12-218 ฝูงโคข้ามถึงฝั่งโดยสวัสดี
พระไตรปิฎก
ฝูงโคข้ามถึงฝั่งโดยสวัสดี
{๓๙๑} [๓๕๒] ภิกษุทั้งหลาย เหล่าโคผู้ที่เป็นจ่าฝูง เป็นผู้นำฝูงว่ายตัดกระแสแม่น้ำ
คงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลายที่เป็นอรหันตขีณาสพก็ฉันนั้น
เหมือนกัน อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว A ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว B ปลงภาระได้แล้ว
บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว C หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ ก็
ชื่อว่า ว่ายตัดกระแสมารข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี
เหล่าโคที่มีกำลังและโคที่ฝึกไว้ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี
แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลายที่เป็นโอปปาติกะ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะโอรัมภาคิย-
สังโยชน์ ๕ ประการสิ้นไปจึงปรินิพพานในพรหมโลกนั้น ไม่ต้องกลับมาจากโลก
นั้นอีก ก็ชื่อว่า ว่ายตัดกระแสมารข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี
เหล่าโคหนุ่มและโคสาวว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี
แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลายที่เป็นสกทาคามี ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะสังโยชน์ ๓
ประการสิ้นไป (และ) เพราะราคะ โทสะ โมหะเบาบาง จึงกลับมาสู่โลกนี้อีก
ครั้งเดียว ก็จะทำให้ดีที่สุดแห่งทุกข์ได้ ก็ชื่อว่า ว่ายตัดกระแสมารข้ามไปถึงฝั่งได้โดย
สวัสดี
เหล่าลูกโคที่มีกำลังน้อยว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี
แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลายที่เป็นโสดาบัน D ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะสังโยชน์ E ๓
ประการสิ้นไป จึงไม่มีทางตกต่ำ F มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ G ในวันข้างหน้า
ก็ชื่อว่า ว่ายตัดกระแสมารข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี
ลูกโคเล็กที่เกิดในวันนั้นลอยไปตามเสียงโคที่เป็นแม่ ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคา
ข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน ที่เป็น
ธัมมานุสารี H และที่เป็นสัทธานุสารี I ก็ชื่อว่า จักว่ายตัดกระแสมารข้ามไปถึงฝั่งได้
โดยสวัสดี
ภิกษุทั้งหลาย เราแลเป็นผู้ฉลาดในโลกนี้ ฉลาดในโลกหน้า ฉลาดใน
เตภูมิกธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งมาร ฉลาดในธรรมอันไม่เป็นที่อยู่แห่งมาร ฉลาดใน
เตภูมิกธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งมัจจุ ฉลาดในธรรมอันไม่เป็นที่อยู่แห่งมัจจุ ชนเหล่าใด
จักเข้าใจถ้อยคำของเรานั้นว่าเป็นถ้อยคำที่ตนควรฟัง ควรเชื่อ ความเข้าใจของชน
เหล่านั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขตลอดกาลนาน”
พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“โลกนี้และโลกหน้าตถาคตผู้รู้ได้ประกาศไว้ดีแล้ว
ตถาคตผู้ตรัสรู้เอง ทราบชัดโลกทั้งปวงทั้งที่มารไปถึงได้
และที่มัจจุราชไปถึงไม่ได้ ด้วยความรู้ยิ่ง
จึงได้เปิดประตูแห่งอมตะ J
เพื่อให้ถึงนิพพานอันเป็นแดนเกษม
กระแสแห่งมารผู้มีใจบาปตถาคตตัดได้แล้ว
กำจัดได้แล้ว กำราบได้แล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มากด้วยความปราโมทย์
ปรารถนาธรรมอันเป็นแดนเกษม K เถิด”
จูฬโคปาลสูตรที่ ๔ จบ
เชิงอรรถ
A ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๘ (มูลปริยายสูตร) หน้า ๑๑ ในเล่มนี้
B ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๕๔ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๓ ในเล่มนี้
C ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๘ (มูลปริยายสูตร) หน้า ๑๑ ในเล่มนี้
D-G ดูเชิงอรรถที่ ๒-๓,๑-๒ ข้อ ๖๗ (วัตถูปมสูตร) หน้า ๕๘-๕๙ ในเล่มนี้
H ธัมมานุสารี หมายถึงผู้แล่นไปตามธรรม ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผล มีปัญญาแก่กล้า บรรลุผล แล้วกลายเป็นทิฏฐิปัตตะ(ผู้บรรลุธรรมด้วยความเห็นถูกต้อง) (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๙/๕๕, องฺ.สตฺตก.อ.๓/๑๔/๑๖๒, ม.มู.อ. ๒/๓๕๒/๑๗๕)
I สัทธานุสารี คือ ผู้แล่นไปตามศรัทธาท่านผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผลมีสัทธาแก่กล้า บรรลุผลแล้ว กลายเป็นสัทธาวิมุต(ผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา) เรียกว่า มัคคสมังคีบุคคลชั้นต้น (ปฐมมัคคสมังคี) หรือ ผู้พรั่งพร้อมด้วยโสดาปัตติมรรค (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๙/๕๕, องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๒, ม.มู.อ. ๒/๓๕๒/๑๗๕)
J ประตูแห่งอมตะ หมายถึงอริยมรรค (ม.มู.อ. ๒/๓๕๒/๑๗๕)
K ธรรมอันเป็นแดนเกษม หมายถึงอรหัตตผล (ม.มู.อ. ๒/๓๕๒/๑๗๕)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต