12-147 ความสะดุ้งและความไม่สะดุ้ง
พระไตรปิฎก
ความสะดุ้งและความไม่สะดุ้ง
{๒๘๒} [๒๔๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้
มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อไม่มีสิ่งภายนอก ความสะดุ้งจะพึงมีได้
หรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พึงมีได้ ภิกษุ บุคคลบางคนในโลกนี้มีความคิด
อย่างนี้ว่า ‘เราเคยมีสิ่งใด บัดนี้เราไม่มีสิ่งนั้น เราควรมีสิ่งใด เราก็ไม่ได้สิ่งนั้น’
บุคคลนั้นย่อมเศร้าโศก ละเหี่ยใจ พิไรรำพัน ร้องไห้สะอึกสะอื้น ถึงความมืดมน
เมื่อไม่มีสิ่งภายนอก ความสะดุ้งย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้”
“เมื่อไม่มีสิ่งภายนอก ความไม่สะดุ้งจะพึงมีได้หรือ พระพุทธเจ้าข้า”
“พึงมีได้ ภิกษุ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราเคยมีสิ่งใด
บัดนี้เราไม่มีสิ่งนั้น เราควรมีสิ่งใด เราก็ไม่ได้สิ่งนั้น’ บุคคลนั้นย่อมไม่เศร้าโศก
ไม่ละเหี่ยใจ ไม่พิไรรำพัน ไม่ร้องไห้สะอึกสะอื้น ไม่ถึงความมืดมน เมื่อไม่มีสิ่ง
ภายนอก ความไม่สะดุ้งย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้”
“เมื่อไม่มีสิ่งภายใน ความสะดุ้งจะพึงมีได้หรือ พระพุทธเจ้าข้า”
“พึงมีได้ ภิกษุ บุคคลบางคนในโลกนี้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘นั้นโลก นั้นอัตตา
เรานั้นตายแล้วจักเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงที่ ไม่มีความแปรผันเป็นธรรมดา จักดำรง
อยู่เทียบเท่าสิ่งคงที่อย่างนั้น’ ย่อมได้ยินตถาคตหรือสาวกของตถาคตแสดงธรรม
เพื่อถอนทิฏฐิ ทิฏฐิฏฐาน ความตั้งมั่นแห่งทิฏฐิ ความกลุ้มรุมแห่งทิฏฐิ ความยึดมั่น
และอนุสัยกิเลสทั้งปวง เพื่อระงับสังขารทั้งปวง เพื่อสลัดทิ้งอุปธิทั้งปวง เพื่อความ
สิ้นตัณหา เพื่อคลายความกำหนัด เพื่อความดับสนิท และเพื่อนิพพาน เขามี
ความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราจักขาดสูญแน่แท้ จักพินาศแน่แท้ จักไม่มีแน่แท้’ บุคคล
นั้นย่อมเศร้าโศก ละเหี่ยใจ พิไรรำพัน ร้องไห้สะอึกสะอื้น ถึงความมืดมน เมื่อ
ไม่มีสิ่งภายใน ความสะดุ้งย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้”
ภิกษุนั้นทูลถามว่า “เมื่อไม่มีสิ่งภายใน ความไม่สะดุ้งจะพึงมีได้หรือ
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พึงมีได้ ภิกษุ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่มี
ความคิดอย่างนี้ว่า ‘นั้นโลก นั้นอัตตา เรานั้นตายแล้วจักเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงที่
ไม่มีความแปรผันเป็นธรรมดา จักดำรงอยู่เทียบเท่าสิ่งคงที่อย่างนั้น’ ย่อมได้ยิน
ตถาคตหรือสาวกของตถาคตแสดงธรรม เพื่อถอนทิฏฐิ ทิฏฐิฏฐาน ความตั้งมั่น
แห่งทิฏฐิ ความกลุ้มรุมแห่งทิฏฐิ ความยึดมั่น และอนุสัยกิเลสทั้งปวง เพื่อระงับ
สังขารทั้งปวง เพื่อสลัดทิ้งอุปธิทั้งปวง เพื่อความสิ้นตัณหา เพื่อคลายความกำหนัด
เพื่อความดับสนิท และเพื่อนิพพาน เขาไม่มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราจักขาดสูญ
แน่แท้ จักพินาศแน่แท้ จักไม่มีแน่แท้’ บุคคลนั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ละเหี่ยใจ
ไม่พิไรรำพัน ไม่ร้องไห้สะอึกสะอื้น ไม่ถึงความมืดมน เมื่อไม่มีสิ่งภายใน ความไม่
สะดุ้งย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้
{๒๘๓} [๒๔๓] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะพึงหวงแหนสิ่งที่ควรหวงแหนซึ่งเป็น
ของเที่ยง ยั่งยืน คงที่ ไม่มีความแปรผันเป็นธรรมดา พึงดำรงอยู่เทียบเท่าสิ่งคงที่
อย่างนั้น เธอทั้งหลายเห็นสิ่งที่ควรหวงแหนซึ่งเป็นของเที่ยง ยั่งยืน คงที่ ไม่มี
ความแปรผันเป็นธรรมดา พึงดำรงอยู่เทียบเท่าสิ่งคงที่อย่างนั้นหรือไม่”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่เห็นอย่างนั้นเลย
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ เราก็ยังไม่พิจารณาเห็นสิ่งที่ควรหวงแหนซึ่ง
เป็นของเที่ยง ยั่งยืน คงที่ ไม่มีความแปรผันเป็นธรรมดา พึงดำรงอยู่เทียบเท่า
สิ่งคงที่อย่างนั้น
เธอทั้งหลายจะพึงเข้าไปยึดถืออัตตวาทุปาทาน A ซึ่งเมื่อบุคคลยึดมั่นอยู่ โสกะ
(ความเศร้าโศก) ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ) ทุกข์(ความทุกข์กาย) โทมนัส
(ความทุกข์ใจ) และอุปายาส(ความคับแค้นใจ) จะไม่พึงเกิดขึ้น เธอทั้งหลายเห็น
อัตตวาทุปาทานซึ่งเมื่อบุคคลยึดมั่นอยู่ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
จะไม่พึงเกิดขึ้นหรือไม่”
“ไม่เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
“ดีละ ถึงเราก็ยังไม่พิจารณาเห็นอัตตวาทุปาทานซึ่งเมื่อบุคคลยึดมั่นอยู่ โสกะ
ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจะไม่พึงเกิดขึ้น
เธอทั้งหลายจะพึงอาศัยทิฏฐินิสสัย B ซึ่งเมื่อบุคคลอาศัยอยู่ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจะไม่พึงเกิดขึ้น เธอทั้งหลายเห็นทิฏฐินิสสัยซึ่งเมื่อ
บุคคลอาศัยอยู่ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจะไม่พึงเกิดขึ้นหรือไม่”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ดีละ แม้เราก็ยังไม่พิจารณาเห็น
ทิฏฐินิสสัยซึ่งเมื่อบุคคลอาศัยอยู่ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
จะไม่พึงเกิดขึ้น”
เชิงอรรถ
A อัตตวาทุปาทาน หมายถึงสักกายทิฏฐิ ๒๐ ประการ (ม.มู.อ. ๒/๒๔๓/๑๙)
B ทิฏฐินิสสัย หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ ประการ (ม.มู.อ. ๒/๒๔๓/๑๙)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต