12-213 ทรงรับรองทรรศนะของพระเถระทั้งหมด
พระไตรปิฎก
ทรงรับรองทรรศนะของพระเถระทั้งหมด
{๓๗๖} [๓๓๙] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกับท่านเหล่านั้นว่า “ท่านทั้งหลาย
พวกเราทั้งหมดตอบตามปฏิภาณของตน พวกเราไปกันเถิด พวกเราจักเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วจักกราบทูลเนื้อความนี้แด่พระองค์ พระผู้มี-
พระภาคจักทรงตอบแก่เราทั้งหลายอย่างใด พวกเราก็จักทรงจำข้อความนั้นไว้อย่างนั้น”
ท่านเหล่านั้น รับคำแล้ว จากนั้น ท่านเหล่านั้นก็เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ท่านเรวตะ ท่านอานนท์ เข้าไป
หาข้าพระองค์ถึงที่อยู่เพื่อฟังธรรม ข้าพระองค์ได้เห็นท่านเรวตะและท่านอานนท์
กำลังเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วได้กล่าวกับท่านอานนท์ว่า ‘ท่านอานนท์ จงมาเถิด
ท่านอานนท์ผู้เป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค ผู้อยู่ใกล้พระผู้มีพระภาค ได้มาดี
แล้ว ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบาน
สะพรั่งทั่วทุกต้น กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่านอานนท์ ป่าโคสิงคสาลวันจะ
พึงงามด้วยภิกษุเช่นไร’ เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านอานนท์ได้ตอบ
ข้าพระองค์ว่า ‘ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงสุตะ ฯลฯ
เพื่อถอนอนุสัย ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ สารีบุตร อานนท์เมื่อจะตอบอย่างถูก
ต้องก็ควรตอบตามนั้น ด้วยว่าอานนท์เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟัง
มากซึ่งธรรมที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด
พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน
ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ อานนท์นั้นแสดงธรรมแก่บริษัท
๔ ด้วยบทและพยัญชนะที่เรียบง่ายและต่อเนื่องไม่ขาดสาย เพื่อถอนอนุสัย”
{๓๗๗} [๓๔๐] ท่านพระสารีบุตรกราบทูลต่อไปว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อท่าน
อานนท์กล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวกับท่านเรวตะว่า ‘ท่านเรวตะ ท่าน
อานนท์ตอบตามปฏิภาณของตน ผมขอถามท่านเรวตะในข้อนั้นว่า ‘ป่าโคสิงค-
สาลวันเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วทุกต้น
กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่านเรวตะ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร’
เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านเรวตะได้ตอบข้าพระองค์ว่า ‘ท่านสารีบุตร
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีความหลีกเร้นเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในความหลีกเร้น
หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน ประกอบด้วย
วิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ สารีบุตร เรวตะเมื่อจะตอบอย่างถูกต้อง
ก็ควรตอบตามนั้น ด้วยว่า เรวตะเป็นผู้มีความหลีกเร้นเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วใน
ความหลีกเร้น หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน
ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง”
{๓๗๘} [๓๔๑] ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อท่านเรวตะ
กล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวกับท่านอนุรุทธะว่า ‘ท่านอนุรุทธะ ท่าน
เรวตะตอบตามปฏิภาณของตน ฯลฯ ท่านอนุรุทธะ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วย
ภิกษุเช่นไร’ เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านอนุรุทธะได้ตอบข้าพระองค์ว่า
‘ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ย่อมตรวจดูโลกธาตุ ๑,๐๐๐ โลกธาตุ ด้วย
ตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ บุรุษผู้มีตาดีขึ้นปราสาทอันโออ่าชั้นบน จะพึงมองดู
วงกลมแห่งกงล้อจำนวน ๑,๐๐๐ ได้ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมตรวจ
ดูโลกธาตุ ๑,๐๐๐ โลกธาตุ ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ท่านสารีบุตร
ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ สารีบุตร อนุรุทธะเมื่อจะตอบอย่าง
ถูกต้องก็ควรตอบตามนั้น ด้วยว่า อนุรุทธะย่อมตรวจดูโลกธาตุ ๑,๐๐๐ โลกธาตุ
ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์”
{๓๗๙} [๓๔๒] ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อท่านอนุรุทธะ
กล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวกับท่านมหากัสสปะว่า ‘ท่านกัสสปะ ท่าน
อนุรุทธะตอบตามปฏิภาณของตน เราขอถามท่านมหากัสสปะในข้อนั้นว่า ‘ฯลฯ
ท่านกัสสปะ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร’ เมื่อข้าพระองค์กล่าว
อย่างนี้แล้ว ท่านมหากัสสปะได้ตอบข้าพระองค์ว่า ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระ
ธรรมวินัยนี้ตนเองอยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ป่าเป็น
วัตร ตนเองเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ฯลฯ ตนเองถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ฯลฯ
ตนเองถือไตรจีวรเป็นวัตร ฯลฯ ตนเองเป็นผู้มักน้อย ฯลฯ ตนเองเป็นผู้สันโดษ
ฯลฯ ตนเองเป็นผู้สงัด ฯลฯ ตนเองเป็นผู้ไม่คลุกคลี ฯลฯ ตนเองเป็นผู้ปรารภ
ความเพียร ฯลฯ ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ฯลฯ ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ
ฯลฯ ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา ฯลฯ ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ ฯลฯ
ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็น
ผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุ
เช่นนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ สารีบุตร กัสสปะเมื่อจะตอบอย่างถูกต้อง
ก็ควรตอบตามนั้น ด้วยว่า กัสสปะนั้น ตนเองอยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญ
คุณแห่งความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ตนเองเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และกล่าว
สรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ตนเองถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ตนเองถือไตรจีวรเป็น
วัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือไตรจีวรเป็นวัตร ตนเองเป็นผู้มักน้อย
และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้มักน้อย ตนเองเป็นผู้สันโดษ และกล่าว
สรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สันโดษ ตนเองเป็นผู้สงัด และกล่าวสรรเสริญคุณแห่ง
ความเป็นผู้สงัด ตนเองเป็นผู้ไม่คลุกคลี และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ไม่
คลุกคลี ตนเองเป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้
ปรารภความเพียร ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความ
เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่ง
ความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา และกล่าวสรรเสริญ
คุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ และกล่าว
สรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ-
ญาณทัสสนะ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ”
{๓๘๐} [๓๔๓] ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อท่านมหากัสสปะ
กล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวกับท่านมหาโมคคัลลานะว่า ‘ท่านโมคคัลลานะ
ท่านมหากัสสปะตอบตามปฏิภาณของตน เราขอถามท่านโมคคัลลานะในข้อนั้นว่า
‘ฯลฯ ท่านโมคคัลลานะ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร’ เมื่อข้าพระ
องค์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านมหาโมคคัลลานะได้ตอบข้าพระองค์ว่า ‘ท่านสารีบุตร
ภิกษุ ๒ รูปในพระธรรมวินัยนี้กล่าวอภิธรรมกถา เธอทั้ง ๒ รูปนั้นถามปัญหากัน
และกัน แล้วย่อมแก้กันเองไม่หยุดพัก และธรรมีกถาของเธอทั้ง ๒ นั้นก็ดำเนินต่อไป
ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ สารีบุตร โมคคัลลานะเมื่อจะตอบอย่าง
ถูกต้องก็ควรตอบตามนั้น ด้วยว่า โมคคัลลานะเป็นธรรมกถึก”
{๓๘๑} [๓๔๔] เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนั้นแล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะ
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หลังจากนั้น ข้าพระองค์ได้
กล่าวกับท่านสารีบุตรว่า ‘ท่านสารีบุตร พวกเราทั้งหมดตอบตามปฏิภาณของตน
บัดนี้ ผมขอถามท่านสารีบุตรในข้อนั้นว่า ‘ป่าโคสิงคสาลวันเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์
ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วทุกต้น กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่าน
สารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร’ เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้
แล้ว ท่านสารีบุตรได้ตอบข้าพระองค์ว่า ‘ท่านโมคคัลลานะ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
ทำจิตให้อยู่ในอำนาจ(ของตน)และไม่ยอมอยู่ในอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่
ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเช้า หวังจะอยู่
ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเที่ยง หวังจะ
อยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเย็น หีบผ้า
ของพระราชาหรือราชมหาอำมาตย์ซึ่งเต็มด้วยผ้าที่ย้อมเป็นสีต่าง ๆ พระราชาหรือ
ราชมหาอำมาตย์นั้น หวังจะห่มผ้าคู่ใดในเวลาเช้า ก็ห่มผ้าคู่นั้นในเวลาเช้า หวังจะ
ห่มผ้าคู่ใดในเวลาเที่ยง ก็ห่มผ้าคู่นั้นในเวลาเที่ยง หวังจะห่มผ้าคู่ใดในเวลาเย็น ก็
ห่มผ้าคู่นั้นในเวลาเย็น แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทำจิตให้อยู่ใน
อำนาจ(ของตน)และไม่ยอมอยู่ในอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใด
ในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเช้า หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดใน
เวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเที่ยง หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใด
ในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเย็น ท่านโมคคัลลานะ ป่าโคสิงค-
สาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ โมคคัลลานะ สารีบุตรเมื่อตอบอย่าง
ถูกต้องก็ควรตอบตามนั้น ด้วยว่า สารีบุตรทำจิตให้อยู่ในอำนาจ(ของตน)และไม่
ยอมอยู่ในอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วย
วิหารสมาบัตินั้นในเวลาเช้า หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วย
วิหารสมาบัตินั้นในเวลาเที่ยง หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วย
วิหารสมาบัตินั้นในเวลาเย็น”
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต