12-063 หมวดสิ่งปฏิกูล
พระไตรปิฎก
กายานุปัสสนา
หมวดสิ่งปฏิกูล
{๑๓๖} [๑๑๐] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นกายนี้ ตั้งแต่
ฝ่าเท้าขึ้นไปเบื้องบน ตั้งแต่ปลายผมลงมาเบื้องล่าง มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไป
ด้วยสิ่งที่ไม่สะอาดชนิดต่าง ๆ ว่า
‘ในกายนี้ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก
ไต A หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า
ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก
ไขข้อ มูตร’
ภิกษุทั้งหลาย ถุงมีปาก ๒ ข้าง เต็มไปด้วยธัญพืชชนิดต่าง ๆ คือ ข้าวสาลี
ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง เมล็ดงา ข้าวสาร คนตาดีเปิดถุงยาวนั้นออก
พิจารณาเห็นว่า ‘นี้เป็นข้าวสาลี นี้เป็นข้าวเปลือก นี้เป็นถั่วเขียว นี้เป็นถั่วเหลือง
นี้เป็นเมล็ดงา นี้เป็นข้าวสาร แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาเห็น
กายนี้ตั้งแต่ฝ่าเท้าขึ้นไปเบื้องบน ตั้งแต่ปลายผมลงมาเบื้องล่าง มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ
เต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่สะอาดชนิดต่าง ๆ ว่า
‘ในกายนี้ มีผม ขน ฯลฯ ไขข้อ มูตร’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ B ฯลฯ ภิกษุจึงชื่อว่า
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
หมวดสิ่งปฏิกูล จบ
เชิงอรรถ
A วักกะ โบราณแปลว่า ม้าม และแปลคำว่า ปิหกะ ว่า “ไต” แต่ในที่นี้ แปล วักกะ ว่า “ไต” และแปล ปิหกะ ว่า “ม้าม” อธิบายว่า ไต ได้แก่ ก้อนเนื้อ ๒ ก้อน มีขั้วเดียวกัน รูปร่างคล้ายลูกสะบ้าของเด็ก ๆ หรือ คล้ายผลมะม่วง ๒ ผลที่ติดอยู่ในขั้วเดียวกัน มีเอ็นใหญ่รึงรัดจากลำคอลงไปถึงหัวใจแล้วแยกออก ห้อยอยู่ ทั้ง ๒ ข้าง (ขุ.ขุ.อ. ๔๓-๔๔); พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้บทนิยามของ “ไต” ไว้ว่า “อวัยวะคู่หนึ่งของคนและสัตว์ อยู่ในช่องท้องใกล้กระดูกสันหลัง ทำหน้าที่ขับของเสียออกมากับน้ำปัสสาวะ” Buddhadatta Mahathera, A. Concise Pali-English Dictionary; Rhys Davids. T.W. Pali-English Dictionary, ให้ความหมายของคำว่า “วักกะ” ตรงกันว่า “ไต” (Kidney)
B กายภายใน ในที่นี้หมายถึงอาการ ๓๒ มีผมเป็นต้นในกายของตน (ที.ม.อ. ๒/๓๗๗/๓๘๔, ม.มู.อ. ๑/๑๑๐/๒๘๗)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต