10-123 เพลงขับกล่อมของปัญจสิขะ คันธรรพบุตร



พระไตรปิฎก


เพลงขับกล่อมของปัญจสิขะ คันธรรพบุตร
[๓๔๘] ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้บรรเลงพิณสีเหลือง
ดังผลมะตูมและกล่าวคาถาอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธ เกี่ยวเนื่องด้วยพระธรรม
เกี่ยวเนื่องด้วยพระสงฆ์ เกี่ยวเนื่องด้วยพระอรหันต์ และเกี่ยวเนื่องด้วยกามเหล่านี้ว่า
{๒๔๘} “แม่ภัททาสุริยวัจฉสา A
ฉันขอกราบท่านติมพรุบิดาของเธอ
โดยเหตุที่เธอเกิดมางดงาม ทำให้ฉันปลื้มใจ
เหมือนสายลมย่อมเป็นที่ปรารถนาของผู้มีเหงื่อ
หรือเหมือนน้ำเป็นที่ปรารถนาของผู้กระหาย
เธอผู้ไฉไลเป็นที่รักของฉัน
ดุจธรรมเป็นที่รักของพระอรหันต์
เธอจงช่วยดับความเร่าร้อน B
เหมือนช่วยวางยาคนไข้ผู้กระสับกระส่าย
เหมือนให้อาหารแก่ผู้หิว
หรือเหมือนใช้น้ำดับไฟที่กำลังลุกอยู่
ขอให้ฉันได้ซบลงจดถันและอุทรของเธอ
เหมือนช้างที่ร้อนจัดในคราวร้อน
หยั่งลงสู่สระโบกขรณีมีน้ำเย็น
ระคนด้วยละอองเกสรดอกปทุม
ฉันมึนงงเพราะ(เห็น)ช่วงขาที่งามสมส่วน
ไม่รับรู้เหตุการณ์ (อะไรๆ)
เหมือนช้างเหลือขอเพราะถือว่าเราชนะได้แล้ว C
ฉันมีใจจดจ่อที่เธอ ไม่อาจกลับใจที่แปรผันไป
เหมือนปลาที่กลืนเบ็ดเข้าไป
นางผู้เจริญ เธอจงเอาขาซ้ายกระหวัดฉันไว้
เธอผู้มีดวงตาหยาดเยิ้มจงกระหวัดฉันไว้เถิด
เธอผู้งดงามจงสวมกอดฉันไว้
สิ่งนี้คือสิ่งที่ฉันปรารถนายิ่งนัก
ความใคร่ของฉันต่อเธอผู้มีผมงามสลวย
ถึงมีน้อยก็เกิดผลมาก
เหมือนทักษิณาที่ถวายแด่พระอรหันต์
นางผู้งดงามทั่วสรรพางค์
บุญที่ฉันได้ทำไว้ในพระอรหันต์ผู้คงที่นั้น
จงอำนวยผลแก่ฉันพร้อมกับเธอ
นางผู้งดงามทั่วสรรพางค์
บุญที่ฉันได้ทำไว้ในปฐพีมณฑลนี้
จงอำนวยผลแก่ฉันพร้อมกับเธอ
แม่(ภัททา)สุริยวัจฉสา ฉันใฝ่ฝันหาเธอ
เหมือนพระสมณศากยบุตรผู้ทรงเข้าฌานอยู่ผู้เดียว
ผู้มีปัญญาครองตน มีสติ
เป็นมุนี แสวงหาอมตธรรม
แม่คุณคนงาม ถ้าฉันได้อยู่ร่วมกับเธอ ก็จะพึงชื่นชม
เหมือนพระมุนีบรรลุพระสัมโพธิญาณอันสูงสุดพึงชื่นชมฉะนั้น
หากท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งดาวดึงส์
จะประทานพรแก่ฉัน
ฉันก็จะต้องเลือกเอาเธอเป็นแน่
ความปรารถนาของฉันมั่นคงอยู่อย่างนี้
แม่คุณผู้เฉลียวฉลาด
ฉันขอน้อมไหว้บิดาของเธอผู้มีธิดางามเช่นนี้
ดุจต้นสาละที่ผลิดอกใหม่ ๆ ฉะนั้น”
{๒๔๙}[๓๔๙] เมื่อปัญจสิขะ คันธรรพบุตรกราบทูลอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคได้
ตรัสกับปัญจสิขะ คันธรรพบุตรดังนี้ว่า “ปัญจสิขะ เสียงสายพิณของท่านเทียบได้กับ
เสียงขับร้อง และเสียงขับร้องเทียบได้กับเสียงสายพิณ เสียงสายพิณของท่านไม่เกิน
เสียงขับร้อง และเสียงขับร้องก็ไม่เกินเสียงสายพิณ คาถาอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธ
เกี่ยวเนื่องด้วยพระธรรม เกี่ยวเนื่องด้วยพระสงฆ์ เกี่ยวเนื่องด้วยพระอรหันต์ และ
เกี่ยวเนื่องด้วยกามเหล่านี้ ท่านประพันธ์ไว้เมื่อไร”
ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้
ประพันธ์คาถาเหล่านี้ไว้ เมื่อสมัยที่พระผู้มีพระภาคแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ใต้ต้น
อชปาลนิโครธ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา สมัยนั้น ข้าพระองค์หลงรัก
ภัททาสุริยวัจฉสา ธิดาของท้าวติมพรุคันธรรพราช แต่นางรักผู้อื่นคือหลงรักสิขัณฑี
บุตรของมาตลีสังคาหกเทพบุตร เมื่อข้าพระองค์ไม่ได้นางด้วยวิธีหนึ่งจึงถือเอาพิณสี
เหลืองดังผลมะตูมเข้าไปยังนิเวศน์ของท้าวติมพรุคันธรรพราช แล้วบรรเลงพิณขึ้น
กล่าวคาถาอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธ เกี่ยวเนื่องด้วยพระธรรม เกี่ยวเนื่องด้วย
พระสงฆ์ เกี่ยวเนื่องด้วยพระอรหันต์ และเกี่ยวเนื่องด้วยกามเหล่านี้ว่า
‘แม่ภัททาสุริยวัจฉสา
ฉันขอกราบท่านติมพรุบิดาของเธอ
โดยเหตุที่เธอเกิดมางดงาม ทำให้ฉันปลื้มใจ
ฯลฯ
แม่คุณผู้เฉลียวฉลาด
ฉันขอน้อมไหว้บิดาของเธอผู้มีธิดางามเช่นนี้
ดุจต้นสาละที่ผลิตดอกใหม่ ๆ ฉะนั้น’
{๒๕๐} ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้ นางภัททาสุริยวัจฉสา
กล่าวตอบว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ ฉันไม่เคยเห็นพระผู้มีพระภาคในที่เฉพาะพระพักตร์
เป็นแต่เคยได้ยินเมื่อเข้าไปฟ้อนในสุธัมมาเทวสภาของเหล่าเทพชั้นดาวดึงส์เท่านั้น
เนื่องจากท่านได้กล่าวสรรเสริญพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นได้
ก็จงมาสมาคมกับพวกเรา ณ บัดนี้’
ข้าพระองค์จึงได้ร่วมสมาคมกับนางและไม่ใช่ครั้งนี้เท่านั้น หลังจากนั้นมา
ข้าพระองค์ก็ได้สมาคมกันอีก”
เชิงอรรถ
A สุริยวัจฉสา เป็นชื่อของเทพธิดา ผู้มีสิริโฉมงดงามทั่วสรรพางค์ มีรัศมีอ่อน ๆ เปล่งออกจากร่างกายดุจ แสงอ่อนของดวงอาทิตย์ยามทอแสง (ที.ม.อ. ๓๔๘/๓๑๖)
B ความเร่าร้อน ในที่นี้หมายถึงความเร่าร้อนเพราะไฟคือราคะ (ที.ม.อ. ๓๔๘/๓๑๖)
C เราชนะได้แล้ว หมายถึงไม่อยู่ในอำนาจของแหลนและหอกซัด (ที.ม.อ. ๓๔๘/๓๑๗)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.