12-171 ทรงมีความขวนขวายน้อย



พระไตรปิฎก


ทรงมีความขวนขวายน้อย
{๓๒๑} [๒๘๑] ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘ธรรม A ที่เราได้บรรลุแล้วนี้
ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรกะ ละเอียด
บัณฑิต(เท่านั้น)จึงจะรู้ได้ ส่วนหมู่ประชาผู้รื่นรมย์ด้วยอาลัย B ยินดีในอาลัย
เพลิดเพลินในอาลัย ฐานะที่หมู่สัตว์ผู้รื่นรมย์ด้วยอาลัย ยินดีในอาลัย เพลิดเพลิน
ในอาลัยนี้ย่อมเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก กล่าวคือหลักอิทัปปัจจยตา หลักปฏิจจสมุปบาท
ถึงแม้ฐานะอันนี้ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ยากนัก กล่าวคือความสงบแห่งสังขารทั้งปวง
ความสลัดทิ้งอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา วิราคะ นิโรธ นิพพาน ก็ถ้าเราจะพึง
แสดงธรรม และผู้อื่นจะไม่เข้าใจซึ้งต่อเรา ข้อนั้นก็จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่า
แก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา’
อนึ่งเล่า คาถาอันน่าอัศจรรย์เหล่านี้ที่ไม่เคยสดับมาก่อน ได้ปรากฏแก่เราว่า
‘บัดนี้ เรายังไม่ควรประกาศธรรมที่เราบรรลุด้วยความลำบาก
เพราะธรรมนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ถูกราคะและโทสะครอบงำจะรู้ได้ง่าย
แต่เป็นสิ่งพาทวนกระแส C ละเอียด ลึกซึ้ง รู้เห็นได้ยาก ประณีต
ผู้กำหนัดด้วยราคะ ถูกกองโมหะหุ้มห่อไว้ จักรู้เห็นไม่ได้’
เชิงอรรถ
A ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๗/๑๑, ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๓๗/๔๐๗
B อาลัย คือกามคุณ ๕ ที่สัตว์พัวพัน ยินดี เพลิดเพลิน (วิ.อ. ๓/๗/๑๓) เป็นชื่อเรียกกิเลส ๒ อย่าง คือ กามคุณ ๕ และตัณหาวิจริต ๑๐๘ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๑/๘๒, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๗/๑๘๔) ดู อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๗๓-๙๗๖/๖๒๒-๖๓๓
C พาทวนกระแส ในที่นี้หมายถึง อนิจฺจํ(ไม่เที่ยง) ทุกฺขํ(เป็นทุกข์) อนตฺตา(เป็นอนัตตา) อสุภํ(ไม่งาม) อันทวนกระแสแห่งธรรมมีความเที่ยง เป็นต้น ในพระวินัยปิฎกหมายถึงพาเข้าถึงนิพพาน (ม.มู.อ.๒/๒๘๑/๘๔, วิ.อ. ๓/๗/๑๔)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.