10-162 อุปมาด้วยชฎิลผู้บูชาไฟ
พระไตรปิฎก
อุปมาด้วยชฎิลผู้บูชาไฟ
{๓๑๗}[๔๒๘] “บพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจะยกอุปมาถวายพระองค์ให้สดับ
คนฉลาดบางพวกในโลกนี้ เข้าใจความหมายแห่งถ้อยคำได้ด้วยอุปมาโวหาร
เรื่องเคยมีมาแล้ว มีชฎิลผู้บูชาไฟคนหนึ่งอาศัยอยู่ในกุฎีใบไม้ ณ ชายป่า
เวลานั้น หมู่เกวียน หมู่หนึ่งพักอยู่ในที่ใกล้อาศรมของชฎิลนั้น ๑ คืน
แล้วจากไป ต่อมาชฎิลผู้บูชาไฟมีความคิดดังนี้ว่า
‘ทางที่ดี เราควรเข้าไปในสถานที่ที่หมู่เกวียนนั้นพักอยู่ บางทีจะได้
อุปกรณ์ใช้สอยในที่นั้นบ้าง จึงลุกขึ้นแต่เช้าตรงเข้าไปที่ที่หมู่เกวียนพำนัก พบเด็ก
อ่อนถูกทิ้งนอนหงายอยู่ที่นั้น คิดว่า ‘การที่เราผู้เป็นมนุษย์มาพบเด็ก แล้วจะปล่อย
ให้เด็กเสียชีวิตไปก็ไม่เหมาะ ทางที่ดี เราควรพาเขาไปอาศรมแล้วชุบเลี้ยงให้เจริญเติบโต’
จึงพาเด็กนั้นไปชุบเลี้ยงจนเจริญเติบโต เมื่อเด็กนั้นอายุได้ ๑๐ ปี หรือ ๑๒ ปี
ชฎิลบูชาไฟคนนั้นมีธุระอย่างหนึ่งในเมืองจึงสั่งเด็กนั้นว่า ‘ลูก พ่อจะไปในเมือง
เจ้าพึงบูชาไฟอย่าให้ไฟดับ ถ้าไฟดับ นี้มีด นี้ฟืน นี้ไม้สีไฟ เจ้าพึงก่อไฟบูชา’
เมื่อสั่งเด็กแล้วได้ไปในเมือง ขณะที่เด็กกำลังเล่นอยู่ไฟเกิดดับ เด็กนึกขึ้นได้ว่า
‘พ่อสั่งเราไว้ว่า ‘เจ้าพึงบูชาไฟ อย่าให้ไฟดับ ถ้าไฟดับ นี้มีด นี้ฟืน นี้ไม้สีไฟ เจ้าพึง
ก่อไฟบูชา’ ทางที่ดี เราควรก่อไฟบูชา’ จึงเอามีดถากไม้สีไฟด้วยเข้าใจว่า ‘บางทีจะได้
ไฟบ้าง’ แต่ไม่ได้ไฟเลย จึงผ่าไม้สีไฟออกเป็น ๒ ซีก … ๓ ซีก… ๔ ซีก … ๕ ซีก …
๑๐ ซีก … ๒๐ ซีก … แล้วสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ครั้นสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วก็นำ
มาโขลกในครก ครั้นโขลกในครกแล้วก็โปรยในที่มีลมแรงด้วยเข้าใจว่า ‘บางทีจะได้
ไฟบ้าง’ แต่เขาก็ไม่ได้ไฟเลย
ต่อมา ชฎิลผู้บูชาไฟทำธุระในเมืองเสร็จแล้วจึงกลับมาอาศรมของตน ได้ถาม
เด็กนั้นว่า ‘ลูกเอ๋ย ไฟของเจ้าไม่ดับบ้างเลยหรือ’
เด็กนั้นตอบว่า ‘พ่อครับ ผมมัวเล่นอยู่ตรงนี้ ไฟก็ดับเสีย’ พอนึกขึ้นได้ว่า
‘พ่อสั่งไว้ว่า ‘เจ้าพึงบูชาไฟ อย่าให้ไฟดับ ถ้าไฟดับ นี้มีด นี้ฟืน นี้ไม้สีไฟ เจ้าพึง
ก่อไฟบูชา’ ทางที่ดี เราควรก่อไฟบูชา ผมจึงเอามีดถากไม้สีไฟด้วยคิดว่า ‘บางทีจะ
ได้ไฟบ้าง’ แต่ไม่ได้ไฟเลย จึงผ่าไม้สีไฟออกเป็น ๒ ซีก … ๓ ซีก … ๔ ซีก … ๕ ซีก
… ๑๐ ซีก … ๒๐ ซีก … แล้วสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ครั้นสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วก็
นำมาโขลกในครก ครั้นโขลกในครกแล้วก็โปรยในที่มีลมแรงด้วยเข้าใจว่า
‘บางทีจะได้ไฟบ้าง’ แต่ไม่ได้ไฟเลย
ลำดับนั้น ชฎิลผู้บูชาไฟคนนั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘เด็กคนนี้ช่างโง่ไม่ฉลาดเอา
เสียเลย หาไฟโดยไม่ถูกวิธีจะได้อย่างไรเล่า’ เมื่อเด็กนั้นกำลังดูอยู่ จึงหยิบไม้สีไฟมา
สีให้เกิดไฟแล้วบอกกับเด็กนั้นดังนี้ว่า ‘ลูกเอ๋ย เขาติดไฟกันอย่างนี้ ไม่เหมือนเจ้าที่โง่
ไม่ฉลาดหาไฟโดยไม่ถูกวิธี’
บพิตร พระองค์ก็เช่นเดียวกันทรงโง่เขลา ไม่ฉลาดนั่นแหละ แสวงหาโลกหน้า
โดยไม่ถูกวิธี พระองค์โปรดสละทิฏฐิชั่วนั้นเถิด ปล่อยวางทิฏฐิชั่วนั้นเถิด ทิฏฐิชั่วเช่น
นั้นอย่าได้เกิดมีแก่พระองค์เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ ตลอดกาลนานเลย”
{๓๑๘}[๔๒๙] “ท่านกัสสปะ พูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมไม่อาจสละทิฏฐิชั่วนี้ได้
พระเจ้าปเสนทิโกศลหรือพระราชานอกอาณาจักร ทรงรู้จักโยมอย่างนี้ว่า ‘เจ้าปายาสิ
มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี
ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ หากโยมสละทิฏฐิชั่วนี้ จะมีคนว่าโยมได้ว่า
‘เจ้าปายาสินี้ช่างโง่ ไม่ฉลาด ยึดถือแต่สิ่งผิด ๆ’ โยมจะถือทิฏฐินั้นต่อไปเพราะความ
โกรธ เพราะความลบหลู่ เพราะความแข่งดี”
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต