12-274 อกุศลกรรมบถ 10



พระไตรปิฎก


อกุศลกรรมบถ ๑๐
{๔๘๔} [๔๔๐] “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือ
ความประพฤติอธรรมทางกายมี ๓ ประการ ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือ
ความประพฤติอธรรมทางวาจามี ๔ ประการ ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือ
ความประพฤติอธรรมทางใจมี ๓ ประการ
ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมทางกายมี ๓ ประการ
อะไรบ้าง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ A
๑. เป็นผู้ฆ่าสัตว์ คือ เป็นคนหยาบช้า มีมือเปื้อนเลือด ปักใจอยู่ใน
การฆ่าและการทุบตี ไม่มีความละอาย ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง
๒. เป็นผู้ลักทรัพย์ คือ เป็นผู้ถือเอาทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจ
ของผู้อื่น ซึ่งอยู่ในบ้านหรือในป่าที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยจิตเป็นเหตุขโมย
๓. เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม คือ เป็นผู้ประพฤติล่วงในสตรีที่อยู่ในปกครอง
ของมารดา ที่อยู่ในปกครองของบิดา ที่อยู่ในปกครองของมารดา
บิดา ที่อยู่ในปกครองของพี่ชายน้องชาย ที่อยู่ในปกครองของพี่สาว
น้องสาว ที่อยู่ในปกครองของญาติ ที่อยู่ในปกครองของโคตร ที่
ประพฤติธรรม มีสามี มีกฎหมายคุ้มครอง โดยที่สุด แม้สตรีที่
บุรุษสวมด้วยพวงมาลัยหมายไว้
ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมทางกายมี ๓ ประการ
อย่างนี้แล
ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมทางวาจามี ๔ ประการ
อะไรบ้าง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้พูดเท็จ คือ อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ท่ามกลางหมู่ญาติ
อยู่ท่ามกลางหมู่ทหาร หรืออยู่ท่ามกลางราชสำนัก ถูกเขาอ้างเป็น
พยานซักถามว่า ‘ท่านรู้สิ่งใด จงกล่าวสิ่งนั้น’ บุรุษนั้นไม่รู้ก็กล่าว
ว่า ‘รู้’ หรือรู้ก็กล่าวว่า ‘ไม่รู้’ ไม่เห็นก็กล่าวว่า ‘เห็น’ หรือเห็น
ก็กล่าวว่า ‘ไม่เห็น’ กล่าวเท็จทั้งที่รู้เพราะตนเป็นเหตุบ้าง เพราะ
บุคคลอื่นเป็นเหตุบ้าง เพราะเหตุคือเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง
๒. เป็นผู้พูดส่อเสียด คือ ฟังความฝ่ายนี้แล้วไปบอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลาย
ฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วมาบอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น
ยุยงคนที่สามัคคีกัน ส่งเสริมคนที่แตกแยกกัน ชื่นชมยินดี เพลิดเพลิน
ต่อผู้ที่แตกแยกกัน พูดแต่ถ้อยคำที่ก่อความแตกแยกกัน
๓. เป็นผู้พูดคำหยาบ คือ พูดแต่คำหยาบคาย กล้าแข็ง เผ็ดร้อน
หยาบคายร้ายกาจแก่ผู้อื่น กระทบกระทั่งผู้อื่น ใกล้ต่อความโกรธ
ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ
๔. เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ คือ พูดไม่ถูกเวลา พูดคำที่ไม่จริง พูดคำที่ไม่
อิงประโยชน์ พูดไม่อิงธรรม พูดไม่อิงวินัย พูดคำที่ไม่มีหลักฐาน
ไม่มีที่อ้างอิง ไม่มีที่กำหนด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยไม่
เหมาะแก่เวลา
ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมทางวาจามี ๔ ประการ
อย่างนี้แล
ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมทางใจมี ๓ ประการ
อะไรบ้าง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา คือ เพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์
เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ‘ทำอย่างไร ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่อง
ปลื้มใจของผู้อื่นจะพึงเป็นของเรา’
๒. เป็นผู้มีจิตพยาบาท คือ มีจิตคิดร้ายว่า ‘ขอสัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่า
จงถูกทำลาย จงขาดสูญ จงพินาศไป หรืออย่าได้มี’
๓. เป็นมิจฉาทิฏฐิ คือ มีความเห็นวิปริตว่า ‘ทานที่ให้แล้วไม่มีผล
ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่
ทำดีและทำชั่วก็ไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มีคุณ
บิดาไม่มีคุณ โอปปาติกสัตว์ไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดี
ปฏิบัติชอบทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว
สอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ก็ไม่มีในโลก’
ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมทางใจมี ๓ ประการ
อย่างนี้แล
พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้หลังจากตายแล้วไปเกิดใน
อบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติ
อธรรมเป็นเหตุ อย่างนี้
เชิงอรรถ
A ดูเทียบ องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๒๑๑/๓๔๖-๓๔๗

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.