12-154 พระผู้มีพระภาคทรงเฉลยปริศนาธรรม



พระไตรปิฎก


พระผู้มีพระภาคทรงเฉลยปริศนาธรรม
{๒๙๑} [๒๕๑] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ
๑. คำว่า จอมปลวก นั้น เป็นชื่อของร่างกายนี้ ซึ่งประกอบด้วย
มหาภูตรูปทั้ง ๔ มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เติบโตด้วยข้าวสุก
และขนมกุมมาส ไม่เที่ยง ต้องบริหาร ต้องนวดฟั้น จะต้องแตก
สลาย และกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา
๒. คำว่า อย่างไร ชื่อว่าการพ่นควันในเวลากลางคืน นั้น ได้แก่
การที่บุคคลทำการงานในเวลากลางวัน แล้วตรึกตรองถึงในเวลา
กลางคืน นี้ชื่อว่าการพ่นควันในเวลากลางคืน
๓. คำว่า อย่างไร ชื่อว่าการลุกโพลงในเวลากลางวัน นั้น ได้แก่
การที่บุคคลตรึกตรองถึงบ่อย ๆ ในเวลากลางคืน แล้วประกอบ
การงานในเวลากลางวัน ด้วยกายและวาจา นี้ชื่อว่าการลุกโพลงใน
เวลากลางวัน
๔. คำว่า พราหมณ์ นั้น เป็นชื่อของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
๕. คำว่า สุเมธ นั้น เป็นชื่อของภิกษุผู้เป็นเสขะ
๖. คำว่า ศัสตรา นั้น เป็นชื่อแห่งปัญญาอันประเสริฐ
๗. คำว่า จงขุด นั้น เป็นชื่อของการปรารภความเพียร
๘. คำว่า ลิ่มสลัก นั้น เป็นชื่อแห่งอวิชชา คำนั้นมีอธิบายว่า ‘สุเมธ
เธอจงใช้ศัสตรายกลิ่มสลักขึ้น คือ จงละอวิชชา จงขุดขึ้นมา’
๙. คำว่า อึ่ง นั้น เป็นชื่อของความคับแค้นใจเนื่องมาจากความโกรธ
คำนั้นมีอธิบายว่า ‘สุเมธ เธอจงใช้ศัสตรานำอึ่งขึ้นมา คือ จงละ
ความคับแค้นใจเนื่องมาจากความโกรธ จงขุดขึ้นมา’
๑๐. คำว่า ทางสองแพร่ง นั้น เป็นชื่อแห่งวิจิกิจฉา คำนั้นมีอธิบายว่า
‘สุเมธ เธอจงใช้ศัสตราถากทางสองแพร่ง คือ จงละวิจิกิจฉา จง
ขุดขึ้นมา’
๑๑. คำว่า หม้อกรองน้ำด่าง นั้น เป็นชื่อแห่งนิวรณ์ ๕ ประการ คือ
กามฉันทนิวรณ์
(สิ่งที่กั้นจิตคือความพอใจในกาม)
พยาบาทนิวรณ์
(สิ่งที่กั้นจิตคือความขัดเคืองใจ)
ถีนมิทธนิวรณ์
(สิ่งที่กั้นจิตคือความหดหู่และเซื่องซึม)
อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์
(สิ่งที่กั้นจิตคือความฟุ้งซ่านและร้อนใจ)
วิจิกิจฉานิวรณ์
(สิ่งที่กั้นจิตคือความลังเลสงสัย)
คำนั้นมีอธิบายว่า ‘สุเมธ เธอจงใช้ศัสตรายกหม้อกรองน้ำด่างขึ้นมา คือ
จงละนิวรณ์ ๕ ประการ จงขุดขึ้นมา’
๑๒. คำว่า เต่า นั้น เป็นชื่อแห่งอุปาทานขันธ์ A ๕ ประการ คือ
รูปูปาทานขันธ์
(อุปาทานขันธ์คือรูป)
เวทนูปาทานขันธ์
(อุปาทานขันธ์คือเวทนา)
สัญญูปาทานขันธ์
(อุปาทานขันธ์คือสัญญา)
สังขารูปาทานขันธ์
(อุปาทานขันธ์คือสังขาร)
วิญญาณูปาทานขันธ์
(อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ)
คำนั้นมีอธิบายว่า ‘สุเมธ เธอจงใช้ศัสตรานำเต่าขึ้นมา คือ จงละ
อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ จงขุดขึ้นมา’
๑๓. คำว่า เขียงหั่นเนื้อ นั้น เป็นชื่อแห่งกามคุณ ๕ ประการ คือ
รูปที่จะพึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
เสียงที่จะพึงรู้แจ้งทางหู ฯลฯ
กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งทางจมูก ฯลฯ
รสที่จะพึงรู้แจ้งทางลิ้น ฯลฯ
โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
คำนั้นมีอธิบายว่า ‘สุเมธ เธอจงใช้ศัสตรายกเขียงหั่นเนื้อขึ้นมา คือ
จงละกามคุณ ๕ ประการ จงขุดขึ้นมา’
๑๔. คำว่า ชิ้นเนื้อ นั้น เป็นชื่อแห่งนันทิราคะ(ความกำหนัดด้วยอำนาจ
ความเพลิดเพลิน) คำนั้นมีอธิบายว่า ‘สุเมธ เธอจงใช้ศัสตราหยิบ
ชิ้นเนื้อขึ้นมา คือ จงละนันทิราคะ จงขุดขึ้นมา’
๑๕. คำว่า นาค นั้น เป็นชื่อของภิกษุผู้เป็นขีณาสพ คำนั้นมีอธิบายว่า
‘นาคจงดำรงอยู่เถิด เธออย่าเบียดเบียนนาคเลย เธอจงทำความ
นอบน้อมนาค”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระกุมารกัสสปะมีใจยินดีชื่นชม
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
วัมมิกสูตรที่ ๓ จบ
เชิงอรรถ
A ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๙๑ (สัมมาทิฏฐิสูตร) หน้า ๘๖ ในเล่มนี้

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.