10-128 อินทริยสังวร



พระไตรปิฎก


อินทริยสังวร A
(สำรวมอินทรีย์)

{๒๕๙}[๓๖๕] ท้าวสักกะจอมเทพทรงชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ดังนี้แล้ว ได้ทูลถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ภิกษุปฏิบัติ
อย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติเพื่อสำรวมอินทรีย์”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ เรากล่าวรูปที่พึงรู้แจ้งทางตาไว้
๒ อย่าง คือ รูปที่ควรเสพ B และรูปที่ไม่ควรเสพ กล่าวเสียงที่พึงรู้แจ้งทางหูไว้
๒ อย่าง คือ เสียงที่ควรเสพและเสียงที่ไม่ควรเสพ กล่าวกลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก
ไว้ ๒ อย่างคือ กลิ่นที่ควรเสพและกลิ่นที่ไม่ควรเสพ กล่าวรสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น
ไว้ ๒ อย่างคือ รสที่ควรเสพและรสที่ไม่ควรเสพ กล่าวโผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย
ไว้ ๒ อย่างคือ โผฏฐัพพะที่ควรเสพและโผฏฐัพพะที่ไม่ควรเสพ กล่าวธรรมารมณ์
ที่พึงรู้แจ้งทางใจไว้ ๒ อย่างคือ ธรรมารมณ์ที่ควรเสพและธรรมารมณ์ที่ไม่ควรเสพ”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ท้าวสักกะจอมเทพได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมรู้ชัดเนื้อความแห่งพระภาษิตที่
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อนี้ได้โดยพิสดารอย่างนี้ว่า ‘เมื่อบุคคลเสพรูปที่พึงรู้
แจ้งทางตาเช่นใด อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง
รูปที่พึงรู้แจ้งทางตาเช่นนี้เป็นรูปที่ไม่ควรเสพ เมื่อบุคคลเสพรูปที่พึงรู้แจ้งทางตา
เช่นใด อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น รูปที่พึงรู้แจ้ง
ทางตาเช่นนี้เป็นรูปที่ควรเสพ เมื่อบุคคลเสพเสียงที่พึงรู้แจ้งทางหูเช่นใด ฯลฯ เมื่อ
บุคคลเสพกลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูกเช่นใด ฯลฯ เมื่อบุคคลเสพรสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น
เช่นใด ฯลฯ เมื่อบุคคลเสพโผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกายเช่นใด ฯลฯ เมื่อบุคคลเสพ
ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจเช่นใด’ อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรม
ทั้งหลายเสื่อมลง ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจเช่นนี้ เป็นธรรมารมณ์ที่ไม่ควรเสพ
เมื่อบุคคลเสพธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจเช่นใด อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง
กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจเช่นนี้ เป็นธรรมารมณ์ที่
ควรเสพ’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมรู้ชัดเนื้อความแห่งพระภาษิตที่
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อนี้ได้โดยพิสดารอย่างนี้แล จึงไม่มีความสงสัยในเรื่องนี้
หมดความแคลงใจแล้ว เพราะได้ฟังการตรัสตอบปัญหาของพระผู้มีพระภาค”
{๒๖๐}[๓๖๖] ท้าวสักกะจอมเทพชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ดังนี้แล้ว ได้ทูลถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ สมณพราหมณ์
ทั้งหมด มีวาทะ(หลักการ)อย่างเดียวกัน มีศีล(ข้อปฏิบัติ)อย่างเดียวกัน มีฉันทะ
(ลัทธิ) อย่างเดียวกัน มีอัชโฌสานะ C (จุดหมาย)อย่างเดียวกัน หรือหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ สมณพราหมณ์ทั้งหมด ไม่มีวาทะ
อย่างเดียวกัน ไม่มีศีลอย่างเดียวกัน ไม่มีฉันทะอย่างเดียวกัน ไม่มีอัชโฌสานะ
อย่างเดียวกัน”
ท้าวเธอทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เพราะเหตุไร สมณพราหมณ์
ทั้งหมด จึงไม่มีวาทะอย่างเดียวกัน ไม่มีศีลอย่างเดียวกัน ไม่มีฉันทะอย่างเดียวกัน
ไม่มีอัชโฌสานะอย่างเดียวกัน”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ โลกมีธาตุหลากหลาย D มีธาตุต่างกัน
ในโลกที่มีธาตุหลากหลายมีธาตุต่างกันนั้น เหล่าสัตว์ยึดมั่นธาตุใด ๆ อยู่ ก็ย่อมยึด
มั่นธาตุนั้น ๆ ด้วยเรี่ยวแรงและความยึดมั่นอยู่ว่า ‘นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
เพราะเหตุนั้น สมณพราหมณ์ทั้งหมด จึงไม่มีวาทะอย่างเดียวกัน ไม่มีศีลอย่าง
เดียวกัน ไม่มีฉันทะอย่างเดียวกัน ไม่มีอัชโฌสานะอย่างเดียวกัน”
ท้าวเธอทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ สมณพราหมณ์ทั้งหมด มีความ
สำเร็จสูงสุด E มีความเกษมจากโยคะสูงสุด F ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด G มีที่สุด
อันสูงสุด H หรือหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ สมณพราหมณ์ทั้งหมด ไม่มีความ
สำเร็จสูงสุด ไม่มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด ไม่มี
ที่สุดอันสูงสุด”
{๒๖๑}ท้าวเธอทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เพราะเหตุไร สมณพราหมณ์
ทั้งหมด จึงไม่มีความสำเร็จสูงสุด ไม่มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ไม่ประพฤติ
พรหมจรรย์ถึงที่สุด ไม่มีที่สุดอันสูงสุด”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ ภิกษุทั้งหลายผู้หลุดพ้นเพราะสิ้น
ตัณหาเท่านั้นจึงจะมีความสำเร็จสูงสุด มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ประพฤติ
พรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เพราะเหตุนั้น สมณพราหมณ์ทั้งหมดจึงไม่มี
ความสำเร็จสูงสุด ไม่มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด
ไม่มีที่สุดอันสูงสุด”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาที่ท้าวสักกะจอมเทพทูลถามอย่างนี้แล้ว
ท้าวสักกะจอมเทพมีพระทัยยินดีชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น
ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัยในเรื่องนี้ หมดความแคลงใจแล้ว เพราะได้ฟังการตรัส
ตอบปัญหาของพระผู้มีพระภาค”
{๒๖๒}[๓๖๗] ท้าวสักกะจอมเทพทรงชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ดังนี้แล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ความหวั่นไหวเป็นโรค ความหวั่นไหว
เป็นหัวฝี ความหวั่นไหวเป็นลูกศร ความหวั่นไหวฉุดคร่าบุรุษนี้ไปเพื่อบังเกิดใน
ภพนั้น ๆ ฉะนั้น บุรุษนี้จึงถึงฐานะสูงบ้างต่ำบ้าง I
ปัญหาที่ข้าพระองค์ไม่ได้แม้โอกาสจะถามในสมณพราหมณ์เหล่าอื่นนอก
พระธรรมวินัยนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบแก่ข้าพระองค์แล้ว และได้ทรงถอน
ลูกศรคือความสงสัยและความเคลือบแคลงที่นอนเนื่องมานานของข้าพระองค์ด้วย”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “จอมเทพ พระองค์ทรงจำได้หรือไม่ว่าปัญหา
ข้อนี้ได้ตรัสถามสมณพราหมณ์เหล่าอื่นมาบ้างแล้ว”
ท้าวเธอทูลตอบว่า “ข้าพระองค์ยังจำได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ท่านเหล่านั้นตอบว่าอย่างไร หากไม่หนักพระทัย
เชิญพระองค์ตรัสเถิด”
ท้าวเธอทูลตอบว่า “ณ สถานที่ที่มีพระผู้มีพระภาค หรือผู้เปรียบดังพระผู้มี
พระภาคประทับอยู่ หม่อมฉันไม่หนักใจเลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น เชิญพระองค์ตรัสเถิด จอมเทพ”
ท้าวเธอทูลตอบว่า “ข้าพระองค์เข้าไปหาสมณพราหมณ์ ที่เข้าใจว่า ‘เป็นผู้
อยู่ป่า อยู่ในเสนาสนะอันสงัด’ แล้วถามปัญหาเหล่านี้ ท่านเหล่านั้น เมื่อถูกถาม
ก็ตอบไม่ได้กลับย้อนถามข้าพระองค์ว่า ‘ท่านชื่ออะไร’ เมื่อถูกย้อนถาม ข้าพระองค์
จึงตอบว่า ‘เราชื่อท้าวสักกะจอมเทพ’ ท่านเหล่านั้นก็ยังถามต่อไปอีกว่า ‘ท่านทำ
กรรมอะไรจึงถึงฐานะอันนี้เล่า’ ข้าพระองค์จึงแสดงธรรม J ตามที่ได้ฟังที่ได้เรียนมา
ท่านเหล่านั้นมีใจยินดีด้วยเหตุเพียงเท่านี้ว่า ‘พวกเราได้เห็นท้าวสักกะจอมเทพ
และท้าวเธอได้ตรัสตอบปัญหาที่พวกเราถาม’ ท่านเหล่านั้นยอมเป็นสาวกของ
ข้าพระองค์ ส่วนข้าพระองค์ไม่ยอมเป็นสาวกของท่านเหล่านั้น แต่(บัดนี้)ข้าพระองค์
เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นพระโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะ
สำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า K”
เชิงอรรถ
A ดูเทียบ ม.อุ. ๑๔/๑๑๙/๑๐๕-๑๐๖
B คำว่า เสพ มีความหมายตามบริบท เช่น เสพรูป หมายถึงเห็นรูป เสพเสียง หมายถึงฟังเสียง เสพกลิ่น หมายถึงดมกลิ่น เสพรส หมายถึงลิ้มรส เสพโผฏฐัพพะ หมายถึงถูกต้องโผฏฐัพพะ เสพธรรมารมณ์ หมายถึงนึกถึงธรรมารมณ์ (ที.ม.อ. ๓๖๕/๓๕๑-๓๕๓)
C อัชโฌสานะ ในที่นี้หมายถึงมีที่สุดอย่างเดียวกัน(เอกปริโยสานา) มีข้อตกลงร่วมกัน(สมานนิฏฐานา) (ที.ม.อ.๓๖๖/๓๕๓, ที.ม.ฏีกา ๓๖๖/๓๔๑)
D มีธาตุหลากหลาย ได้แก่ มีอัชฌาสัย คือนิสัยใจคอความนิยมต่างกัน เช่น เมื่อคนหนึ่งอยากเดิน อีกคนหนึ่ง อยากยืน เมื่อคนหนึ่งอยากยืน อีกคนหนึ่งอยากนอน (ที.ม.อ. ๓๖๖/๓๕๓)
E มีความสำเร็จสูงสุด ในที่นี้หมายถึงพ้นความพินาศคือกิเลส (ที.ม.อ. ๓๖๖/๓๕๓)
F ความเกษมจากโยคะสูงสุด ในที่นี้หมายถึงพระนิพพาน (ที.ม.อ. ๓๖๖/๓๕๓)
G ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด ในที่นี้หมายถึงอริยมรรค (ที.ม.อ. ๓๖๖/๓๕๓)
H ที่สุดอันสูงสุด ในที่นี้หมายถึงพระนิพพาน (ที.ม.อ. ๓๖๖/๓๕๓)
I ฐานะสูงบ้างต่ำบ้าง ในที่นี้หมายถึงภพภูมิต่าง ๆ เช่น พรหมโลกสูงกว่าเทวโลก เทวโลกสูงกว่า มนุษยโลก และมนุษยโลกสูงกว่าอบายภูมิ (ที.ม.อ. ๓๖๗/๓๕๔)
J ธรรม ในที่นี้หมายถึงวัตตบท ได้แก่ ข้อที่ถือปฏิบัติประจำที่ทำให้มฆมาณพได้เป็นท้าวสักกะจอมเทพ
มี ๗ อย่าง คือ (๑) มาตาเปติภโร (เลี้ยงมารดาบิดา)
(๒) กุเลเชฏฺฐาปจายี (เคารพผู้ใหญ่ในตระกูล)
(๓) สณฺหวาโจ (พูดคำสุภาพอ่อนหวาน)
(๔) อปิสุณวาโจ หรือ เปสุเณยฺยปฺปหายี (ไม่พูดส่อเสียด พูดสมานสามัคคี)
(๕) ทานสํวิภาครโต หรือ มจฺเฉรวินโย (ยินดีในการแจกทาน ปราศจากความตระหนี่)
(๖) สจฺจวาโจ (มีวาจาสัตย์)
(๗) อโกธโน หรือ โกธาภิภู (ไม่โกรธ ระงับความโกรธได้) (ที.ม.อ. ๓๖๓/๓๔๘)
K ดูคำอธิบายใน สกฺกวตฺถุ ธมฺมปทฏฺฐกถา ฉฏฺโฐ ภาโค สุขวคฺควณฺณนา

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.