนั้น เป็นอย่างไร
คือ ราคะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องวัด โทสะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องวัด โมหะชื่อว่า
กิเลสเป็นเครื่องวัด กิเลสเหล่านั้นภิกษุผู้ขีณาสพละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคน
เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไป
ไม่ได้
เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘เลิศกว่าอัปปมาณา-
เจโตวิมุตติที่มีอยู่’ เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบนั้น ว่างจากราคะ ว่างจากโทสะ ว่าง
จากโมหะ ราคะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องกังวล โทสะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องกังวล
โมหะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องกังวล กิเลสเหล่านั้นภิกษุผู้ขีณาสพละได้เด็ดขาดแล้ว
ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘เลิศกว่าอากิญจัญญาเจโต-
วิมุตติที่มีอยู่’ เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบนั้น ว่างจากราคะ ว่างจากโทสะ ว่างจากโมหะ
ราคะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องทำนิมิต โทสะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องทำนิมิต โมหะชื่อว่า
กิเลสเป็นเครื่องทำนิมิต กิเลสเหล่านั้นภิกษุผู้ขีณาสพละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดราก
ถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
ท่านผู้มีอายุ เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘เลิศกว่า
อนิมิตตาเจโตวิมุตติที่มีอยู่’ เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบนั้น ว่างจากราคะ ว่างจากโทสะ
ว่างจากโมหะ
เพราะอาศัยเหตุใด ธรรมเหล่านี้จึงมีอรรถอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่
พยัญชนะเท่านั้น เหตุนั้น เป็นอย่างนี้แล”
ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวภาษิตนี้แล้ว ท่านพระมหาโกฏฐิกะมีใจยินดีชื่นชม
ภาษิตของท่านพระสารีบุตร ดังนี้แล
มหาเวทัลลสูตรที่ ๓ จบ
เชิงอรรถ
A นิมิต ในความหมายนี้หมายถึงการออกจากนิโรธสมาบัติด้วยผลสมาบัติซึ่งเป็นผลเกิดจากวิปัสสนา (ม.มู.อ. ๒/๔๕๘/๒๖๐)
B นิมิตทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงอารมณ์มีรูปเป็นต้น (ม.มู.อ. ๒/๔๕๘/๒๖๐)
C การมนสิการถึงนิพพานซึ่งไม่มีนิมิต หมายถึงการมนสิการถึงธรรมที่เกิดร่วมกับผลสมาบัติ (ม.มู.อ.๒/๔๕๘/๒๖๐)
D อภิสังขาร หมายถึงการกำหนดระยะเวลาอยู่ในสมาธิ (ม.มู.อ. ๒/๔๕๘/๒๖๐)
E อัปปมาณาเจโตวิมุตติ ได้แก่ ธรรม ๑๒ ประการ คือ พรหมวิหาร ๔ มรรค ๔ ผล ๔ พรหมวิหาร ชื่อว่า อัปปมาณะ เพราะแผ่ไปหาประมาณมิได้ ธรรมที่เหลือชื่อว่าอัปปมาณะ เพราะไม่มีกิเลสเป็นเครื่องวัด (ม.มู.อ. ๒/๔๕๙/๒๖๒, สํ.สฬา.อ. ๓/๓๔๙/๑๖๐)
F อากิญจัญญาเจโตวิมุตติ ได้แก่ ธรรม ๙ ประการ คือ อากิญจัญญายตนะ ๑ มรรค ๔ ผล ๔ อากิญจัญญายตนะ ชื่อว่าอากิญจัญญะ เพราะไม่มีกิเลสเครื่องกังวลเป็นอารมณ์ มรรคและผล ชื่อว่า อากิญจัญญะ เพราะไม่มีกิเลสเครื่องกังวลคือกิเลสเครื่องย่ำยีและกิเลสเครื่องผูก (ม.มู.อ. ๒/๔๕๙/๒๖๒, สํ.สฬา.อ. ๓/๓๔๙/๑๖๐)
G สุญญตาเจโตวิมุตติ ได้แก่ ความหลุดพ้นโดยว่างจากราคะ โทสะ โมหะ เพราะพิจารณานามรูปโดยความ เป็นอนัตตา (ม.มู.อ. ๒/๔๕๙/๒๖๓, สํ.สฬา.อ. ๓/๓๔๙/๑๖๑)
H อนิมิตตาเจโตวิมุตติ ได้แก่ ธรรม ๑๓ ประการ คือ วิปัสสนา ๑ อรูป ๔ มรรค ๔ ผล ๔ (ม.มู.อ. ๒/๔๕๙/๒๖๓, สํ.สฬา.อ. ๓/๓๔๙/๑๖๑)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต