12-229 กายภาวนาและจิตตภาวนา



พระไตรปิฎก


กายภาวนาและจิตตภาวนา
{๔๐๙} [๓๖๗] ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับสัจจกะ นิครนถบุตรว่า “อัคคิ-
เวสสนะ กายภาวนาที่ประพฤติมาก่อนซึ่งท่านอบรมแล้วนั้นไม่ใช่กายภาวนาที่ถูก
ต้องในอริยวินัย ท่านยังไม่รู้จักแม้กายภาวนา จะรู้จักจิตตภาวนาได้อย่างไร
บุคคลผู้มิได้อบรมกาย มิได้อบรมจิต และบุคคลผู้ได้อบรมกาย ผู้ได้อบรมจิต
มีได้ด้วยวิธีใด ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าววิธีนั้น”
สัจจกะ นิครนถบุตรทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
[๓๖๘] “บุคคลผู้มิได้อบรมกาย มิได้อบรมจิต เป็นอย่างไร
คือ ปุถุชนในโลกนี้ผู้ยังไม่ได้สดับ มีสุขเวทนาเกิดขึ้น ถูกสุขเวทนากระทบแล้ว
มีความยินดียิ่งนักในสุขเวทนา และถึงความเป็นผู้ยินดียิ่งนักในสุขเวทนา สุขเวทนา
นั้นของเขาย่อมดับไป เพราะสุขเวทนาดับไป ทุกขเวทนาจึงเกิดขึ้น เขาถูกทุกข-
เวทนากระทบเข้าแล้ว ก็เศร้าโศก เสียใจ รำพัน ตีอก คร่ำครวญ ถึงความหลงใหล
สุขเวทนานั้นแม้ที่เกิดขึ้นแก่เขาแล้ว ก็ครอบงำจิตอยู่ เพราะเหตุที่มิได้อบรมกาย
ทุกขเวทนาแม้ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ครอบงำจิตอยู่ เพราะเหตุที่มิได้อบรมจิต สุขเวทนา
และทุกขเวทนาทั้ง ๒ ฝ่ายที่เกิดขึ้นแก่ปุถุชนคนใดคนหนึ่งอย่างนี้ ก็ครอบงำจิตอยู่
เพราะเหตุที่มิได้อบรมกาย เพราะเหตุที่มิได้อบรมจิต
อัคคิเวสสนะ บุคคลผู้มิได้อบรมกาย มิได้อบรมจิต เป็นอย่างนี้
[๓๖๙] บุคคลผู้ได้อบรมกาย ได้อบรมจิต เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ผู้ได้สดับแล้ว มีสุขเวทนาเกิดขึ้น ถูกสุขเวทนา
กระทบเข้าแล้ว ไม่มีความยินดียิ่งนักในสุขเวทนาและไม่ถึงความเป็นผู้ยินดียิ่งนักใน
สุขเวทนา สุขเวทนานั้นของเขาย่อมดับไป เพราะสุขเวทนาดับไป ทุกขเวทนาจึง
เกิดขึ้น เขาถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ก็ไม่เศร้าโศก ไม่เสียใจ ไม่รำพัน ไม่ตีอก
คร่ำครวญ ไม่ถึงความหลงใหล สุขเวทนานั้นแม้ที่เกิดขึ้นแก่อริยสาวกแล้ว ก็ไม่
ครอบงำจิตตั้งอยู่ เพราะเหตุที่ได้อบรมกาย ทุกขเวทนาแม้ที่เกิดขึ้นแล้วก็ครอบงำ
จิตอยู่ไม่ได้ เพราะเหตุที่ได้อบรมจิต สุขเวทนาและทุกขเวทนาทั้ง ๒ ฝ่ายที่เกิด
ขึ้นแก่อริยสาวกผู้ใดผู้หนึ่งอย่างนี้ ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่ เพราะเหตุที่ได้อบรมกาย
เพราะเหตุที่ได้อบรมจิต
อัคคิเวสสนะ บุคคลผู้ได้อบรมกาย ได้อบรมจิต เป็นอย่างนี้”
[๓๗๐] สัจจกะ นิครนถบุตรกราบทูลว่า “เมื่อเป็นอย่างนี้ ข้าพเจ้าเลื่อมใส
ท่านพระสมณโคดม เพราะท่านพระสมณโคดมได้อบรมกายแล้ว ได้อบรมจิตแล้ว”
{๔๑๐} พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัคคิเวสสนะ ท่านนำวาจานี้มาพูดกระทบกระ
เทียบกับเราโดยแท้ แต่เราจะบอกแก่ท่าน เมื่อใดเราโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้า
กาสาวพัสตร์ ออกจากวังผนวชเป็นบรรพชิต เมื่อนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่จิตของเรา
นั้นจะถูกสุขเวทนาที่เกิดขึ้นครอบงำอยู่ หรือจะถูกทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นครอบงำอยู่”
สัจจกะ นิครนถบุตรกราบทูลว่า “สุขเวทนาที่เกิดขึ้นซึ่งพอจะครอบงำจิตตั้ง
อยู่ หรือทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นซึ่งพอจะครอบงำจิตตั้งอยู่ ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่พระสมณ-
โคดมผู้เจริญโดยแท้”
{๔๑๑} [๓๗๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัคคิเวสสนะ ทำไมเวทนาทั้ง ๒ นั้นจะ
ไม่พึงมีแก่เรา เราจะเล่าให้ฟัง ก่อนการตรัสรู้ เมื่อเราเป็นโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้
ได้มีความคิดว่า ‘การอยู่ครองเรือนเป็นเรื่องอึดอัด A เป็นทางแห่งธุลี B การบวช
เป็นทางปลอดโปร่ง C การที่ผู้อยู่ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์
ให้บริบูรณ์ครบถ้วน ดุจสังข์ขัด มิใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี เราควรโกนผมและหนวด
นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากวังบวชเป็นบรรพชิตเถิด’
เชิงอรรถ
A การอยู่ครองเรือนชื่อว่าเป็นเรื่องอึดอัด เพราะไม่มีเวลาว่างเพื่อจะทำกุศลกรรม แม้เรือนจะมีเนื้อที่ กว้างขวางถึง ๖๐ ศอก มีบริเวณภายในบ้านตั้ง ๑๐๐ โยชน์ มีคนอยู่อาศัยเพียง ๒ คน คือ สามี ภรรยา ก็ยังถือว่าอึดอัด เพราะมีความห่วงกังวลกันและกัน (ที.สี.อ. ๑๙๑/๑๖๓)
B ชื่อว่าเป็นทางแห่งธุลี เพราะเป็นที่เกิดและเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสอันทำจิตให้เศร้าหมอง เช่น ราคะ เป็นต้น (ที.สี.อ. ๑๙๑/๑๖๓)
C นักบวชแม้จะอยู่ในเรือนยอด ปราสาทแก้วและเทพวิมาน ซึ่งมีประตูหน้าต่างมิดชิด ก็ยังถือว่าปลอดโปร่ง เพราะนักบวชไม่มีความยึดติดในสิ่งใด ๆ เลย (ที.สี.อ. ๑๙๑/๑๖๓)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.