10-063 เรื่องความเป็นอัจฉริยะของพระอานนท์



พระไตรปิฎก


เรื่องความเป็นอัจฉริยะของพระอานนท์
{๑๓๕}[๒๐๗] เวลานั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปสู่พระวิหาร A ยืนเหนี่ยวไม้สลักเพชร
ร้องไห้อยู่ว่า “เรายังเป็นเสขบุคคล มีกิจที่จะต้องทำ แต่พระศาสดาผู้ทรงอนุเคราะห์
เราจะปรินิพพานเสียแล้ว”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสถามว่า “อานนท์ไปไหน”
พวกภิกษุกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระอานนท์เข้าไปยังพระ
วิหาร ยืนเหนี่ยวไม้สลักเพชรร้องไห้อยู่ว่า ‘เรายังเป็นเสขบุคคล มีกิจที่จะต้องทำ
แต่พระศาสดาผู้ทรงอนุเคราะห์เราจะปรินิพพานเสียแล้ว”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาตรัสว่า “ภิกษุ เธอจงไป
บอกอานนท์ตามคำเราว่า ‘ท่านอานนท์ พระศาสดารับสั่งหาท่าน”
ภิกษุรูปนั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่
บอกว่า “ท่านอานนท์ พระศาสดารับสั่งหาท่าน”
ท่านพระอานนท์รับคำแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพระอานนท์ดังนี้ว่า “อย่าเลย อานนท์ เธออย่า
เศร้าโศก อย่าคร่ำครวญเลย เราบอกไว้ก่อนแล้วมิใช่หรือว่า ‘ความพลัดพราก
ความทอดทิ้ง ความแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นจากของรักของชอบใจทุกอย่างจะต้องมี
ฉะนั้น จะพึงหาได้อะไรจากที่ไหนในสังขารนี้ สิ่งที่เกิดขึ้น มีขึ้น ถูกปัจจัยปรุงแต่ง
ล้วนแตกสลายเป็นธรรมดา เป็นไปไม่ได้ที่จะปรารถนาว่า ‘ขอสิ่งนั้นอย่าเสื่อมสลาย
ไปเลย’ เธออุปัฏฐากตถาคตมาช้านาน ด้วยเมตตากายกรรม อันเกื้อกูล ให้เกิดสุข
เสมอต้นเสมอปลาย ไม่มีประมาณ ด้วยเมตตาวจีกรรม อันเกื้อกูล ให้เกิดสุข
เสมอต้นเสมอปลาย ไม่มีประมาณ ด้วยเมตตามโนกรรม อันเกื้อกูล ให้เกิดสุข
เสมอต้นเสมอปลาย ไม่มีประมาณ อานนท์ เธอได้ทำบุญไว้แล้ว จงประกอบ
ความเพียรเข้าเถิด เธอจะเป็นผู้สิ้นอาสวะโดยเร็ว”
[๒๐๘] จากนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุผู้อุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายใน
อดีตกาล ที่จัดว่าเป็นผู้อุปัฏฐากผู้ยอดเยี่ยมก็เหมือนอานนท์ของเรานี้เอง
ภิกษุผู้อุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายใน
อนาคตกาล ที่จัดว่าเป็นอุปัฏฐากผู้ยอดเยี่ยมก็เหมือนอานนท์ของเรานี้เอง
อานนท์เป็นบัณฑิต อานนท์มีปัญญาหลักแหลม ย่อมรู้ว่า ‘นี้เป็นเวลา
ของภิกษุที่จะเข้าเฝ้าพระตถาคต นี้เป็นเวลาของภิกษุณี นี้เป็นเวลาของอุบาสก
นี้เป็นเวลาของอุบาสิกา นี้เป็นเวลาของพระราชา นี้เป็นเวลาของราชมหาอำมาตย์
นี้เป็นเวลาของเดียรถีย์ นี้เป็นเวลาของสาวกเดียรถีย์’
{๑๓๖}[๒๐๙] ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะ ไม่เคยปรากฏ ๔ ประการนี้ มีอยู่
ในอานนท์
ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ถ้าภิกษุบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้าอานนท์
แสดงธรรมในภิกษุบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มีใจยินดี
ภิกษุบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
๒. ถ้าภิกษุณีบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้า
อานนท์แสดงธรรมในภิกษุณีบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มีใจ
ยินดี ภิกษุณีบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
๓. ถ้าอุบาสกบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้าอานนท์
แสดงธรรมในอุบาสกบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มีใจยินดี
อุบาสกบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
๔. ถ้าอุบาสิกาบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี
ถ้าอานนท์แสดงธรรมในอุบาสิกาบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรม
ก็มีใจยินดี อุบาสิกาบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการนี้แล มีอยู่ใน
อานนท์ B
ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการนี้มีอยู่ในพระเจ้า
จักรพรรดิ
ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ถ้าขัตติยบริษัทเข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ แม้เพียงได้เข้าเฝ้าก็มีใจ
ยินดี ถ้าพระเจ้าจักรพรรดิมีพระราชปฏิสันถารในขัตติยบริษัทนั้น
แม้เพียงมีพระราชปฏิสันถารก็มีใจยินดี ขัตติยบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม
เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิทรงนิ่ง
๒. ถ้าพราหมณบริษัทเข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ แม้เพียงได้เข้าเฝ้าก็
มีใจยินดี ถ้าพระเจ้าจักรพรรดิมีพระราชปฏิสันถารในพราหมณ-
บริษัทนั้น แม้เพียงมีพระราชปฏิสันถารก็มีใจยินดี พราหมณบริษัท
ยังไม่เต็มอิ่ม เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิทรงนิ่ง
๓. ถ้าคหบดีบริษัทเข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ แม้เพียงได้เข้าเฝ้าก็มี
ใจยินดี ถ้าพระเจ้าจักรพรรดิมีพระราชปฏิสันถารในคหบดีบริษัทนั้น
แม้เพียงมีพระราชปฏิสันถารก็มีใจยินดี คหบดีบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม
เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิทรงนิ่ง
๔. ถ้าสมณบริษัทเข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ แม้เพียงได้เข้าเฝ้าก็มีใจ
ยินดี ถ้าพระเจ้าจักรพรรดิมีพระราชปฏิสันถารในสมณบริษัทนั้น
แม้เพียงมีพระราชปฏิสันถารก็มีใจยินดี สมณบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม
เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิทรงนิ่ง ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการนี้แล มีอยู่ในพระเจ้า
จักรพรรดิ
ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
มีอยู่ในอานนท์
ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ถ้าภิกษุบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้า
อานนท์แสดงธรรมในภิกษุบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มีใจ
ยินดี ภิกษุบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
๒. ถ้าภิกษุณีบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้า
อานนท์แสดงธรรมในภิกษุณีบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มีใจ
ยินดี ภิกษุณีบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
๓. ถ้าอุบาสกบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้า
อานนท์แสดงธรรมในอุบาสกบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มี
ใจยินดี อุบาสกบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
๔. ถ้าอุบาสิกาบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้า
อานนท์แสดงธรรมในอุบาสิกาบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มี
ใจยินดี อุบาสิกาบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะ ไม่เคยปรากฏ ๔ ประการนี้แล มีอยู่ใน
อานนท์” C
เชิงอรรถ
A วิหาร ในที่นี้หมายถึงพลับพลา (มณฺฑลมาล) (ที.ม.อ. ๒๐๗/๑๙๑)
B ดู องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๒๙/๑๙๗-๑๙๘
C ดู องฺ.จตุกฺก (แปล) ๒๑/๑๓๐/๑๙๘-๑๙๙

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.