12-112 เจโตขีลสูตร กิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู



พระไตรปิฎก


๖. เจโตขีลสูตร A
ว่าด้วยกิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู
{๒๒๖} [๑๘๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
{๒๒๗} “ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปไม่ได้เลยที่กิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู ๕ ประการ
ที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งยังละไม่ได้ กิเลสเครื่องผูกใจ ๕ ประการ ที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
ยังตัดไม่ขาด เธอจักถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้
{๒๒๘} กิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู ๕ ประการ ที่ภิกษุนั้นยังละไม่ได้ อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เคลือบแคลง สงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในศาสดา B จิตของ
ภิกษุผู้เคลือบแคลง สงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในศาสดานั้น
ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำ
ต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นกิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู
ประการที่ ๑ ที่ภิกษุผู้มีจิตไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อ
ประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ยังละไม่ได้
๒. เคลือบแคลง สงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในธรรม ฯลฯ
นี้เป็นกิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปูประการที่ ๒ ที่ภิกษุผู้มีจิตไม่
น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง
เพื่อบำเพ็ญเพียร ยังละไม่ได้
๓. เคลือบแคลง สงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในสงฆ์ ฯลฯ นี้
เป็นกิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปูประการที่ ๓ ที่ภิกษุผู้มีจิตไม่น้อม
ไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง
เพื่อบำเพ็ญเพียร ยังละไม่ได้
๔. เคลือบแคลง สงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในสิกขา(ข้อที่จะ
ต้องศึกษา) ฯลฯ นี้เป็นกิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปูประการที่ ๔
ที่ภิกษุผู้มีจิตไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อ
กระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ยังละไม่ได้
๕. เป็นผู้โกรธ ไม่พอใจ มีจิตถูกโทสะ(ความคิดประทุษร้าย)กระทบ
มีจิตแข็งกระด้างในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย จิตของภิกษุผู้โกรธ
ไม่พอใจ มีจิตถูกโทสะกระทบ มีจิตแข็งกระด้างในเพื่อนพรหมจารี
ทั้งหลายนั้น ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ
เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นกิเลสเครื่องตรึงจิต
ดุจตะปูประการที่ ๕ ที่ภิกษุผู้มีจิตไม่น้อมไปเพื่อความเพียร
เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ยังละ
ไม่ได้
เหล่านี้ เป็นกิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู ๕ ประการ ที่ภิกษุนั้นยังละไม่ได้
{๒๒๙} [๑๘๖] กิเลสเครื่องผูกใจ ๕ ประการ ที่ภิกษุนั้นยังตัดไม่ขาด อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ไม่ปราศจากความพอใจ ไม่
ปราศจากความรัก ไม่ปราศจากความกระหาย ไม่ปราศจาก
ความเร่าร้อน ไม่ปราศจากความทะยานอยากในกาม จิตของ
ภิกษุผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ไม่ปราศจากความพอใจ ไม่
ปราศจากความรัก ไม่ปราศจากความกระหาย ไม่ปราศจาก
ความเร่าร้อน ไม่ปราศจากความทะยานอยากในกามนั้น ย่อม
ไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อ
เนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นกิเลสเครื่องผูกใจประการที่ ๑ ที่
ภิกษุผู้มีจิตไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อ
กระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ยังตัดไม่ขาด
๒. เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัดในกาย ฯลฯ นี้เป็นกิเลส
เครื่องผูกใจประการที่ ๒ ที่ภิกษุผู้มีจิตไม่น้อมไปเพื่อความเพียร
เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ยังตัด
ไม่ขาด
๓. เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัดในรูป ฯลฯ นี้เป็นกิเลสเครื่อง
ผูกใจประการที่ ๓ ที่ภิกษุผู้มีจิตไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อ
ประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ยังตัด
ไม่ขาด
๔. ฉันอาหารตามความต้องการจนอิ่มเกินไป ประกอบความสุขใน
การนอน ความสุขในการนอนเอกเขนก ความสุขในการหลับอยู่
ฯลฯ นี้เป็นกิเลสเครื่องผูกใจประการที่ ๔ ที่ภิกษุผู้มีจิตไม่น้อม
ไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง
เพื่อบำเพ็ญเพียร ยังตัดไม่ขาด
๕. ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยความปรารถนาเป็นเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง
ว่า ‘ด้วยศีล วัตร ตบะ หรือพรหมจรรย์นี้ เราจักเป็นเทพหรือ
เทพตนใดตนหนึ่ง’ จิตของภิกษุผู้ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยความ
ปรารถนาเป็นเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่งว่า ‘ด้วยศีล วัตร ตบะ หรือ
พรหมจรรย์นี้ เราจักเป็นเทพหรือเทพตนใดตนหนึ่ง’ ย่อมไม่น้อม
ไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อ
บำเพ็ญเพียร นี้เป็นกิเลสเครื่องผูกใจประการที่ ๕ ที่ภิกษุผู้มีจิต
ไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง
เพื่อบำเพ็ญเพียร ยังตัดไม่ขาด
เหล่านี้ เป็นกิเลสเครื่องผูกใจ ๕ ประการ ที่ภิกษุนั้นยังตัดไม่ขาด
ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปไม่ได้เลยที่กิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู ๕ ประการนี้
ที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งยังละไม่ได้ กิเลสเครื่องผูกใจ ๕ ประการนี้ ที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
ยังตัดไม่ขาด เธอจักถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้
{๒๓๐} [๑๘๗] ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปได้ที่กิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู ๕ ประการ
ที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งละได้แล้ว กิเลสเครื่องผูกใจ ๕ ประการ ที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
ตัดขาดแล้ว เธอจักถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้
{๒๓๑} กิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู ๕ ประการ ที่ภิกษุนั้นละได้แล้ว อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. ไม่เคลือบแคลงสงสัย น้อมใจเชื่อ เลื่อมใสในศาสดา จิตของ
ภิกษุผู้ไม่เคลือบแคลงสงสัย น้อมใจเชื่อ เลื่อมใสในศาสดานั้น
ย่อมน้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำ
ต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นกิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู
ประการที่ ๑ ที่ภิกษุผู้มีจิตน้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบ
เนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ละได้แล้ว
๒. ไม่เคลือบแคลงสงสัย น้อมใจเชื่อ เลื่อมใสในธรรม ฯลฯ นี้เป็น
กิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปูประการที่ ๒ ที่ภิกษุผู้มีจิตน้อมไปเพื่อ
ความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อ
บำเพ็ญเพียร ละได้แล้ว
๓. ไม่เคลือบแคลงสงสัย น้อมใจเชื่อ เลื่อมใสในสงฆ์ ฯลฯ นี้เป็น
กิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปูประการที่ ๓ ที่ภิกษุผู้มีจิตน้อมไปเพื่อ
ความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อ
บำเพ็ญเพียร ละได้แล้ว
๔. ไม่เคลือบแคลงสงสัย น้อมใจเชื่อ เลื่อมใสในสิกขา ฯลฯ นี้เป็น
กิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปูประการที่ ๔ ที่ภิกษุผู้มีจิตน้อมไปเพื่อ
ความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อ
บำเพ็ญเพียร ละได้แล้ว
๕. เป็นผู้ไม่โกรธ พอใจ มีจิตไม่ถูกโทสะกระทบ มีจิตไม่แข็งกระด้าง
ในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย จิตของภิกษุผู้ไม่โกรธ พอใจ มีจิต
ไม่ถูกโทสะกระทบ มีจิตไม่แข็งกระด้างในเพื่อนพรหมจารี
ทั้งหลายนั้น ย่อมน้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ
เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นกิเลสเครื่องตรึงจิต
ดุจตะปูประการที่ ๕ ที่ภิกษุผู้มีจิตน้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อ
ประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ละได้แล้ว
เหล่านี้ เป็นกิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู ๕ ประการ ที่ภิกษุนั้นละได้แล้ว
{๒๓๒} [๑๘๘] กิเลสเครื่องผูกใจ ๕ ประการ ที่ภิกษุนั้นตัดขาดแล้ว อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ปราศจากความกำหนัด ปราศจากความพอใจ ปราศจาก
ความรัก ปราศจากความกระหาย ปราศจากความเร่าร้อน
ปราศจากความทะยานอยากในกาม จิตของภิกษุผู้ปราศจากความ
กำหนัด ปราศจากความพอใจ ปราศจากความรัก ปราศจากความ
กระหาย ปราศจากความเร่าร้อน ปราศจากความทะยาน
อยากในกาม ย่อมน้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ
เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นกิเลสเครื่องผูกใจ
ประการที่ ๑ ที่ภิกษุผู้มีจิตน้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบ
เนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ตัดขาดแล้ว
๒. เป็นผู้ปราศจากความกำหนัดในกาย ฯลฯ นี้เป็นกิเลสเครื่องผูกใจ
ประการที่ ๒ ที่ภิกษุผู้มีจิตน้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบ
เนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ตัดขาดแล้ว
๓. เป็นผู้ปราศจากความกำหนัดในรูป ฯลฯ นี้เป็นกิเลสเครื่องผูกใจ
ประการที่ ๓ ที่ภิกษุผู้มีจิตน้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบ
เนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ตัดขาดแล้ว
๔. ฉันอาหารตามต้องการจนอิ่มแล้ว ไม่ประกอบความสุขในการนอน
ความสุขในการนอนเอกเขนก ความสุขในการหลับอยู่ ฯลฯ นี้เป็น
กิเลสเครื่องผูกใจประการที่ ๔ ที่ภิกษุผู้มีจิตน้อมไปเพื่อความเพียร
เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ตัดขาดแล้ว
๕. ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยความปรารถนาเป็นเทพนิกายหมู่ใด
หมู่หนึ่งว่า ‘ด้วยศีล วัตร ตบะ หรือพรหมจรรย์นี้ เราจักเป็น
เทพหรือเทพตนใดตนหนึ่ง’ จิตของภิกษุผู้ไม่ประพฤติพรหมจรรย์
ด้วยความปรารถนาเป็นเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่งว่า ‘ด้วยศีล วัตร
ตบะ หรือพรหมจรรย์นี้ เราจักเป็นเทพหรือเทพตนใดตนหนึ่ง’
ย่อมน้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำ
ต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นกิเลสเครื่องผูกใจประการที่ ๕
ที่ภิกษุผู้น้อมจิตไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อ
กระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ตัดขาดแล้ว
เหล่านี้ เป็นกิเลสเครื่องผูกใจ ๕ ประการ ที่ภิกษุนั้นตัดขาดแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปได้ที่กิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู ๕ ประการนี้ ที่ภิกษุ
รูปใดรูปหนึ่งละได้แล้ว กิเลสเครื่องผูกใจ ๕ ประการนี้ ที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งตัด
ขาดแล้ว เธอจักถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้
เชิงอรรถ
A ดู องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๒๐๕-๒๐๖/๓๔๗-๓๕๐, องฺ.นวก. (แปล) ๒๓/๗๑-๗๒/๕๕๕-๕๕๘, องฺ.ทสก.(แปล) ๒๔/๑๔/๒๒-๒๗
B ไม่เลื่อมใสในศาสดา ในที่นี้หมายถึงไม่เชื่อว่าพระสรีระของพระพุทธเจ้าประดับด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ไม่เชื่อพระสัพพัญญุตญาณของพระพุทธเจ้าที่สามารถรู้อดีต อนาคต และปัจจุบัน (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๒๐๕/๘๕)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.