12-176 ทรงแสดงธรรมโปรดภิกษุปัญจวัคคีย์



พระไตรปิฎก


ทรงแสดงธรรมโปรดภิกษุปัญจวัคคีย์
{๓๒๖} [๒๘๖] ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น เราจาริกไปโดยลำดับ ถึงป่าอิสิปตน-
มฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี ได้เข้าไปหาภิกษุปัญจวัคคีย์ถึงที่อยู่ ภิกษุปัญจวัคคีย์
เห็นเราเดินมาแต่ไกล จึงนัดหมายกันและกันว่า ‘อาวุโส พระสมณโคดมนี้ เป็น
ผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก กำลังเสด็จมา
พวกเราไม่พึงกราบไหว้ ไม่พึงลุกรับ ไม่พึงรับบาตรและจีวรของพระองค์ แต่จะจัด
อาสนะไว้ ถ้าพระองค์ปรารถนาก็จักประทับนั่ง’
เราเข้าไปหาภิกษุปัญจวัคคีย์ ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ลืมข้อนัดหมายของตน บางพวก
ต้อนรับเราแล้วรับบาตรและจีวร บางพวกปูลาดอาสนะ บางพวกจัดหาน้ำล้างเท้า
แต่ภิกษุปัญจวัคคีย์เรียกเราโดยออกนามและใช้คำว่า ‘อาวุโส‘ A
เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนั้นแล้ว เราจึงห้ามภิกษุปัญญจวัคคีย์ว่า ‘ภิกษุ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าเรียกตถาคตโดยออกชื่อและใช้คำว่า ‘อาวุโส’ ตถาคต
เป็นอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ เธอทั้งหลายจงเงี่ยโสตสดับ เราจะสั่งสอน
อมตธรรมที่เราได้บรรลุแล้ว จะแสดงธรรม เธอทั้งหลายเมื่อปฏิบัติตามที่เราสั่งสอน
ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่า
กุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนี้แน่แท้’
เมื่อเรากล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้กล่าวกับเราว่า ‘อาวุโสโคดม
แม้ด้วยจริยานั้น ด้วยปฏิปทานั้น ด้วยทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยังมิได้บรรลุ
ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ บัดนี้ พระองค์
เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจักบรรลุ
ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้เล่า’
เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนั้นแล้ว เราจึงได้กล่าวกับภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า
‘ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตไม่ได้เป็นคนมักมาก ไม่ได้คลายความเพียร ไม่ได้เวียนมา
เพื่อความเป็นคนมักมาก ตถาคตเป็นอรหันต์ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ เธอทั้งหลาย
จงเงี่ยโสตสดับ เราจะสั่งสอนอมตธรรมที่เราได้บรรลุแล้ว จะแสดงธรรม เธอทั้งหลาย
เมื่อปฏิบัติตามที่เราสั่งสอน ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็น
ที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ
ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนี้แน่แท้’
แม้ครั้งที่ ๒ ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ได้กล่าวกับเราว่า ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๒ เราก็ได้กล่าวกับภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ได้กล่าวกับเราว่า ‘อาวุโสโคดม แม้ด้วย
จริยานั้น ด้วยปฏิปทานั้น ด้วยทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยังมิได้บรรลุญาณทัสสนะ
ที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้ บัดนี้ พระองค์เป็นผู้มักมาก
คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจักบรรลุญาณทัสสนะที่
ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้เล่า’
เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนั้นแล้ว เราได้กล่าวกับภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า ‘ภิกษุ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายยังจำได้หรือไม่ว่า ถ้อยคำเช่นนี้เราได้เคยกล่าวในกาลก่อนแต่นี้’
ภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวว่า ‘ถ้อยคำเช่นนี้ไม่เคยได้ฟังมาก่อน พระพุทธเจ้าข้า’
เราจึงกล่าวว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ
เธอทั้งหลายจงเงี่ยโสตสดับ เราจะสั่งสอนอมตธรรมที่เราได้บรรลุแล้ว จะแสดงธรรม
เธอทั้งหลายเมื่อปฏิบัติตามที่เราสั่งสอน ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์
ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
โดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนี้แน่แท้’
เราสามารถทำให้ภิกษุปัญจวัคคีย์ยินยอมได้แล้ว เรากล่าวสอนภิกษุ ๒ รูป
ภิกษุ ๓ รูปก็เที่ยวบิณฑบาต เราทั้ง ๖ ฉันบิณฑบาตที่ภิกษุ ๓ รูปนำมา
เรากล่าวสอนภิกษุ ๓ รูป ภิกษุ ๒ รูปก็เที่ยวบิณฑบาต เราทั้ง ๖ ฉันบิณฑบาต
ที่ภิกษุ ๒ รูปนำมา B
ต่อมา ภิกษุปัญจวัคคีย์ที่เราสั่งสอนและพร่ำสอนอยู่อย่างนี้ เป็นผู้มีความเกิด
เป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาด้วยตนแล้ว จึงแสวงหา
นิพพานที่ไม่มีความเกิด อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม ได้บรรลุนิพพาน
ที่ไม่มีความเกิด อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมแล้ว
เป็นผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา
ด้วยตนแล้ว จึงแสวงหานิพพานที่ไม่มีความแก่ อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอด
เยี่ยม ได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความแก่ อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมแล้ว
เป็นผู้มีความเจ็บเป็นธรรมดา ฯลฯ
เป็นผู้มีความตายเป็นธรรมดา ฯลฯ
เป็นผู้มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ฯลฯ
เป็นผู้มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเศร้าหมอง
เป็นธรรมดาด้วยตนแล้ว จึงแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเศร้าหมอง อันเป็นแดน
เกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม ได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความเศร้าหมอง อันเป็นแดน
เกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมแล้ว
อนึ่ง ภิกษุปัญจวัคคีย์เหล่านั้นได้เกิดญาณทัสสนะขึ้นมาว่า ‘วิมุตติของพวกเรา
ไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ภพใหม่ไม่มีอีกต่อไป’
{๓๒๗} [๒๘๗] ภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ ประการนี้
กามคุณ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปที่จะพึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
๒. เสียงที่จะพึงรู้แจ้งทางหู ฯลฯ
๓. กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งทางจมูก ฯลฯ
๔. รสที่จะพึงรู้แจ้งทางลิ้น ฯลฯ
๕. โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
กามคุณมี ๕ ประการนี้
สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งใฝ่ฝัน ลุ่มหลง ติดพัน ไม่เห็นโทษ ไม่มี
ปัญญาเครื่องสลัดออก บริโภคกามคุณ ๕ ประการนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า ‘สมณ-
พราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ถึงความเสื่อม ความพินาศ ถูกมารใจบาปทำอะไร ๆ ได้
ตามใจชอบ’
เชิงอรรถ
A อาวุโส แปลว่า ผู้มีอายุ เดิมใช้เป็นคำเรียกกันเป็นสามัญ คือ ภิกษุผู้แก่กว่าเรียกภิกษุผู้อ่อนกว่าหรือ
ภิกษุผู้อ่อนกว่าเรียกภิกษุผู้แก่กว่าก็ได้ (ที.ม.อ. ๒/๒๑๖/๑๙๙)
B ดูเทียบ ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๒๗-๓๔๒/๓๙๕-๔๑๕

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.