12-268 อุปมาวิชชา 3



พระไตรปิฎก


อุปมาวิชชา ๓
{๔๗๕} [๔๓๑] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง
๒ ชาติบ้าง ฯลฯ A เธอระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและ
ชีวประวัติอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุรุษออกจากบ้านของตนไปสู่บ้านอื่น ออกจาก
บ้านแม้นั้นไปสู่อีกบ้านหนึ่ง ออกจากบ้านแม้นั้นแล้ว กลับมาสู่บ้านของตนตามเดิม
เขาจะพึงระลึกได้ว่า ‘เราออกจากบ้านของตนไปสู่บ้านโน้น ในบ้านนั้น เราได้ยืน
อย่างนี้ ได้นั่งอย่างนี้ ได้พูดอย่างนี้ ได้นิ่งอย่างนี้ ออกจากบ้านแม้นั้นไปสู่บ้านโน้น
แม้ในบ้านนั้น เราก็ได้ยืนอย่างนี้ ได้นั่งอย่างนี้ ได้พูดอย่างนี้ ได้นิ่งอย่างนี้ ออก
จากบ้านแม้นั้นแล้วกลับมาสู่บ้านของตนตามเดิม’ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือน
กันย่อมระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ เธอ
ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
{๔๗๖} [๔๓๒] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง
งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดีด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์
ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ฯลฯ B เรือน ๒ หลัง มีประตูอยู่ตรงกัน บุรุษผู้มีตาดี
ยืนอยู่ตรงกลางจะพึงเห็นหมู่มนุษย์ กำลังเข้าสู่เรือนบ้าง กำลังออกจากเรือนบ้าง
กำลังเดินไปมาบ้าง กำลังเที่ยวไปข้างโน้นข้างนี้บ้าง แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น
เหมือนกัน เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม
เกิดดีและเกิดไม่ดีด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ย่อมรู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไป
ตามกรรมว่า ฯลฯ
{๔๗๗} [๔๓๓] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย
นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้
อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ
ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติ
สิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็น
อย่างนี้อีกต่อไป’ สระน้ำใส สะอาด ไม่ขุ่นมัว บนยอดภูเขา คนตาดียืนที่ขอบสระ
นั้นจะพึงเห็นหอยโข่ง หอยกาบ ก้อนกรวด และก้อนหิน หรือฝูงปลากำลังแหวก
ว่ายอยู่บ้าง หยุดอยู่บ้างในสระนั้น ก็คิดอย่างนี้ว่า ‘สระน้ำนี้ใส สะอาด ไม่ขุ่นมัว
หอยโข่งและหอยกาบ ก้อนกรวด และก้อนหินหรือฝูงปลาเหล่านี้กำลังแหวกว่าย
อยู่ก็มี หยุดอยู่ก็มีในสระนั้น แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
เชิงอรรถ
A-B ดูเนื้อความเต็มในข้อ ๖๘ (อากังเขยยสูตร) หน้า ๖๐-๖๑ ในเล่มนี้

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.