12-223 หลักไตรลักษณ์



พระไตรปิฎก


หลักไตรลักษณ์
{๓๙๘} [๓๕๘] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัคคิเวสสนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้น
ว่าอย่างไร ข้อที่ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘รูปเป็นอัตตาของเรา’ ท่านมีอำนาจในรูปนั้นว่า
‘รูปของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ”
สัจจกะ นิครนถบุตรทูลตอบว่า “ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ”
“ท่านจงมนสิการ A เถิด ครั้นมนสิการแล้วจึงตอบ เพราะคำหลังกับคำก่อน
หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่
ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เวทนาเป็นอัตตาของเรา’ ท่านมีอำนาจในเวทนานั้นว่า
‘เวทนาของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ”
“ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ”
“ท่านจงมนสิการเถิด ครั้นมนสิการแล้วจึงตอบ เพราะคำหลังกับคำก่อน
หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่
ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘สัญญาเป็นอัตตาของเรา’ ท่านมีอำนาจในสัญญานั้นว่า
‘สัญญาของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ”
“ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ”
“ท่านจงมนสิการเถิด ครั้นมนสิการแล้วจึงตอบ เพราะคำหลังกับคำก่อน
หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่
ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘สังขารทั้งหลายเป็นอัตตาของเรา’ ท่านมีอำนาจในสังขาร
ทั้งหลายเหล่านั้นว่า ‘สังขารทั้งหลายของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่าง
นี้เลยหรือ”
“ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ”
“ท่านจงมนสิการเถิด ครั้นมนสิการแล้วจึงตอบ เพราะคำหลังกับคำก่อน
หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่
ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘วิญญาณเป็นอัตตาของเรา’ ท่านมีอำนาจในวิญญาณนั้นว่า
‘วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ”
“ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ”
“ท่านจงมนสิการเถิด ครั้นมนสิการแล้วจึงตอบ เพราะคำหลังกับคำก่อน
หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูป
เที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระโคดมผู้เจริญ”
“สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระโคดมผู้เจริญ”
“สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ
พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระโคดมผู้เจริญ”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขารทั้งหลาย
ฯลฯ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร วิญญาณ เที่ยง หรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระโคดมผู้เจริญ”
“สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระโคดมผู้เจริญ”
“สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ
พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระโคดมผู้เจริญ”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ผู้ใดติดทุกข์ เข้าถึงทุกข์แล้ว กล้ำกลืน
ทุกข์แล้ว ยังพิจารณาเห็นทุกข์ว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา’
ผู้นั้นกำหนดรู้ทุกข์ได้เอง หรือจะทำทุกข์ให้สิ้นไปแล้วจึงอยู่ มีบ้างหรือ”
“จะพึงมีได้อย่างไร ข้อนี้มีไม่ได้เลย พระโคดมผู้เจริญ”
“อัคคิเวสสนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านติดทุกข์
เข้าถึงทุกข์แล้ว กล้ำกลืนทุกข์แล้ว ยังพิจารณาเห็นทุกข์ว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น
นั่นเป็นอัตตาของเรามิใช่หรือ”
“จะไม่มีอย่างไรได้ ข้อนี้ต้องเป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ”
เชิงอรรถ
A มนสิการ ในที่นี้หมายถึงการพิจารณาไตร่ตรองแล้วทรงจำไว้ในใจ (ม.มู.อ. ๒/๓๕๘/๑๘๖)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.