12-011 อาสวะที่ต้องละด้วยทัสสนะ
พระไตรปิฎก
อาสวะที่ต้องละด้วยทัสสนะ
{๑๒} [๑๗] อาสวะที่ต้องละด้วยทัสสนะ เป็นอย่างไร
คือ ปุถุชนในโลกนี้ผู้ยังไม่ได้สดับ ไม่ได้พบพระอริยะทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรม
ของพระอริยะ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้พบสัตบุรุษทั้งหลาย
ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ไม่รู้ทั่วถึง
ธรรมที่ควรมนสิการ ไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ เขาเมื่อไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ควร
มนสิการ เมื่อไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ย่อมมนสิการถึงธรรมที่ไม่ควร
มนสิการ ไม่มนสิการถึงธรรมที่ควรมนสิการ
ธรรมที่ไม่ควรมนสิการซึ่งปุถุชนมนสิการ เป็นอย่างไร
คือ เมื่อปุถุชนมนสิการถึงธรรมเหล่าใด กามาสวะ A ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น
ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ ภวาสวะ B ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดแล้วย่อมเจริญ
และอวิชชาสวะ C ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ เหล่านี้คือธรรมที่
ไม่ควรมนสิการซึ่งปุถุชนมนสิการ
ธรรมที่ควรมนสิการซึ่งปุถุชนไม่มนสิการ เป็นอย่างไร
คือ เมื่อปุถุชนมนสิการถึงธรรมเหล่าใด กามาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น
ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป ภวาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป
และอวิชชาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป เหล่านี้คือธรรม
ที่ควรมนสิการซึ่งปุถุชนไม่มนสิการ
เพราะปุถุชนนั้นมนสิการถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ไม่มนสิการถึงธรรมที่ควร
มนสิการ อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และอาสวะทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว
ย่อมเจริญ
[๑๘] ปุถุชนนั้นมนสิการโดยไม่แยบคายอย่างนี้ว่า ‘ในอดีตกาลยาวนาน
เราได้มีแล้ว หรือมิได้มีแล้วหนอ เราได้เป็นอะไรมาหนอ เราได้เป็นอย่างไรมาหนอ
เราได้เป็นอะไรแล้วจึงมาเป็นอะไรอีกหนอ ในอนาคตกาลยาวนาน เราจักมีหรือจัก
ไม่มีหนอ เราจักเป็นอะไรหนอ เราจักเป็นอย่างไรหนอ เราจักเป็นอะไรแล้วไปเป็น
อะไรอีกหนอ’ หรือว่าบัดนี้ มีความสงสัยภายในตน ปรารภปัจจุบันกาลกล่าวว่า
‘เรามีอยู่หรือไม่หนอ เราเป็นอะไรหนอ เราเป็นอย่างไรหนอ สัตว์นี้มาจากไหนหนอ
และเขาจักไปไหนกันหนอ’
[๑๙] เมื่อปุถุชนนั้นมนสิการโดยไม่แยบคายอย่างนี้ ทิฏฐิ(ความเห็นผิด)
อย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาทิฏฐิ ๖ ก็เกิดขึ้น คือ
๑. ทิฏฐิเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นโดยแน่แท้มั่นคงว่า ‘อัตตาของเรามีอยู่’
๒. ทิฏฐิเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นโดยแน่แท้มั่นคงว่า ‘อัตตาของเราไม่มี’
๓. ทิฏฐิเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นโดยแน่แท้มั่นคงว่า ‘เรารู้จักอัตตาได้ด้วยอัตตา’
๔. ทิฏฐิเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นโดยแน่แท้มั่นคงว่า ‘เรารู้จักสิ่งที่ไม่ใช่อัตตาได้ด้วยอัตตา’
๕. ทิฏฐิเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นโดยแน่แท้มั่นคงว่า ‘เรารู้จักอัตตาได้ด้วยสิ่งที่ไม่ใช่อัตตา’
๖. อีกอย่างหนึ่ง ทิฏฐิเกิดมีแก่ผู้นั้น อย่างนี้ว่า ‘อัตตาของเรานี้ใด เป็นผู้กล่าว
เป็นผู้รู้ เสวยผลแห่งกรรมดีและกรรมชั่วในอารมณ์นั้น ๆ อัตตาของเรา
นี้นั้นเป็นสภาวะที่เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา
จักดำรงอยู่เสมอด้วยสิ่งที่แน่นอน’
ข้อนี้เราเรียกว่า ทิฏฐิ ได้แก่ ป่าทึบคือทิฏฐิ ทางกันดารคือทิฏฐิ เสี้ยนหนาม
คือทิฏฐิ ความเดือดร้อนคือทิฏฐิ กิเลสเครื่องผูกพันสัตว์คือทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า ‘ปุถุชนผู้ประกอบด้วยทิฏฐิสังโยชน์ ผู้ยังไม่ได้สดับ
ย่อมไม่พ้นจากชาติ(ความเกิด) ชรา(ความแก่) มรณะ(ความตาย) โสกะ(ความ
เศร้าโศก) ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ) ทุกข์(ความทุกข์กาย) โทมนัส(ความทุกข์ใจ)
และอุปายาส(ความคับแค้นใจ) ย่อมไม่พ้นจากทุกข์’
[๒๐] ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ได้พบพระอริยะทั้งหลาย ฉลาดใน
ธรรมของพระอริยะ ได้รับคำแนะนำดีแล้วในธรรมของพระอริยะ พบสัตบุรุษทั้งหลาย
ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับคำแนะนำดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมรู้ทั่วถึง
ธรรมที่ควรมนสิการ รู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ อริยสาวกนั้นเมื่อรู้ทั่วถึงธรรม
ที่ควรมนสิการ เมื่อรู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ย่อมไม่มนสิการถึงธรรมที่ไม่ควร
มนสิการ มนสิการถึงแต่ธรรมที่ควรมนสิการ
ธรรมที่ไม่ควรมนสิการซึ่งอริยสาวกไม่มนสิการ เป็นอย่างไร
คือ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการถึงธรรมเหล่าใด กามาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมเกิด
ขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ ภวาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ
และอวิชชาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ เหล่านี้คือธรรมที่ไม่
ควรมนสิการซึ่งอริยสาวกไม่มนสิการ
ธรรมที่ควรมนสิการซึ่งอริยสาวกมนสิการ เป็นอย่างไร
คือ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการถึงธรรมเหล่าใด กามาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่
เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป ภวาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว
ย่อมเสื่อมไป และอวิชชาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป
เหล่านี้คือธรรมที่ควรมนสิการซึ่งอริยสาวกมนสิการ
เพราะอริยสาวกนั้น ไม่มนสิการถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ มนสิการถึงธรรม
ที่ควรมนสิการ อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น และอาสวะทั้งหลายที่
เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป
[๒๑] อริยสาวกนั้นมนสิการโดยแยบคายว่า ‘นี้ทุกข์(สภาวะที่ทนได้ยาก) นี้
ทุกขสมุทัย(เหตุเกิดทุกข์) นี้ทุกขนิโรธ(ความดับทุกข์) นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
(ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์)’ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการโดยแยบคายอย่างนี้
สังโยชน์ ๓ คือ (๑) สักกายทิฏฐิ(ความเห็นว่าเป็นตัวของตน) (๒) วิจิกิจฉา(ความ
ลังเลสงสัย) (๓) สีลัพพตปรามาส(ความถือมั่นศีลและวัตร) ย่อมสิ้นไป
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อาสวะที่ต้องละด้วยทัสสนะ
เชิงอรรถ
A กามาสวะ หมายถึงความกำหนัดในกามคุณ ๕ (ม.มู.อ. ๑/๑๗/๗๔)
B ภวาสวะ หมายถึงความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในรูปภพและอรูปภพ ความติดใจในฌานที่สหรคต
ด้วยสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ รวมทั้งทิฏฐาสวะ (ม.มู.อ. ๑/๑๗/๗๔)
C อวิชชาสวะ หมายถึงความไม่รู้ในอริยสัจ ๔ (ม.มู.อ. ๑/๑๗/๗๔)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต