12-085 เวสารัชชญาณ 4
รออัพเดต
พระไตรปิฎก
เวสารัชชญาณ A ๔
{๑๖๗} [๑๕๐] สารีบุตร เวสารัชชญาณ(ญาณเป็นเหตุให้แกล้วกล้า) ๔ ประการนี้
ที่ตถาคตมีแล้วเป็นเหตุให้ปฏิญญา(ยืนยัน) ฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศ
พรหมจักรในบริษัท
เวสารัชชญาณของตถาคต ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เราไม่เห็นนิมิต B นี้ว่า ‘สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม
หรือใคร ๆ ในโลก จักทักท้วงเราด้วยคำพูดที่มีเหต C ในธรรมนั้นว่า
‘ท่านผู้ปฏิญญาว่า เป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ธรรมเหล่านี้ท่านก็ยัง
ไม่รู้’ เราเมื่อไม่เห็นนิมิตแม้นี้ จึงถึงความเกษม ไม่มีความกลัว
แกล้วกล้าอยู่
๒. เราไม่เห็นนิมิตนี้ว่า ‘สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม
หรือใคร ๆ ในโลก จักทักท้วงเราด้วยคำพูดที่มีเหตุในธรรมนั้นว่า
‘ท่านผู้ปฏิญญาว่า เป็นพระขีณาสพ อาสวะเหล่านี้ของท่านก็ยัง
ไม่สิ้นไป’ เราเมื่อไม่เห็นนิมิตแม้นี้ จึงถึงความเกษม ไม่มีความกลัว
แกล้วกล้าอยู่
๓. เราไม่เห็นนิมิตนี้ว่า ‘สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม
หรือใคร ๆ ในโลก จักทักท้วงเราด้วยคำพูดที่มีเหตุในธรรมนั้นว่า
‘อันตรายิกธรรม D ที่ท่านกล่าว ไม่อาจก่ออันตรายแก่ผู้เสพได้จริง’
เราเมื่อไม่เห็นนิมิตแม้นี้ จึงถึงความเกษม ไม่มีความกลัว แกล้ว
กล้าอยู่
๔. เราไม่เห็นนิมิตนี้ว่า ‘สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม
หรือใคร ๆ ในโลก จักทักท้วงเราด้วยคำพูดที่มีเหตุในธรรมนั้นว่า
‘ท่านแสดงธรรมเพื่อประโยชน์อย่างใด ประโยชน์อย่างนั้นไม่สำเร็จ
เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้ทำตามได้จริง’ เราเมื่อไม่เห็นนิมิต
แม้นี้ จึงถึงความเกษม ไม่มีความกลัว แกล้วกล้าอยู่
สารีบุตร เวสารัชชญาณ ๔ ประการนี้แล ที่ตถาคตมีแล้วเป็นเหตุให้
ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
บุคคลใดพึงว่ากล่าวเราผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ว่า ‘สมณโคดมไม่มีญาณทัสสนะ
ที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ สมณโคดมแสดงธรรมที่
ประมวลมาด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง’ บุคคลนั้น
ไม่ละวาจานั้น ไม่ละความคิดนั้น ไม่สลัดทิ้งทิฏฐินั้น ย่อมดำรงอยู่ในนรกเหมือน
ถูกนำไปฝังไว้ อุปมาเหมือนภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีล สมบูรณ์ด้วยสมาธิ สมบูรณ์
ด้วยปัญญา พึงยินดีอรหัตตผลในปัจจุบันนั่นแล แม้ฉันใด เรากล่าวข้ออุปไมยนี้
ฉันนั้น บุคคลนั้นไม่ละวาจานั้น ไม่ละความคิดนั้น ไม่สลัดทิ้งทิฏฐินั้น ย่อมดำรง
อยู่ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
เชิงอรรถ
A ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก.(แปล) ๒๑/๘/๑๓-๑๔
B นิมิต ในที่นี้หมายถึงทั้งบุคคลและธรรมที่เป็นเหตุสนับสนุนการทักท้วง (ม.มู.อ. ๑/๑๕๐/๓๕๔ , องฺ.จตุกฺก.อ.
๒/๘/๒๘๕, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๘/๒๘๔)
C คำพูดที่มีเหตุ หมายถึงคำพูดที่อ้างอิงพยานบุคคล พยานหลักฐานมาเป็นเหตุสนับสนุนให้การทักท้วง
สำเร็จประโยชน์น่าเชื่อถือ (ม.มู.อ. ๑/๑๕๐/๓๕๔, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๘๒๘๕, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๘/๒๘๔)
D อันตรายิกธรรม หมายถึงธรรมที่เป็นอันตรายต่อการบรรลุมรรคผล ได้แก่ อาบัติ ๗ กอง ซึ่งเป็นโทษ
สำหรับปรับภิกษุผู้ล่วงละเมิด โดยที่สุดแม้ทุกกฏหรือทุพภาสิต ในที่นี้หมายเอาเมถุนธรรม (ม.ม.ูอ.
๑/๑๕๐/๓๕๔,องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๘/๒๘๖)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต