12-084 กำลังของพระตถาคต 10 ประการ
รออัพเดต
พระไตรปิฎก
กำลังของพระตถาคต ๑๐ ประการ
{๑๖๖} [๑๔๘] สารีบุตร กำลังของตถาคต A ๑๐ ประการนี้ที่ตถาคตมีแล้ว เป็น
เหตุให้ปฏิญญาฐานะที่องอาจ B บันลือสีหนาท C ประกาศพรหมจักร D ในบริษัท E
กำลังของตถาคต ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตถาคตรู้ชัดฐานะ F โดยเป็นฐานะ และอฐานะโดยเป็นอฐานะใน
โลกนี้ตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดฐานะโดยเป็นฐานะ
และอฐานะโดยเป็นอฐานะตามความเป็นจริง นี้เป็นกำลังของ
ตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท
ประกาศพรหมจักรในบริษัท
๒. ตถาคตรู้ชัดวิบากแห่งการยึดถือกรรมที่เป็นทั้งอดีต อนาคต และ
ปัจจุบันโดยฐานะ โดยเหตุตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัด
วิบากแห่งการยึดถือกรรมที่เป็นทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบันโดย
ฐานะ โดยเหตุตามความเป็นจริง นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคต
อาศัยแล้ว ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศ
พรหมจักร ในบริษัท
๓. ตถาคตรู้ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงภูมิทั้งปวง G ตามความเป็นจริง การที่
ตถาคตรู้ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงภูมิทั้งปวงตามความเป็นจริง นี้เป็นกำลัง
ของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือ
สีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
๔. ตถาคตรู้ชัดโลกที่มีธาตุหลายชนิด H มีธาตุที่แตกต่างกัน I ตามความ
เป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดโลกที่มีธาตุหลายชนิด มีธาตุที่แตกต่าง
กันตามความเป็นจริง นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว
ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
๕. ตถาคตรู้ชัดว่าหมู่สัตว์เป็นผู้มีอัธยาศัยต่างกันตามความเป็นจริง
การที่ตถาคตรู้ชัดว่าหมู่สัตว์เป็นผู้มีอัธยาศัยต่างกันตามความเป็นจริง
นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญญาฐานะที่องอาจ
บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
๖. ตถาคตรู้ชัดว่าสัตว์เหล่าอื่น และบุคคลเหล่าอื่นมีอินทรีย์แก่กล้า
และอินทรีย์อ่อนตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดว่าสัตว์
เหล่าอื่น และบุคคลเหล่าอื่นมีอินทรีย์แก่กล้าและอินทรีย์อ่อนตาม
ความเป็นจริง นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญญา
ฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
๗. ตถาคตรู้ชัดความเศร้าหมอง J ความผ่องแผ้ว K แห่งฌาน วิโมกข์
สมาธิ และสมาบัติ และการออกจากฌาน วิโมกข์ สมาธิ และ
สมาบัติ L ตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดความเศร้าหมอง
ความผ่องแผ้วแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติ และการ
ออกจากฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติตามความเป็นจริง นี้
เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญญาฐานะที่องอาจ
บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
๘. ตถาคตระลึกถึงชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง
๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง
๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐
ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัป M เป็นอันมากบ้าง
ตลอดวิวัฏฏกัป N เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป
เป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มี
วรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพ
นั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล
มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจาก
ภพนั้นแล้วจึงมาเกิดในภพนี้’ ตถาคตระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ
พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ การที่ตถาคตระลึก
ชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ
พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ นี้เป็นกำลังของ
ตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท
ประกาศพรหมจักรในบริษัท
๙. ตถาคตเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ(เคลื่อน) กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและ
ชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์
เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบ
กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความ
เห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความเห็นผิด พวกเขาหลังจาก
ตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่
ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ
มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความเห็นชอบ พวก
เขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ตถาคตเห็นหมู่
สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม
เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึง
หมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้แล การที่ตถาคตเห็นหมู่สัตว์ ฯลฯ
ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม
นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญญาฐานะที่องอาจ
บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
๑๐. ตถาคตทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะ
อาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน การที่ตถาคต
ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะ
สิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน นี้เป็นกำลังของ
ตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท
ประกาศพรหมจักรในบริษัท
ภิกษุทั้งหลาย กำลังของตถาคต ๑๐ ประการนี้แล ที่ตถาคตมีแล้ว
เป็นเหตุให้ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
[๑๔๙] สารีบุตร บุคคลใดแลพึงว่ากล่าวเราผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ว่า ‘สมณ-
โคดมไม่มีญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ สมณ-
โคดมแสดงธรรมที่ประมวลมาด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้ง
ได้เอง’ บุคคลนั้นไม่ละวาจานั้น ไม่ละความคิดนั้น ไม่สลัดทิ้งทิฏฐินั้น ย่อมดำรง
อยู่ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้ อุปมาเหมือนภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีล สมบูรณ์ด้วย
สมาธิ สมบูรณ์ด้วยปัญญา พึงยินดีอรหัตตผลในปัจจุบันนั่นแล แม้ฉันใด เรากล่าว
ข้ออุปไมยนี้ ฉันนั้น บุคคลนั้นไม่ละวาจานั้น ไม่ละความคิดนั้น ไม่สลัดทิ้งทิฏฐินั้น
ย่อมดำรงอยู่ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
เชิงอรรถ
A ดู องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๖๔/๕๗๙, องฺ.ทสก.(แปล) ๒๔/๒๑/๔๓-๔๗.
B ฐานะที่องอาจ (อาสภะ) อรรถกถาอธิบายว่า หมายถึงฐานะที่ประเสริฐที่สุด ที่สูงสุด หรือฐานะของ
พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดในปางก่อน
อนึ่ง คำว่า อาสภะ มาจากคำว่า อุสภะ เป็นชื่อโคจ่าฝูงของโคจำนวนมากตั้ง ๑๐๐ ตัว ๑,๐๐๐ ตัว ๑๐๐
คอก ๑,๐๐๐ คอก มีสีขาว น่าดู มีกำลังสามารถนำภาระหนักยิ่งไปได้ ยืนหยัดด้วยเท้าทั้ง ๔ ไม่หวั่นไหว
ต่อเสียงฟ้าร้องตั้ง ๑๐๐ ครั้ง พระตถาคตเปรียบเหมือนโคอุสภะ คือ ประทับยืนข่มบริษัททั้ง ๘ ได้อย่าง
มั่นคงด้วยพระบาท (ฐานะ) คือ เวสารัชชญาณ ๔ ประการ ไม่มีปัจจามิตรใดในโลกและเทวโลกที่สามารถ
ทำให้พระองค์หวั่นไหวได้ (ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๔๗, องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๖)
C บันลือสีหนาท ในที่นี้หมายถึงตรัสพระวาจาด้วยท่าทีองอาจดังพญาราชสีห์ ไม่ทรงหวั่นเกรงผู้ใด เพราะ
ทรงมั่นพระทัยในศีล สมาธิ ปัญญาของพระองค์ (ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๔๘,ที.สี.ฏีกา ๑/๔๐๓/๔๕๔)
D พรหมจักร หมายถึงธรรมจักรอันประเสริฐ ยอดเยี่ยม บริสุทธิ์ มี ๒ ประการ คือ (๑) ปฏิเวธญาณ ได้แก่
ญาณระดับโลกุตตระ แสดงถึงพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า (๒) เทสนาญาณ ได้แก่ ญาณระดับโลกิยะ
แสดงถึงพระมหากรุณาคุณของพระพุทธเจ้า ญาณทั้ง ๒ นี้ชื่อว่าโอรสญาณ(ญาณส่วนพระองค์) มีเฉพาะ
พระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น ไม่มีแก่คนทั่วไป (ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๔๘,องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๗)
E บริษัท หมายถึงหมู่, คณะ, ที่ประชุม ในที่นี้หมายถึงบริษัท ๘ คือ (๑) ขัตติยบริษัท (๒) พราหมณบริษัท
(๓) คหบดีบริษัท (๔) สมณบริษัท (๕) จาตุมหาราชบริษัท (๖) ดาวดึงสบริษัท (สวรรค์ชั้นที่ ๒ แห่งสวรรค์
๖ ชั้น) (๗) มารบริษัท (๘) พรหมบริษัท (ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๔๘, ที.สี.อ. ๔๐๓/๒๙๗, องฺ.ทสก.อ.
๓/๒๑/๓๒๗)
F ฐานะ ในที่นี้หมายถึงเหตุและปัจจัย ที่เรียกว่า “ฐานะ” เพราะเป็นแดนตั้งขึ้น เกิดขึ้น และเป็นไปแห่งผล
(ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๔๙, องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๘)
G ภูมิทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงคติที่ควรไป(คติ) และคติที่ไม่ควรไป(อคติ) (ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๕๐, องฺ.ทสก.อ.
๓/๒๑/๓๒๘)
H ธาตุหลายชนิด ในที่นี้หมายถึงธาตุ ๑๘ มีจักขุธาตุเป็นต้น (ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๕๐, องฺ.เอกก.อ. ๑/๕๗๗/๔๗๓)
และดู อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๑๘๕/๑๔๗. วิสุทฺธิ. ๒/๕๑๗/๑๒๙.
I ธาตุที่แตกต่างกัน หมายถึงธาตุที่มีลักษณะต่างกัน (ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๕๐, องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙,
อภิ.วิ.อ. ๗๖๐/๔๒๙)
J ความเศร้าหมอง หมายถึงธรรมฝ่ายเสื่อม ได้แก่ กาม วิตก วิจาร และปีติ เป็นต้น ที่เป็นอุปสรรคต่อการ
เจริญฌานตามลำดับขั้นของผู้ที่มีฌานยังไม่คล่องแคล่ว (ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๕๑, องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙,
องฺ.ทสก.ฏีกา ๓/๒๑/๓๙๒) และดู องฺ.นวก. (แปล) ๒๓/๔๑/๕๒๓-๕๓๒ ประกอบ
K ความผ่องแผ้ว หมายถึงธรรมฝ่ายเจริญ ได้แก่ การสงัดจากกาม การระงับวิตกวิจาร การจางคลายไปแห่ง
ปีติเป็นต้น ซึ่งเป็นคุณค่าต่อการเจริญฌานให้ยิ่งขึ้นไปของผู้ที่มีฌานคล่องแคล่ว (ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๕๑,
องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙, องฺ.ทสก.ฏีกา ๓/๒๑/๓๙๒) และดู องฺ.นวก. (แปล) ๒๓/๔๑/๕๒๓-๕๓๒ ประกอบ
L ในคำว่า “ฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติ” นี้ ฌาน หมายถึงฌาน ๔ (ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน
และจตุตถฌาน) (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙) วิโมกข์ หมายถึงวิโมกข์ ๘ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙) และดู
องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๑๑๙/๔๒๒ ประกอบ สมาธิ หมายถึงสมาธิ ๓ คือ สวิตักกสวิจารสมาธิ (สมาธิที่มี
วิตกและวิจาร) อวิตักกวิจารมัตตสมาธิ (สมาธิที่ไม่มีวิตกมีเพียงวิจาร) อวิตักกาวิจารสมาธิ (สมาธิที่ไม่มี
ทั้งวิตกและวิจาร) (ขุ.ป. ๓๑/๔๓/๕๐) สมาบัติ หมายถึงอนุปุพพสมาบัติ ๙ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔
และสัญญาเวทยิตนิโรธ ๑ (ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๕๑, องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙) และดู องฺ.นวก. (แปล)
๒๓/๓๒/๔๙๕, อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๘๒๘/๕๒๙-๕๓๒ ประกอบ
M-N ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๕๒ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๒ ในเล่มนี้
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต