12-251 องค์ประกอบแห่งการเกิดในครรภ์



พระไตรปิฎก


องค์ประกอบแห่งการเกิดในครรภ์
{๔๕๒} [๔๐๘] ภิกษุทั้งหลาย เพราะปัจจัย ๓ ประการประชุมพร้อมกัน การถือ
กำเนิดในครรภ์จึงมีได้
ในสัตว์โลกนี้ มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน แต่มารดายังไม่มีระดู และคันธัพพะ๒ยัง
ไม่ปรากฏ การถือกำเนิดในครรภ์ก็ยังมีไม่ได้
ในสัตว์โลกนี้ มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน มารดามีระดู แต่คันธัพพะยังไม่ปรากฏ
การถือกำเนิดในครรภ์ก็ยังมีไม่ได้
แต่เมื่อใด มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน มารดามีระดู และคันธัพพะก็ปรากฏ เมื่อนั้น
เพราะปัจจัย ๓ ประการประชุมพร้อมกันอย่างนี้ การถือกำเนิดในครรภ์จึงมีได้
มารดาย่อมรักษาทารกในครรภ์นั้น ๙ เดือนบ้าง ๑๐ เดือนบ้าง จึงคลอด
ทารกผู้เป็นภาระหนักนั้นด้วยความกังวลใจมาก และเลี้ยงทารกผู้เป็นภาระหนักนั้น
ซึ่งเกิดแล้วด้วยโลหิตของตนด้วยความห่วงใยมาก
{๔๕๓} น้ำนมของมารดานับเป็นโลหิตในอริยวินัย กุมารนั้นอาศัยความเจริญและ
ความเติบโตแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ย่อมเล่นด้วยเครื่องเล่นสำหรับกุมาร คือ
ไถเล็ก ๆ ตีไม้หึ่ง หกคะเมน เล่นกังหัน ตวงทราย รถเล็ก ธนูเล็ก
ภิกษุทั้งหลาย กุมารนั้นอาศัยความเจริญและความเติบโตแห่งอินทรีย์
ทั้งหลาย อิ่มเอิบ พร้อมพรั่ง บำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ ประการ คือ
๑. รูปที่จะพึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
๒. เสียงที่จะพึงรู้แจ้งทางหู …
๓. กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งทางจมูก …
๔. รสที่จะพึงรู้แจ้งทางลิ้น …
๕. โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
[๔๐๙] กุมารนั้นเห็นรูปทางตาแล้วกำหนัด B ในรูปที่น่ารัก ขัดเคืองในรูปที่
ไม่น่ารัก เป็นผู้มีสติในกายไม่ตั้งมั่น และมีจิตเป็นกามาวจร C อยู่ ไม่รู้ชัดถึงเจโตวิมุตติ
ปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งบาปอกุศลธรรมตามความเป็นจริง เขาเป็นผู้
สมบูรณ์ด้วยความยินดีและความยินร้าย D อย่างนี้ เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ย่อมเพลิดเพลิน บ่นถึง E ติดใจเวทนานั้น
เมื่อกุมารนั้นเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินก็เกิดขึ้น
ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลาย เป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงมี
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้
ฟังเสียงทางหู …
ดมกลิ่นทางจมูก …
ลิ้มรสทางลิ้น …
ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย …
รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้วกำหนัดในธรรมารมณ์ที่น่ารัก ขัดเคืองในธรรมารมณ์
ที่ไม่น่ารัก ย่อมเป็นผู้มีสติในกายไม่ตั้งมั่น และมีจิตเป็นกามาวจรอยู่ ไม่รู้ชัดถึง
เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งบาปอกุศลธรรมตามความเป็นจริง
เขาเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยความยินดีและความยินร้ายอย่างนี้ เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ย่อมเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนา
นั้นอยู่ เมื่อกุมารนั้นเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินก็เกิดขึ้น
ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลาย เป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส และอุปายาสจึงมี
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้
เชิงอรรถ
A คันธัพพะ ในที่นี้หมายถึงสัตว์ผู้จะมาเกิดในครรภ์นั้น (ปฏิสนธิวิญญาณ) (ม.มู.อ. ๒/๔๐๘/๒๑๘)
B กำหนัด ในที่นี้หมายถึงให้เกิดราคะขึ้น (ม.มู.อ. ๒/๔๐๙/๒๑๘)
C จิตเป็นกามาวจร ในที่นี้หมายถึงจิตฝ่ายอกุศล (ม.มู.อ. ๒/๔๐๙/๒๑๘)
D ความยินดี (อนุโรธะ) หมายถึงราคะ ความยินร้าย (วิโรธะ) หมายถึงโทสะ (ม.มู.อ. ๒/๔๐๙/๒๑๘)
E เพลิดเพลิน หมายถึงมีตัณหาทะยานอยาก บ่นถึง หมายถึงพร่ำเพ้อว่า “สุขหนอ ๆ” (ม.มู.อ. ๒/๔๐๙/๒๑๘)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.