12-140 อลคัททูปมสูตร อุปมาด้วยอสรพิษ



พระไตรปิฎก


๒. อลคัททูปมสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยอสรพิษ

{๒๗๔} [๒๓๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
A สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ทิฏฐิชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นแก่ภิกษุชื่ออริฏฐะ
ผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้ง B ว่า “เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงแล้ว จนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นธรรมก่ออันตราย C
ก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่” D
ภิกษุหลายรูปได้ทราบข่าวว่า “ทิฏฐิชั่วเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแก่อริฏฐภิกษุผู้มี
บรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว
จนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นธรรมก่ออันตราย ก็หา
สามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่” ครั้นแล้วภิกษุเหล่านั้นจึงเข้าไปหา
อริฏฐภิกษุผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าวกับอริฏฐภิกษุผู้มี
บรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งดังนี้ว่า “ท่านอริฏฐะ ได้ทราบว่า ทิฏฐิชั่วเช่นนี้ได้
เกิดขึ้นแก่ท่านว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว จนกระทั่งว่า
ธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นธรรมก่ออันตราย ก็หาสามารถก่อ
อันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่’ จริงหรือ”
อริฏฐภิกษุผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งกล่าวว่า “เหมือนจะเป็นอย่างนั้น
ท่านทั้งหลาย เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว จนกระทั่งว่าธรรม
ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นธรรมก่ออันตราย ก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้
ซ่องเสพได้จริงไม่”
ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นปรารถนาจะปลดเปลื้องอริฏฐภิกษุผู้มีบรรพบุรุษเป็น
พรานฆ่านกแร้งจากทิฏฐิชั่วนี้ จึงซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนด้วยคำพูดว่า “ท่านอริฏฐะ
ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนี้ อย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาค
ไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสอย่างนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสธรรมที่ก่ออันตรายว่าเป็นธรรมก่ออันตรายไว้โดยประการ
ต่าง ๆ และธรรมเหล่านั้นก็สามารถก่ออันตรายให้แก่ผู้ซ่องเสพได้จริง
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
‘กามทั้งหลาย E มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนร่างโครงกระดูก มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก
มีโทษยิ่งใหญ่
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ ฯลฯ
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนคบเพลิงหญ้า ฯลฯ
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ฯลฯ
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนความฝัน ฯลฯ
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนของที่ขอยืมมา ฯลฯ
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนผลไม้คาต้น F ฯลฯ
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนเขียงหั่นเนื้อ ฯลฯ
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนหอกหลาว ฯลฯ
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนหัวงู มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่”
อริฏฐภิกษุถูกภิกษุเหล่านั้น ซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนอยู่อย่างนี้ แต่ก็ยังกล่าว
ด้วยความยึดมั่นถือมั่นทิฏฐิชั่วนั้นอยู่อย่างนั้นว่า “เหมือนจะเป็นอย่างนั้น ท่าน
ทั้งหลาย เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว จนกระทั่งว่าธรรมตาม
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นธรรมก่ออันตราย ก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่อง
เสพได้จริงไม่”
เชิงอรรถ
A ดูเทียบ วิ.มหา. (แปล) ๒/๔๑๗/๕๒๕-๕๒๘, วิ.จู. (แปล) ๖/๖๕/๑๓๑
B คทฺธาธิปุพฺโพ ผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้ง อรรถกถาอธิบายว่า คทฺเธ พาธยึสูติ คทฺธพาธิโน, คทฺธพาธิโน ปุพฺพปุริสา อสฺสาติ คทฺธพาธิปุพฺโพ. … คิชฺฌฆาฏกกุลปฺปสูตสฺส (พรานฆ่านกแร้งเป็นบรรพบุรุษ ของเขา เหตุนั้น เขาจึงชื่อว่าเป็นผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้ง) หมายความว่า เป็นคนเกิดในตระกูล พรานฆ่านกแร้ง (วิ.อ. ๒/๔๑๗/๔๑๘)
C ธรรมก่ออันตราย หมายถึงธรรมก่ออันตราย ๕ อย่าง คือ
(๑) กรรม ได้แก่ อนันตริยกรรม ๕
(๒) กิเลส ได้แก่ นิยตมิจฉาทิฏฐิ
(๓) วิบาก ได้แก่ การเกิดเป็นบัณเฑาะก์ สัตว์ดิรัจฉาน และสัตว์ ๒ เพศ
(๔)อริยุปวาท ได้แก่ การว่าร้ายพระอริยเจ้า
(๕) อาณาวีติกกมะ ได้แก่ อาบัติ ๗ กองที่ภิกษุจงใจล่วงละเมิด (ม.มู.อ. ๒/๒๓๔/๙)
D พระอริฏฐะ รูปนี้เป็นพหูสูต เป็นธรรมกถึก รู้แต่อันตรายิกธรรมบางส่วน แต่ไม่รู้เรื่องอันตรายิกธรรมแห่ง การล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติ เพราะเหตุที่ท่านไม่ฉลาดเรื่องวินัย ดังนั้น ท่านจึงเกิดความคิดอย่างนี้ว่า “พวกคฤหัสถ์ที่ยุ่งเกี่ยวอยู่กับกามคุณ ที่เป็นโสดาบันก็มี เป็นสกทาคามีก็มี เป็นอนาคามีก็มี แม้พวก ภิกษุก็ยังเห็นรูปที่น่าชอบใจที่จะพึงรู้ด้วยจักษุ ฯลฯ ยังถูกต้องสิ่งสัมผัสที่จะพึงรู้ด้วยกาย ยังใช้สอยผ้าปู ผ้าห่มอ่อนนุ่ม สิ่งนั้นทั้งหมดยังถือว่าควร เพราะเหตุไร รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสของหญิงจึงจะไม่ควร สิ่งเหล่านั้นต้องควรแน่นอน” ครั้นเกิดทิฏฐิชั่วขึ้นมาแล้ว ก็โต้แย้งพระสัพพัญญุตญาณคัดค้านเวสารัชชญาณใส่ตอและหนามในอริยมรรคว่า “ไฉนพระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติ ปฐมปาราชิกอย่างกวดขัน ประดุจกั้นมหาสมุทร ในข้อนี้ไม่มีโทษ” ประหารอาณาจักรของพระชินเจ้าด้วยกล่าวว่า “เมถุนธรรม ไม่มีโทษ” (วิ.อ. ๒/๔๑๗/๔๑๘-๔๑๙, ม.มู.อ. ๒/๒๓๔/๙-๑๐)
E ดูเทียบ วิ.มหา. (แปล) ๒/๔๑๗/๕๒๖-๕๒๗, องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๗๖/๑๓๔, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๓/๗-๘,ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๔๗/๔๖๙-๔๗๐
F ผลไม้คาต้น หมายถึงกามทั้งหลาย เปรียบเหมือนผลไม้มีพิษ เพราะบั่นทอนร่างกาย [วิสรุกฺขผลูปมา สพฺพงฺคปจฺจงฺคปลิภญฺชนฏฺเฐน] (ม.มู.อ. ๒/๒๓๔/๑๐) อีกนัยหนึ่ง คนที่ต้องการผลไม้ เที่ยวแสวงหาผลไม้ เมื่อพบต้นไม้ผลดกจึงปีนขึ้นไปเก็บกิน เก็บใส่ห่อ อีกคนหนึ่งก็ต้องการผลไม้เช่นกัน เที่ยวแสวงหา พบเห็นต้นไม้ผลดกต้นเดียวกันนั้น แต่แทนที่จะปีนขึ้นไป เก็บผลไม้กิน กลับเอาขวานตัดต้นไม้ผลดกนั้นในขณะที่คนแรกยังอยู่บนต้นไม้ อันตรายจึงเกิดขึ้นแก่เขา (ดู. ม.ม. (แปล) ๑๓/๔๘/๔๕-๔๖)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.