12-238 จูฬตัณหาสังขยสูตร ความสิ้นตัณหา สูตรเล็ก



พระไตรปิฎก


๗. จูฬตัณหาสังขยสูตร
ว่าด้วยความสิ้นตัณหา สูตรเล็ก
ปัญหาธรรมของท้าวสักกะ

{๔๓๓} [๓๙๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของมิคารมาตา ณ บุพพาราม
เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้ว ได้ประทับยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุจึงชื่อว่า
เป็นผู้หลุดพ้นแล้วด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด A มีความเกษม
จากโยคะสูงสุด B ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด C มีที่สุดอันสูงสุด D เป็นผู้ประเสริฐ
กว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”
{๔๓๔} พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “จอมเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า ‘ธรรม
ทั้งปวง E ไม่ควรยึดมั่น’ ถ้าข้อนั้นภิกษุได้สดับแล้วอย่างนี้ว่า ‘ธรรมทั้งปวงไม่ควร
ยึดมั่น’ ภิกษุนั้นย่อมรู้ยิ่งธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่งธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมกำหนดรู้
ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว เธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม เธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง พิจารณา
เห็นความคลายกำหนัด พิจารณาเห็นความดับ และพิจารณาเห็นความสลัดทิ้งใน
เวทนาทั้งหลายนั้นอยู่ เมื่อพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง พิจารณาเห็นความคลาย
กำหนัด พิจารณาเห็นความดับ และพิจารณาเห็นความสลัดทิ้งในเวทนาทั้งหลาย
นั้นอยู่ ย่อมไม่ยึดมั่นอะไร ๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เมื่อ
ไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสได้เฉพาะตนและรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบ
พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป F ’
จอมเทพ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเท่านี้ ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว
ด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ประพฤติ
พรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”
ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วอันตรธานไปจากที่นั้นนั่นเอง
เชิงอรรถ
A มีความสำเร็จสูงสุด (อัจจันตนิฏฐะ) หมายถึงผ่านที่สุดกล่าวคือความสิ้นไปและเสื่อมไปเพราะไม่มีธรรม เครื่องกำเริบอีก ได้แก่ ถึงพระนิพพาน (ม.มู.อ. ๒/๓๙๐/๒๐๕, องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๑๐/๓๘๓, ม.มู.ฏีกา ๒/๓๙๐/๒๖๖)
B มีความเกษมจากโยคะสูงสุด หมายถึงบรรลุธรรมที่สูงสุดอันปราศจากโยคะ ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา หมายถึงบรรลุพระนิพพาน ชื่อว่าผู้มีความปลอดโปร่งจากโยคกิเลส (ที.ปา. ๑๑/๓๑๒/๒๐๕ องฺ.จตุกฺก.(แปล) ๒๑/๑๐/๑๒)
C ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด หมายถึงอยู่จบพรหมจรรย์ แล้วมีสภาวะที่ไม่เสื่อมอีก (ม.มู.อ. ๒/๓๙๐/๒๐๕, ม.มู.ฏีกา ๒/๓๙๐/๒๐๖๖)
D มีที่สุดอันสูงสุด หมายถึงมีที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่อยู่จบแล้ว (ม.มู.อ. ๒/๓๙๐/๒๐๕, ม.มู.ฏีกา ๒/๓๙๐/๒๖๖) และดู องฺ.เอกาทสก. (แปล) ๒๔/๑๐/๔๐๖
E ธรรมทั้งปวง หมายถึงขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ และธาตุ ๑๘ เป็นธรรมที่ไม่ควรยึดมั่นด้วยอำนาจตัณหา และทิฏฐิ เพราะเป็นภาวะไม่ดำรงอยู่โดยอาการที่บุคคลจะยึดถือได้ (ม.มู.อ. ๒/๓๙๐/๒๐๕-๒๐๖)
F ดูเชิงอรรถที่ ๑-๓ ข้อ ๕๔ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๓ ในเล่มนี้

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.