12-019 ความไม่สนใจศึกษาวิเวก
พระไตรปิฎก
ความไม่สนใจศึกษาวิเวก
{๒๓} [๓๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน ท่านพระสารีบุตร ได้เรียก
ภิกษุทั้งหลายในวิหารนั้นมากล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้น
รับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุ
เท่าไรหนอ เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก A สาวกทั้งหลายไม่สนใจศึกษา
วิเวก ด้วยเหตุเท่าไรหนอ เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก สาวกทั้งหลาย
สนใจศึกษาวิเวก”
ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ พวกกระผมมาจากที่ไกลเพื่อจะทราบ
เนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของท่านพระสารีบุตร พวกกระผมขอโอกาส ขอท่าน
พระสารีบุตรได้โปรดแสดงเนื้อความแห่งภาษิตนั้นเถิด เพื่อภิกษุทั้งหลายเมื่อได้ฟัง
แล้วจะทรงจำไว้ได้”
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงฟัง
จงใส่ใจให้ดี กระผมจักกล่าว”
{๒๔} ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวเรื่องนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุ
ทั้งหลาย ด้วยเหตุเท่าไรหนอ เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก สาวก
ทั้งหลายไม่สนใจศึกษาวิเวก เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก สาวก
ทั้งหลายในพระธรรมวินัยนี้สนใจศึกษาวิเวก ไม่ละธรรมทั้งหลายที่พระศาสดาตรัสว่า
ควรละ เป็นผู้มักมาก เป็นผู้ย่อหย่อน B เป็นผู้นำในโวกกมนธรรม C ทอดธุระ D
ในปวิเวก E บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุผู้เป็นเถระเป็นผู้ควรถูกติเตียนโดยฐานะ F ๓
ประการ คือ เป็นผู้ควรถูกติเตียนโดยฐานะที่ ๑ ว่า ‘เมื่อพระศาสดาประทับ
อยู่อย่างมีวิเวก สาวกทั้งหลายไม่สนใจศึกษาวิเวก’ เป็นผู้ควรถูกติเตียนโดยฐานะ
ที่ ๒ ว่า ‘สาวกทั้งหลายไม่ละธรรมทั้งหลายที่พระศาสดาตรัสว่า ควรละ’ และ
เป็นผู้ควรถูกติเตียนโดยฐานะที่ ๓ ว่า ‘สาวกทั้งหลายเป็นผู้มักมาก เป็นผู้ย่อหย่อน
เป็นผู้นำในโวกกมนธรรม ทอดธุระในปวิเวก’ ภิกษุผู้เป็นเถระเป็นผู้ควรถูก
ติเตียนโดยฐานะ ๓ ประการนี้ บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุผู้เป็นมัชฌิมะ ฯลฯ
ภิกษุผู้ป็นนวกะเป็นผู้ควรถูกติเตียนโดยฐานะ ๓ ประการ คือ เป็นผู้ควรถูก
ติเตียนโดยฐานะที่ ๑ ว่า ‘เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก สาวกทั้งหลาย
ไม่สนใจศึกษาวิเวก’ เป็นผู้ควรถูกติเตียนโดยฐานะที่ ๒ ว่า ‘สาวกทั้งหลายไม่ละ
ธรรมทั้งหลายที่พระศาสดาตรัสว่า ควรละ’ เป็นผู้ควรถูกติเตียนโดยฐานะที่ ๓ ว่า
‘สาวกทั้งหลายเป็นผู้มักมาก เป็นผู้ย่อหย่อน เป็นผู้นำในโวกกมนธรรม ทอดธุระ
ในปวิเวก’ ภิกษุผู้เป็นนวกะเป็นผู้ควรถูกติเตียนโดยฐานะ ๓ ประการนี้
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุเท่านี้แล เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก
สาวกทั้งหลายชื่อว่าไม่สนใจศึกษาวิเวก
เชิงอรรถ
A วิเวก(ความสงัด) ในที่นี้หมายถึงวิเวก ๓ ประการ คือ (๑) กายวิเวก สงัดกาย (๒) จิตตวิเวก สงัดจิต
(๓) อุปธิวิเวก สงัดกิเลส (ม.มู.อ. ๑/๓๑/๑๐๙)
B ย่อหย่อน หมายถึงยึดถือปฏิบัติตามคำสั่งสอนหย่อนยาน (ม.มู.อ. ๑/๓๑/๑๑๐, องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓)
C โวกกมนธรรม ในที่นี้หมายถึงนิวรณ์ ๕ ประการ คือ (๑) กามฉันทะ(ความพอใจในกาม) (๒) พยาบาท
(ความคิดร้าย) (๓) ถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม) (๔) อุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ)
(๕) วิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) (ม.มู.อ. ๑/๓๑/๑๑๐, องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓)
D ทอดธุระ ในที่นี้หมายถึงไม่บำเพ็ญอุปธิวิเวกให้บริบูรณ์, อนึ่ง หมายถึงทอดทิ้งหน้าที่ในวิเวก ๓ ประการ
คือ กายวิเวก จิตตวิเวก และอุปธิวิเวก (ม.มู.อ. ๑/๓๑/๑๑๐, องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓)
E ปวิเวก หมายถึงอุปธิวิเวก คือสภาวะอันเป็นที่ตั้งที่ทรงไว้แห่งทุกข์ ได้แก่ กาม กิเลส เบญจขันธ์ และ
อภิสังขาร กล่าวคือนิพพาน (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓)
F ฐานะ ในที่นี้หมายถึงเหตุ แท้จริง คำว่า ‘ฐานะ’ มีความหมาย ๔ นัย คือ (๑) อิสสริยะ (ตำแหน่ง,
ความเป็นใหญ่) (๒) ฐิติ (เป้าหมาย,ที่ตั้ง) (๓) ขณะ(กาล) (๔) การณะ (เหตุ) ในที่นี้หมายถึงเหตุ (ม.มู.อ.
๑/๓๑/๑๑๐)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต