12-253 สิกขาและสาชีพของภิกษุ



พระไตรปิฎก


สิกขาและสาชีพของภิกษุ
{๔๕๕} [๔๑๑] เขาเมื่อบวชแล้วอย่างนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพเสมอด้วย
ภิกษุทั้งหลาย คือ
๑. ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธ และศัสตราวุธ มีความ
ละอาย มีความเอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่
๒. ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับเอาแต่ของที่เขาให้ มุ่งหวังแต่ของ
ที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย เป็นคนสะอาดอยู่
๓. ละพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์
เว้นห่างไกลจากเมถุนธรรม A อันเป็นกิจของชาวบ้าน
๔. ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ พูดแต่คำสัตย์ ดำรงความสัตย์ มี
ถ้อยคำเป็นหลัก เชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก
๕. ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด คือ ฟังความจากฝ่ายนี้แล้วไม่ไป
บอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่มา
บอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกกัน ส่งเสริม
คนที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่
ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี
๖. ละเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ คือ พูดแต่คำไม่มีโทษ ไพเราะ
น่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ
๗. ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดแต่คำจริง
พูดอิงประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่
อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ เหมาะแก่เวลา
๘. เว้นขาดจากการพรากพืชคาม B และภูตคาม C
๙. ฉันมื้อเดียว ไม่ฉันตอนกลางคืน เว้นขาดจากการฉันในเวลาวิกาล D
๑๐. เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการละเล่น
ที่เป็นข้าศึกแก่กุศล
๑๑. เว้นขาดจากการทัดทรง ประดับ ตกแต่งร่างกายด้วยพวงดอกไม้
ของหอม และเครื่องประทินผิวอันเป็นลักษณะแห่งการแต่งตัว
๑๒. เว้นขาดจากที่นอนสูงใหญ่
๑๓. เว้นขาดจากการรับทองและเงิน
๑๔. เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ E
๑๕. เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ
๑๖. เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี
๑๗. เว้นขาดจากการรับทาสหญิงและทาสชาย
๑๘. เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ
๑๙. เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร
๒๐. เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา
๒๑. เว้นขาดจากการรับเรือกสวน ไร่นา และที่ดิน
๒๒. เว้นขาดจากการทำหน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสาร
๒๓. เว้นขาดจากการซื้อการขาย
๒๔. เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง ด้วยของปลอม และด้วยเครื่องตวงวัด
๒๕. เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง
๒๖. เว้นขาดจากการตัด(อวัยวะ) การฆ่า การจองจำ การตีชิงวิ่งราว
การปล้น และการขู่กรรโชก
ภิกษุนั้นเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกาย และบิณฑบาตพออิ่มท้อง จะไป
ณ ที่ใด ๆ ก็ไปได้ทันที นกมีปีกจะบินไป ณ ที่ใด ๆ ก็มีแต่ปีกของมันเป็นภาระบินไป
แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกายและ
บิณฑบาตพออิ่มท้อง จะไป ณ ที่ใด ๆ ก็ไปได้ทันที ภิกษุนั้นประกอบด้วย
อริยสีลขันธ์นี้แล้ว ย่อมเสวยสุขอันปราศจากโทษในภายใน
ภิกษุนั้นเห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อความสำรวม
จักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและ
โทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
ฟังเสียงทางหู …
ดมกลิ่นทางจมูก …
ลิ้มรสทางลิ้น …
ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย …
รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อความ
สำรวมมนินทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌา
และโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุนั้น
ประกอบด้วยอริยอินทรียสังวร ย่อมเสวยสุขอันไม่ระคนกับกิเลสในภายใน
ภิกษุนั้นทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวร การฉัน การดื่ม
การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การหลับ
การตื่น การพูด การนิ่ง
เชิงอรรถ
A ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๒๙๒ (จูฬหัตถิปโทปมสูตร) หน้า ๓๒๓ ในเล่มนี้
B-E ดูเชิงอรรถที่ ๑-๔ ข้อ ๒๙๓ (จูฬหัตถิปโทปมสูตร) หน้า ๓๒๔ ในเล่มนี้

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.