10-087 ทรงเจริญฌานสมาบัติ



พระไตรปิฎก


ทรงเจริญฌานสมาบัติ
{๑๗๙}[๒๖๐] อานนท์ ครั้งนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงดำริดังนี้ว่า ‘เหตุที่เรามี
ฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ในเวลานี้ เป็นผลเป็นวิบากแห่งกรรมอะไรหนอ’
ทรงดำริดังนี้ว่า เหตุที่เรามีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ในเวลานี้
เป็นผลเป็นวิบากแห่งกรรม ๓ อย่าง คือ (๑) การให้ (๒) การข่มใจ (๓) การสำรวม
แล้วจึงเสด็จเข้าไปยังเรือนยอดมหาวิยูหะ ประทับยืนที่พระทวาร ทรงเปล่งพระอุทานว่า
‘กามวิตกเอ๋ย เจ้าจงหยุด จงกลับเพียงแค่นี้เถิด
พยาบาทวิตกเอ๋ย เจ้าจงหยุด จงกลับเพียงแค่นี้เถิด
วิหิงสาเอ๋ย เจ้าจงหยุด จงกลับเพียงแค่นี้เถิด’
[๒๖๑] อานนท์ จากนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะเสด็จเข้าไปในเรือนยอด
มหาวิยูหะ ประทับนั่งบนบัลลังก์ทอง ทรงสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย
แล้วทรงบรรลุปฐมฌานที่มีวิตก A วิจาร ปีติ และสุขเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกและ
วิจารสงบระงับ ทรงบรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่ง
ผุดขึ้น ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เพราะปีติจางคลายไป
มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย ทรงบรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะ
สรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัส
และโทมนัสดับไปก่อนแล้ว ทรงบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์
เพราะอุเบกขาอยู่
{๑๘๐}[๒๖๒] จากนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงออกจากเรือนยอดมหาวิยูหะเสด็จ
เข้าไปยังเรือนยอดทอง ประทับนั่งบนบัลลังก์เงิน ทรงมีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑
… ทิศที่ ๒ … ทิศที่ ๓ … ทิศที่ ๔ … ทิศเบื้องบน B ทิศเบื้องล่าง C ทิศเฉียง D แผ่ไป
ตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ E
ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
ทรงมีกรุณาจิต ฯลฯ
ทรงมีมุทิตาจิต ฯลฯ
ทรงมีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ … ทิศที่ ๒ … ทิศที่ ๓ … ทิศที่ ๔ …
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน
ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
เชิงอรรถ
A วิตก ในที่นี้หมายถึงการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ หรือการปักจิตลงสู่อารมณ์ เป็นองค์ ๑ ในองค์ฌาน ๕ มิใช่ วิตกในคำว่า กามวิตก (ความตรึกในทางกาม) พยาบาทวิตก (ความตรึกในทางพยาบาท) วิหิงสาวิตก (ความตรึกในทางเบียดเบียน) (ที.สี.อ. ๙๖/๑๑๒)
B ทิศเบื้องบน หมายถึงเทวโลก (วิสุทฺธิ.มหาฏีกา ๑/๒๕๔/๔๓๕)
C ทิศเบื้องล่าง หมายถึงนรกและนาค (วิสุทฺธิ.มหาฏีกา ๑/๒๕๔/๔๓๕)
D ทิศเฉียง หมายถึงทิศย่อยของทิศใหญ่หรือทิศรอง (วิสุทฺธิ.มหาฏีกา ๑/๒๕๔/๔๓๕)
E มหัคคตะ หมายถึงอารมณ์ที่ถึงความเป็นใหญ่ชั้นรูปาวจรและอรูปาวจร เพราะมีผลที่สามารถข่มกิเลสได้ และหมายถึง ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และปัญญาอันยิ่งใหญ่ (อภิ.สงฺ.อ. ๑๒/๙๒)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.