12-155 รถวินีตสูตร ราชรถ 7 ผลัด



พระไตรปิฎก


๔. รถวินีตสูตร
ว่าด้วยราชรถ ๗ ผลัด
ภิกษุยกย่องพระปุณณมันตานีบุตร

{๒๙๒} [๒๕๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน A
เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ภิกษุผู้มีถิ่นกำเนิดเดียวกันจำนวนมาก จำพรรษาในท้องถิ่น
(ของตน)แล้ว ได้มาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่งอยู่ ณ
ที่สมควร พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปไหนหนอที่ภิกษุเพื่อนพรหมจารีในท้องถิ่นยกย่อง
อย่างนี้ว่า
‘ตนเองเป็นผู้มักน้อย B และกล่าวอัปปิจฉกถา(เรื่องความมักน้อย)แก่ภิกษุทั้งหลาย
ตนเองเป็นผู้สันโดษ C และกล่าวสันตุฏฐิกถา(เรื่องความสันโดษ)แก่ภิกษุทั้งหลาย
ตนเองเป็นผู้สงัด D และกล่าวปวิเวกกถา(เรื่องความสงัด)แก่ภิกษุทั้งหลาย
ตนเองเป็นผู้ไม่คลุกคลี E และกล่าวอสังสัคคกถา(เรื่องความไม่คลุกคลี)แก่ภิกษุ
ทั้งหลาย
ตนเองเป็นผู้ปรารภความเพียร F และกล่าววิริยารัมภกถา(เรื่องการปรารภความ
เพียร)แก่ภิกษุทั้งหลาย
ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล G และกล่าวสีลสัมปทากถา(เรื่องความสมบูรณ์
ด้วยศีล)แก่ภิกษุทั้งหลาย
ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ H และกล่าวสมาธิสัมปทากถา(เรื่องความสมบูรณ์
ด้วยสมาธิ)แก่ภิกษุทั้งหลาย
ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา และกล่าวปัญญาสัมปทากถา(เรื่องความสมบูรณ์
ด้วยปัญญา)แก่ภิกษุทั้งหลาย
ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ และกล่าววิมุตติสัมปทากถา(เรื่องความสมบูรณ์
ด้วยวิมุตติ)แก่ภิกษุทั้งหลาย
ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ และกล่าววิมุตติญานทัสสนสัมปทา-
กถา(เรื่องความสมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ)แก่ภิกษุทั้งหลาย
เป็นผู้ให้โอวาท แนะนำ ชี้แจงให้เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายเห็นชัด ชวนใจให้
อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง”
ภิกษุท้องถิ่นเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระปุณณ-
มันตานีบุตรเป็นผู้ที่พวกภิกษุเพื่อนพรหมจารีท้องถิ่นยกย่องอย่างนี้ว่า
ตนเองเป็นผู้มักน้อย และกล่าวอัปปิจฉกถาแก่ภิกษุทั้งหลาย
ตนเองเป็นผู้สันโดษ …
ตนเองเป็นผู้สงัด …
ตนเองเป็นผู้ไม่คลุกคลี …
ตนเองเป็นผู้ปรารภความเพียร …
ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล …
ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ …
ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา …
ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ …
ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ และกล่าววิมุตติญาณทัสสน-
สัมปทากถาแก่ภิกษุทั้งหลาย
เป็นผู้ให้โอวาท แนะนำ ชี้แจงให้เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายเห็นชัด ชวนใจให้
อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง”
{๒๙๓} [๒๕๓] ขณะนั้น ท่านพระสารีบุตรได้นั่งเฝ้าพระผู้มีพระภาคอยู่ ณ ที่ใกล้
ได้มีความคิดว่า “เป็นลาภของท่านพระปุณณมันตานีบุตร ท่านพระปุณณมันตานี-
บุตรได้ดีแล้ว ที่พวกภิกษุเพื่อนพรหมจารีผู้เป็นวิญญูชนเลือกเฟ้น กล่าวยกย่อง
พรรณนาคุณเฉพาะพระพักตร์ของพระศาสดา และพระศาสดาก็ทรงอนุโมทนาการ
กระทำนั้น บางทีเราคงได้พบกับท่านพระปุณณมันตานีบุตรแล้ว สนทนาปราศรัย
กันสักครั้งหนึ่ง”
{๒๙๔} [๒๕๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กรุงราชคฤห์ตามพระอัธยาศัย
แล้วจึงเสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงกรุงสาวัตถี ประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ท่านพระปุณณมันตานีบุตรทราบข่าวว่า
“ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึงกรุงสาวัตถี แล้วประทับอยู่ ณ พระเชตวัน
อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี”
เชิงอรรถ
A กลันทกนิวาปสถาน หมายถึงเป็นสถานที่สำหรับพระราชทานเหยื่อแก่กระแต (ม.มู.อ. ๒/๒๕๒/๔๑-๔๒)
B เป็นผู้มักน้อย หมายถึงความมักน้อย ๔ ประการ คือ
(๑) เป็นผู้มักน้อยในปัจจัย ๔
(๒) เป็นผู้มักน้อยใน ธุดงค์ ได้แก่ ไม่ประสงค์ให้ผู้อื่นรู้ความที่ตนสมาทานธุดงค์
(๓) เป็นผู้มักน้อยในการเล่าเรียน ได้แก่ ไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นรู้ความที่ตนเป็นพหูสูต
(๔) เป็นผู้มักน้อยในการบรรลุธรรม ได้แก่ ไม่ปรารถนาให้ ผู้อื่นรู้ความที่ตนเป็นพระโสดาบัน เป็นต้น (ม.มู.อ. ๒/๑๕๒/๔๗-๘)
C เป็นผู้สันโดษ หมายถึงความสันโดษ ๓ ประการ คือ
(๑) ยถาลาภสันโดษ เป็นผู้สันโดษตามมีตามได้ ทั้งดีและไม่ดี
(๒) ยถาพลสันโดษ เป็นผู้สันโดษตามกำลังทั้งกำลังของตนและของทายก
(๓) ยถาสารุปปสันโดษ เป็นผู้สันโดษตามสมควรแก่สมณภาวะ
สันโดษ ๓ ประการ ในปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร จึงเป็น
สันโดษ ๑๒ (ม.มู.อ. ๒/๒๕๒/๔๘-๕๐)
D เป็นผู้สงัด หมายถึงมีวิเวก ๓ ประการ คือ
(๑) กายวิเวก สงัดกาย ได้แก่ อยู่ผู้เดียวทุกอิริยาบถ
(๒) จิตตวิเวก ได้แก่ ได้สมาบัติ ๘
(๓) อุปธิวิเวก ได้แก่ บรรลุนิพพาน (ม.มู.อ. ๒/๒๕๒/๕๐)
E เป็นผู้ไม่คลุกคลี หมายถึงไม่คลุกคลีด้วยการคลุกคลี ๕ ประการ คือ
(๑) การคลุกคลีด้วยการฟัง
(๒) การคลุกคลีด้วยการเห็น
(๓) การคลุกคลีด้วยการสนทนาปราศรัย
(๔) การคลุกคลีด้วยการอยู่ร่วมกัน
(๕) การคลุกคลีทางกาย (ม.มู.อ. ๒/๒๕๒/๕๑)
F เป็นผู้ปรารภความเพียร หมายถึงการทำความเพียรทางกายและทางจิตให้บริบูรณ์ (ม.มู.อ. ๒/๒๕๒/๕๔)
G เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล คำว่า ศีล ในที่นี้หมายถึงปาริสุทธิศีล ๔ ประการ [คือ
(๑) ศีลคือการสังวรในพระปาติโมกข์
(๒) ศีลคือการสำรวมอินทรีย์ ๖
(๓) ศีลคือการพิจารณาใช้สอยปัจจัย ๔
(๔) ศีลคือการเลี้ยงชีวิตด้วยความบริสุทธิ์] (ม.มู.อ. ๒/๒๕๒/๕๔)
H เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ คำว่า สมาธิ ในที่นี้หมายถึงสมาบัติ ๘ คือ รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔
อันเป็นบาทแห่งวิปัสสนา (ม.มู.อ. ๒/๒๕๒/๕๔)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.