12-234 การบำเพ็ญทุกกรกิริยา



พระไตรปิฎก


การบำเพ็ญทุกกรกิริยา
{๔๑๗} [๓๗๗] อัคคิเวสสนะ เรานั้นมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรกดฟันด้วยฟัน
ใช้ลิ้นดันเพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้เร่าร้อน’ เรานั้นก็กดฟันด้วยฟัน
ใช้ลิ้นดันเพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้เร่าร้อน เมื่อเราทำดังนั้น เหงื่อก็
ไหลออกจากรักแร้ทั้ง ๒ ข้าง คนที่แข็งแรงจับคนที่อ่อนแอกว่าที่ศีรษะหรือที่คอแล้ว
บีบคั้นรัดไว้ให้แน่น แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อกดฟันด้วยฟัน ใช้ลิ้นดัน
เพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้เร่าร้อน เหงื่อก็ไหลออกจากรักแร้ทั้ง ๒ ข้าง
เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อเราถูก
ความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของเราก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ
แม้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
{๔๑๘} [๓๗๘] อัคคิเวสสนะ เราจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌาน
อันไม่มีลมปราณเถิด’ เราก็กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปากและทางจมูก
เมื่อเรากลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปากและทางจมูก ลมก็ออกทาง
หูทั้ง ๒ ข้าง มีเสียงดังอู้ ๆ ลมที่ช่างทองสูบอยู่มีเสียงดังอู้ ๆ แม้ฉันใด เมื่อเรา
กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปากและทางจมูก ลมก็ออกทางหูทั้ง ๒
ข้าง มีเสียงดังอู้ ๆ ฉันนั้นเหมือนกัน
เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อเราถูก
ความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของเราก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ
แม้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราตั้งอยู่ไม่ได้
{๔๑๙} เราจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌานอันไม่มีลมปราณเถิด’ เราก็
กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู เมื่อเรากลั้น
ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ลมอันแรงกล้า
ก็เสียดแทงศีรษะ คนที่แข็งแรงใช้เหล็กที่แหลมคมแทงศีรษะ แม้ฉันใด เมื่อเรากลั้น
ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูกและทางช่องหู ลมอันแรงกล้า
ก็เสียดแทงศีรษะ ฉันนั้นเหมือนกัน
เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อเราถูก
ความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของเราก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ
แม้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
{๔๒๐} เราจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌานอันไม่มีลมปราณเถิด’ เราก็กลั้น
ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู เมื่อเรากลั้น
ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ก็มีทุกขเวทนา
ในศีรษะอย่างแรงกล้า คนที่แข็งแรงใช้เชือกหนังที่เหนียวขันศีรษะ แม้ฉันใด เมื่อเรา
กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหูก็มีทุกขเวทนา
ในศีรษะอย่างแรงกล้า ฉันนั้นเหมือนกัน
เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อเราถูก
ความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของเราก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ
แม้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
{๔๒๑} เราจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌานอันไม่มีลมปราณเถิด’ เราก็กลั้น
ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู เมื่อเรากลั้น
ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ลมอันแรงกล้า
ก็บาดในช่องท้อง คนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ชำนาญพึงใช้มีดแล่เนื้อที่คมกรีดท้อง
แม้ฉันใด เมื่อเรากลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทาง
ช่องหู ก็มีลมอันแรงกล้าบาดในช่องท้อง ฉันนั้นเหมือนกัน
เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อเราถูก
ความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของเราก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ
แม้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
{๔๒๒} เราจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌานอันไม่มีลมปราณเถิด’ เราก็
กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู เมื่อเรา
กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ก็มีความ
กระวนกระวายในร่างกายอย่างแรงกล้า คนที่แข็งแรง ๒ คนจับแขนคนที่อ่อนแอ
กว่าคนละข้างย่างให้ร้อนบนหลุมถ่านเพลิง แม้ฉันใด A เมื่อเรากลั้นลมหายใจเข้า
และลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ก็มีความกระวนกระวายใน
ร่างกายอย่างแรงกล้า ฉันนั้นเหมือนกัน
เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อเราถูก
ความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของเราก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ
แม้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
เทวดาทั้งหลายเห็นเราแล้วก็พากันกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมสิ้นพระชนม์
แล้ว’ บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมยังมิได้สิ้นพระชนม์ แต่กำลังจะสิ้น
พระชนม์’ บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมยังไม่สิ้นพระชนม์ ทั้งจะไม่สิ้น
พระชนม์ พระสมณโคดมจะเป็นพระอรหันต์ การอยู่เช่นนี้นั้นเป็นวิหารธรรม B ของ
ท่านผู้เป็นพระอรหันต์’
{๔๒๓} [๓๗๙] อัคคิเวสสนะ เราจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรปฏิบัติด้วย
การอดอาหารทุกอย่าง’ ขณะนั้น เทวดาทั้งหลายเข้ามาหาเราแล้วกล่าวว่า ‘ข้าแต่
ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านอย่าได้ปฏิบัติด้วยการอดอาหารทุกอย่าง ถ้าท่านจักปฏิบัติด้วย
การอดอาหารทุกอย่าง ข้าพเจ้าทั้งหลายจะแทรกโอชาอันเป็นทิพย์เข้าทางขุมขนของท่าน
ท่านจะได้ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยโอชานั้น’ เราจึงมีความดำริว่า ‘เราปฏิญญาว่า
จะต้องอดอาหารทุกอย่าง แต่เทวดาเหล่านี้จะแทรกโอชาอันเป็นทิพย์เข้าทางขุมขน
ของเรา เราจะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยโอชานั้น การปฏิญญานั้นก็จะพึงเป็นมุสาแก่เรา’
เราจึงกล่าวห้ามเทวดาเหล่านั้นว่า ‘อย่าเลย’
{๔๒๔} [๓๘๐] อัคคิเวสสนะ เรามีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรกินอาหารให้
น้อยลง ๆ เพียงครั้งละ ๑ ฟายมือบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อใน
เมล็ดถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง’ เราจึงกินอาหาร
น้อยลง ๆ เพียงครั้งละ ๑ ฟายมือบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อใน
เมล็ดถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง เมื่อเรากินอาหาร
ให้น้อยลง ๆ เพียงครั้งละ ๑ ฟายมือบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อ
ในเมล็ดถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง’ กายก็ซูบผอมมาก
อวัยวะน้อยใหญ่ของเราจึงเป็นเหมือนเถาวัลย์ที่มีข้อมากหรือเถาวัลย์ที่มีข้อดำ เนื้อ
สะโพกก็ลีบเหมือนกีบเท้าอูฐ กระดูกสันหลังก็ผุดเป็นหนามเหมือนเถาวัลย์ ซี่โครง
ทั้ง ๒ ข้างขึ้นสะพรั่ง เหมือนกลอนศาลาเก่า ดวงตาทั้ง ๒ ข้างก็ลึกเข้าไปในเบ้าตา
เหมือนดวงดาวปรากฏอยู่ในบ่อน้ำลึก หนังบนศีรษะก็เหี่ยวหดเหมือนลูกน้ำเต้าที่
เขาตัดมาขณะยังดิบต้องลมและแดดเข้าก็เหี่ยวหดไป เพราะเป็นผู้มีอาหารน้อยนั้น
เราคิดว่า ‘จะลูบพื้นท้อง’ ก็จับถึงกระดูกสันหลัง คิดว่า ‘จะลูบกระดูกสันหลัง’ ก็จับ
ถึงพื้นท้อง เพราะพื้นท้องของเราแนบติดจนถึงกระดูกสันหลัง เราคิดว่า ‘จะถ่าย
อุจจาระหรือถ่ายปัสสาวะ’ ก็ซวนเซล้มลง ณ ที่นั้น เมื่อจะให้กายสบายบ้าง จึงใช้
ฝ่ามือลูบตัว ขนทั้งหลายที่มีรากเน่าก็หลุดร่วงจากกาย เพราะเป็นผู้มีอาหารน้อย
มนุษย์ทั้งหลายเห็นเราแล้ว ก็กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมดำไป’ บางพวกก็
กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมไม่ดำเพียงแต่คล้ำไป’ บางพวกก็กล่าวว่า ‘ไม่ดำ
ไม่คล้ำ เพียงแต่พร้อยไป’ เรามีผิวพรรณบริสุทธิ์ เปล่งปลั่ง เพียงแต่เสียผิวไป
เพราะเป็นผู้มีอาหารน้อยเท่านั้น
{๔๒๕} [๓๘๑] อัคคิเวสสนะ เรานั้นมีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งในอดีตเสวยทุกขเวทนากล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ที่เกิดขึ้นเพราะความ
เพียร ทุกขเวทนานั้นอย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ไม่เกินกว่านี้ไป สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่ง ในอนาคตเสวยทุกขเวทนากล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ที่เกิดขึ้นเพราะ
ความเพียร ทุกขเวทนานั้นอย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ไม่เกินกว่านี้ไป สมณะหรือพราหมณ์
เหล่าใดเหล่าหนึ่งในปัจจุบันเสวยทุกขเวทนากล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ที่เกิดขึ้น
เพราะความเพียร ทุกขเวทนานั้นอย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ไม่เกินกว่านี้ไป แต่เราก็ยัง
มิได้บรรลุญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ด้วย
ทุกกรกิริยาอันเผ็ดร้อนนี้ จะพึงมีทางอื่นที่จะตรัสรู้บ้างไหม’
เราจึงมีความดำริว่า ‘เราจำได้อยู่ เมื่อคราวงานของท้าวสักกาธิบดีซึ่งเป็น
พระราชบิดา เรานั่งอยู่ใต้ต้นหว้าอันร่มเย็น ได้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ทางนั้นพึงเป็นทางแห่ง
การตรัสรู้หรือหนอ’ เรามีความรู้แจ้งที่ตามระลึกด้วยสติว่า ‘ทางนั้นเป็นทางแห่งการ
ตรัสรู้’ เราจึงมีความดำริว่า ‘เรากลัวความสุขที่เว้นจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย
หรือ’ เราก็ดำริว่า ‘เราไม่กลัวความสุขที่เว้นจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายเลย’
{๔๒๖} [๓๘๒] อัคคิเวสสนะ เราจึงมีความดำริต่อไปว่า ‘เราผู้มีกายซูบผอมมาก
อย่างนี้ จะบรรลุความสุขนั้นไม่ใช่ทำได้ง่ายเลย ทางที่ดี เราควรกินอาหารหยาบ
คือข้าวสุกและขนมกุมมาส’ เราก็กินอาหารหยาบคือข้าวสุกและขนมกุมมาส ครั้งนั้น
ภิกษุปัญจวัคคีย์ที่เฝ้าบำรุงเราด้วยหวังว่า ‘พระสมณโคดมบรรลุธรรมใด จักบอก
ธรรมนั้นแก่เราทั้งหลาย’ เมื่อใด เรากินอาหารหยาบ คือข้าวสุกและขนมกุมมาส
เมื่อนั้น ภิกษุปัญจวัคคีย์นั้น ก็เบื่อหน่ายจากไปด้วยเข้าใจว่า ‘พระสมณโคดมมักมาก
คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากเสียแล้ว’
เชิงอรรถ
A ดูเทียบ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๘๗/๘๑
B วิหารธรรม ในที่นี้หมายถึงสมาบัติ ๘ กล่าวคือ รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ อันเป็นโลกิยะ (ดูประกอบ
ใน องฺ.นวก. (แปล) ๒๓/๔๑/๓๖๐-๓๖๘)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.