12-228 ปัญหาของสัจจกะ นิครนถบุตร
พระไตรปิฎก
ปัญหาของสัจจกะ นิครนถบุตร
{๔๐๖} [๓๖๕] “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งหมั่นประกอบ
กายภาวนา A อยู่ แต่หาได้หมั่นประกอบจิตตภาวนา B ไม่ สมณพราหมณ์พวกนั้น
ย่อมประสบทุกขเวทนาทางกาย เรื่องเคยมีมาแล้ว เมื่อบุคคลถูกทุกขเวทนาทาง
กายกระทบเข้าแล้ว ความขัดยอกขาจักมีบ้าง หทัยจักแตกบ้าง เลือดอุ่นจักพลุ่ง
ออกจากปากบ้าง จักถึงความมีจิตฟุ้งซ่านจนเป็นบ้าบ้าง จิตอันหมุนไปตามกายของ
ผู้นั้น ก็เป็นไปตามอำนาจกาย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม่ได้อบรมจิต มีสมณ-
พราหมณ์พวกหนึ่ง หมั่นประกอบจิตตภาวนาอยู่ แต่หาได้หมั่นประกอบกายภาวนาไม่
สมณพราหมณ์พวกนั้นย่อมประสบทุกขเวทนาทางจิต เรื่องเคยมีมาแล้ว เมื่อ
บุคคลถูกทุกขเวทนาทางจิตกระทบเข้าแล้ว ความขัดยอกขาจักมีบ้าง หทัยจักแตก
บ้าง เลือดอุ่นจักพลุ่งออกจากปากบ้าง จักถึงความมีจิตฟุ้งซ่านจนเป็นบ้าบ้าง
กายที่หมุนไปตามจิตของผู้นั้น ก็เป็นไปตามอำนาจจิต ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ
ไม่ได้อบรมกาย
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีความคิดว่า ‘หมู่สาวกของท่านพระโคดม
หมั่นประกอบจิตตภาวนาอยู่โดยแท้ แต่หาหมั่นประกอบกายภาวนาอยู่ไม่”
{๔๐๗} [๓๖๖] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัคคิเวสสนะ ท่านได้ฟังกายภาวนา
มาอย่างไร”
สัจจกะ นิครนถบุตรทูลตอบว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ท่านนันทะ
วัจฉโคตร ท่านกิสะ สังกิจจโคตร ท่านมักขลิ โคสาล ก็ท่านเหล่านี้เป็นอเจลก
(ประพฤติเปลือยกาย) เป็นคนไม่มีมารยาท เลียมือ เขาเชิญให้ไปรับอาหารก็ไม่ไป
เขาเชิญให้หยุดรับอาหารก็ไม่หยุด ไม่รับอาหารที่เขาแบ่งไว้ ไม่รับอาหารที่เขาทำ
เจาะจง ไม่ยินดีอาหารที่เขาเชิญ ไม่รับอาหารจากปากหม้อ ไม่รับอาหารจากปาก
ภาชนะ ไม่รับอาหารคร่อมธรณีประตู ไม่รับอาหารคร่อมท่อนไม้ ไม่รับอาหาร
คร่อมสาก ไม่รับอาหารของคน ๒ คนที่กำลังบริโภค ไม่รับอาหารของหญิงมีครรภ์
ไม่รับอาหารของหญิงผู้กำลังให้บุตรดื่มนม ไม่รับอาหารของหญิงที่คลอเคลียชาย
ไม่รับอาหารที่นัดแนะกันทำไว้ ไม่รับอาหารในที่เลี้ยงสุนัข ไม่รับอาหารในที่มี
แมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่ม ๆ ไม่กินปลา ไม่กินเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่ม
ยาดอง เขารับอาหารในเรือนหลังเดียว ยังชีพด้วยข้าวคำเดียว รับอาหารในเรือน ๒
หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๒ คำ ฯลฯ รับอาหารในเรือน ๗ หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๗
คำ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๑ ใบ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๒ ใบ ฯลฯ
ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๗ ใบ กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๑ วัน กินอาหาร
ที่เก็บไว้ค้างคืน ๒ วัน ฯลฯ กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๗ วัน ถือการบริโภค
ภัตตาหารตามวาระ ๑๕ วันต่อมื้อ C เช่นนี้อยู่ ด้วยประการอย่างนี้บ้าง”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัคคิเวสสนะ บุคคลเหล่านั้นเลี้ยงตนด้วยภัต
เพียงเท่านั้นอย่างเดียวหรือ”
สัจจกะ นิครนถบุตรทูลตอบว่า “ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ
บางทีท่านเหล่านั้นเคี้ยวของควรเคี้ยวอย่างดี บริโภคโภชนะอย่างดี ลิ้มของลิ้มอย่างดี
ดื่มน้ำอย่างดี ให้ร่างกายนี้มีกำลัง เจริญ อ้วนพีขึ้น”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัคคิเวสสนะ บุคคลเหล่านั้นละทุกกรกิริยาที่
ประพฤติมาก่อนแล้วบำรุงกายนี้ในภายหลัง เมื่อเป็นอย่างนั้น กายนี้ก็มีความ
เจริญและความเสื่อมไป”
{๔๐๘} พระผู้มีพระภาคตรัสถามอีกว่า “อัคคิเวสสนะ ท่านได้ฟังจิตตภาวนามาอย่างไร”
สัจจกะ นิครนถบุตรถูกพระผู้มีพระภาคตรัสถามในจิตตภาวนา ไม่อาจทูล
ตอบได้
เชิงอรรถ
A กายภาวนา หมายถึงวิปัสสนาภาวนา (ภาวนาข้อที่ ๒ ในภาวนา ๒) คือการฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความ รู้แจ้งตามความเป็นจริง แต่สัจจกะ นิครนถบุตรกล่าวหมายเอาอัตตกิลมถานุโยคของพวกนิครนถ์ (ม.มู.อ. ๒/๓๖๕/๑๙๒)
B จิตตภาวนา หมายถึงสมถภาวนา (ภาวนาข้อที่ ๑ ในภาวนา ๒) คือการฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ(ฝึกสมาธิ) (ม.มู.อ. ๒/๓๖๕/๑๙๒) และดู ที.ปา. ๑๑/๓๕๒/๒๔๒, องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๓๒/๗๖, องฺ.ปญฺจก.(แปล) ๒๒/๗๙/๑๔๔
C ดูข้อ ๑๕๕ (มหาสีหนาทสูตร) หน้า ๑๕๘ ในเล่มนี้
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต