10-163 อุปมาด้วยนายกองเกวียน 2 คน



พระไตรปิฎก


อุปมาด้วยนายกองเกวียน ๒ คน
{๓๑๙}[๔๓๐] “บพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจะยกอุปมาถวายพระองค์ให้สดับ
คนฉลาดบางพวกในโลกนี้ เข้าใจความหมายแห่งถ้อยคำได้ด้วยอุปมาโวหาร
เรื่องเคยมีมาแล้ว มีพ่อค้าเกวียนหมู่ใหญ่มีเกวียนประมาณ ๑,๐๐๐ เล่ม
เดินทางจากแคว้นทางทิศตะวันออกไปยังแคว้นทางทิศตะวันตก
ขณะเมื่อเดินทางไป หญ้า ฟืน น้ำ ใบ ไม้สดได้หมดสิ้นไปอย่างรวดเร็ว
ในหมู่เกวียนนั้นมีนายกองเกวียน ๒ คน คุมเกวียน คนละ ๕๐๐ เล่ม
นายกองเกวียนทั้ง ๒ คนนั้นได้ปรึกษากันว่า ‘กองเกวียนนี้เป็น
หมู่ใหญ่มีเกวียน ๑,๐๐๐ เล่ม เวลาที่พวกเราเดินทางรวมกันไป หญ้า ฟืน น้ำ ใบไม้
สดหมดสิ้นไปอย่างรวดเร็ว ทางที่ดีพวกเราควรแยกกองเกวียนนี้ออกเป็น ๒ กลุ่ม
คือ แยกเป็นกลุ่มละ ๕๐๐ เล่ม’ จึงตกลงแยกกันเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มละ ๕๐๐ เล่ม
นายกองเกวียนคนหนึ่งบรรทุกหญ้า ฟืน และน้ำเป็นอันมากขับเกวียนล่วงหน้าไปก่อน
เมื่อไปได้ ๒-๓ วันได้พบบุรุษผิวดำนัยน์ตาแดงสะพายแล่งธนู ทัดดอกโกมุท มีผ้า
และผมเปียกปอน ขับรถคันงามมีล้อเปื้อนตมสวนทางมา จึงถามว่า ‘ท่านมาจากไหน’
บุรุษนั้นตอบว่า ‘เรามาจากที่โน้น’
นายกองเกวียนถามว่า ‘ท่านจะไปไหน’
บุรุษนั้นตอบว่า ‘เราจะไปที่โน้น’
นายกองเกวียนถามว่า ‘หนทางกันดารข้างหน้ามีฝนตกมากใช่ไหม’
บุรุษนั้นตอบว่า ‘ใช่ครับ หนทางกันดารข้างหน้ามีฝนตกมาก หนทางมีน้ำ
ชุ่มฉ่ำ มีหญ้า ฟืนและน้ำมากมาย พวกท่านจงทิ้งหญ้า ฟืน และน้ำเก่าเสียเถิด
เกวียนเบาท่านจะเดินทางได้เร็วขึ้น วัวก็ไม่ต้องลำบาก’
ลำดับนั้น นายกองเกวียนเรียกพวกขับเกวียนมาบอกว่า ‘บุรุษนี้บอกว่า
‘หนทางกันดารข้างหน้ามีฝนตกมาก หนทางมีน้ำชุ่มฉ่ำ มีหญ้า ฟืน และน้ำ
มากมาย พวกท่านจงทิ้งหญ้า ฟืน และน้ำเก่าเสียเถิด เกวียนเบาท่านจะเดินทาง
ได้เร็วขึ้น วัวก็ไม่ต้องลำบาก’ พวกท่านจงทิ้งหญ้า ฟืน และน้ำเก่า จงขับเกวียนเบา
ไปเถิด’
พวกขับเกวียนรับคำของนายกองเกวียนแล้วทิ้งหญ้า ฟืน และน้ำเก่า ขับเกวียน
เบาไป แต่ก็มิได้พบเห็นหญ้า ฟืนหรือน้ำแม้ในที่พักกองเกวียนแห่งแรก แห่งที่ ๒
แห่งที่ ๓ แห่งที่ ๔ แห่งที่ ๕ แห่งที่ ๖ แห่งที่ ๗ ก็ไม่พบ
จึงถึงความวอดวายด้วยกัน มนุษย์หรือสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในกองเกวียนนั้น
ถูกอมนุษย์คือยักษ์จับกินเสียทั้งหมด เหลือแต่กระดูก
ต่อมา เมื่อนายกองเกวียนคณะที่ ๒ รู้สึกว่า เวลานี้กองเกวียนคณะแรกได้
ออกเดินทางไปนานแล้ว จึงบรรทุกหญ้า ฟืน และน้ำเป็นอันมากแล้วขับเกวียนไป
เมื่อไปได้ ๒-๓ วันได้พบบุรุษผิวดำนัยน์ตาแดงสะพายแล่งธนู ทัดดอกโกมุท มีผ้า
และผมเปียกปอน ขับรถคันงามมีล้อเปื้อนตมสวนทางมา จึงถามว่า ‘ท่านมา
จากไหน’
บุรุษนั้นตอบว่า ‘เรามาจากที่โน้น’
นายกองเกวียนถามว่า ‘ท่านจะไปไหน’
บุรุษนั้นตอบว่า ‘เราจะไปที่โน้น’
นายกองเกวียนถามว่า ‘หนทางกันดารข้างหน้ามีฝนตกมากใช่ไหม’
บุรุษนั้นตอบว่า ‘ใช่ครับ หนทางกันดารข้างหน้ามีฝนตกมาก หนทางมีน้ำ
ชุ่มฉ่ำ มีหญ้า ฟืนและน้ำมากมาย พวกท่านจงทิ้งหญ้า ฟืน และน้ำเก่าเสียเถิด
เกวียนเบาท่านจะเดินทางได้เร็วขึ้น วัวก็ไม่ต้องลำบาก’
ลำดับนั้น นายกองเกวียนเรียกพวกขับเกวียนมาบอกว่า ‘บุรุษนี้บอกว่า
‘หนทางกันดารข้างหน้ามีฝนตกมาก หนทางมีน้ำชุ่มฉ่ำ มีหญ้า ฟืน และน้ำ
มากมาย พวกท่านจงทิ้งหญ้า ฟืน และน้ำเก่าเสียเถิด เกวียนเบาท่านจะเดินทางได้
เร็วขึ้น วัวก็ไม่ต้องลำบาก’ ท่านทั้งหลาย บุรุษผู้นี้ไม่ใช่มิตรหรือญาติสาโลหิตของ
พวกเรา พวกเราจะเชื่อเขาได้อย่างไร พวกท่านไม่ควรทิ้งหญ้า ฟืน และน้ำเก่า จงขับ
กองเกวียนไปพร้อมกับสิ่งของตามที่นำมาเถิด พวกเราจะไม่ทิ้งของเก่า’
พวกขับเกวียนรับคำของนายกองเกวียนแล้ว ขับเกวียนไปพร้อมกับสิ่งของตาม
ที่นำมา พวกเขาไม่พบเห็นหญ้า ฟืน หรือน้ำในที่พักกองเกวียนแห่งแรก แห่งที่ ๒
แห่งที่ ๓ แห่งที่ ๔ แห่งที่ ๕ แห่งที่ ๖ แห่งที่ ๗ ก็ไม่พบเลย
เห็นแต่กองเกวียน(คณะแรก)ที่ถึงความวอดวาย และเห็นมนุษย์และสัตว์เลี้ยง
ในกองเกวียนนั้น ซึ่งถูกอมนุษย์คือยักษ์จับกินเสียทั้งหมด เหลือแต่กระดูก
ลำดับนั้น นายกองเกวียนจึงเรียกพวกขับเกวียนมาบอกว่า ‘นี้คือหมู่เกวียน
(คณะแรก)นั้นได้ถึงความวอดวาย ทั้งนี้เพราะนายกองเกวียนผู้นำเป็นคนโง่เขลา
ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงทิ้งสิ่งของที่มีประโยชน์น้อยในกองเกวียนของเราแล้ว
จงขนเอา สิ่งของที่มีประโยชน์มากในกองเกวียนนี้ไป’
พวกขับเกวียนรับคำของนายกองเกวียนแล้ว ทิ้งสิ่งของที่มีประโยชน์น้อยในเกวียน
ของตน ขนเอาสิ่งของที่มีประโยชน์มากในหมู่เกวียนนั้น เดินทางข้ามทางกันดารไป
ได้โดยสวัสดิภาพ ทั้งนี้เพราะนายกองเกวียนผู้นำเป็นคนฉลาด
บพิตร พระองค์ทรงโง่เขลา ไม่ฉลาด ทรงแสวงหาโลกอื่นโดยไม่ถูกวิธี จะถึง
ความพินาศ ก็เช่นเดียวกับนายกองเกวียนคนแรกนั้นแหละ พวกคนที่เข้าใจว่าทิฏฐิ
ของพระองค์ควรฟัง ควรเชื่อถือเหล่านั้น ก็จะถึงความพินาศเหมือนกัน ฉะนั้น
พระองค์โปรดสละทิฏฐิชั่วนั้นเถิด ปล่อยวางทิฏฐิชั่วนั้นเถิด ทิฏฐิชั่วเช่นนั้นอย่าได้เกิด
มีแก่พระองค์เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนานเลย”
{๓๒๐}[๔๓๑] “ท่านกัสสปะ พูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมไม่อาจสละทิฏฐิชั่วนี้ได้
พระเจ้าปเสนทิโกศลหรือพระราชานอกอาณาจักรทรงรู้จักโยมอย่างนี้ว่า ‘เจ้าปายาสิ
ทรงมีวาทะอย่างนี้ ทรงมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์
ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ หากโยมสละทิฏฐิชั่วนี้ จะมีคนว่า
โยมได้ว่า ‘เจ้าปายาสินี้ช่างโง่เขลา ไม่ฉลาด ยึดถือแต่สิ่งผิด ๆ’ โยมจะถือทิฏฐินั้น
ต่อไป เพราะความโกรธ เพราะความลบหลู่ เพราะความแข่งดี”

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.