10-036 การสร้างเมืองปาฏลีบุตร



พระไตรปิฎก


การสร้างเมืองปาฏลีบุตร A
{๘๒}[๑๕๒] สมัยนั้น มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะชาวแคว้นมคธ
สร้างเมืองในปาฏลิคามเพื่อป้องกันพวกเจ้าวัชชี เทวดาจำนวนมากจับจองที่เป็นพัน ๆ
แห่ง ในปาฏลิคาม จิตของพระราชาและราชมหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์ใหญ่ ย่อมน้อมไป
เพื่อจะสร้างนิเวศน์ในที่ที่เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่จับจอง จิตของพระราชาและราช-
มหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์ปานกลาง ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในที่ที่เทวดาผู้มีศักดิ์
ปานกลางจับจอง จิตของพระราชาและราชมหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์น้อย ย่อมน้อมไป
เพื่อจะสร้างนิเวศน์ในที่ที่เทวดาผู้มีศักดิ์น้อยจับจอง B
พระผู้มีพระภาคทรงเห็นเทวดาจำนวนมากเหล่านั้น พากันจับจองที่เป็น
พัน ๆ แห่ง ในปาฏลิคาม ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ครั้นในเวลาเช้า
เมื่อเสด็จลุกขึ้น รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสถามว่า “อานนท์ ใครจะสร้าง
เมืองในปาฏลิคาม”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะ
ชาวแคว้นมคธกำลังจะสร้างเมืองในปาฏลิคาม เพื่อป้องกันพวกเจ้าวัชชี พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะชาว
แคว้นมคธ จะสร้างเมืองในปาฏลิคาม เพื่อป้องกันพวกเจ้าวัชชี เหมือนได้ปรึกษา
กับพวกเทพชั้นดาวดึงส์แล้ว ณ ที่นี้ เราได้เห็นเทวดาจำนวนมากพากันจับจองที่
เป็นพัน ๆ แห่ง ในปาฏลิคาม ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ จิตของ
พระราชาและราชมหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์ใหญ่ ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในที่ที่
เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่จับจอง จิตของพระราชาและราชมหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์ปานกลาง
ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในที่ที่เทวดาผู้มีศักดิ์ปานกลางจับจอง จิตของพระราชา
และราชมหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์น้อย ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในที่ที่เทวดาผู้มี
ศักกดิ์น้อยจับจอง ตราบใดที่ยังเป็นแดนที่อารยชนติดต่อกันอยู่ ตราบใดที่ยังเป็นเส้น
ทางค้าขาย ตราบนั้น เมืองปาฏลีบุตรนี้ยังจะเป็นเมืองชั้นเยี่ยม เป็นย่านการค้าอยู่
ต่อไป แต่เมืองปาฏลีบุตรนั้นจะมีอันตราย ๓ อย่าง คือ อันตรายจากไฟ อันตราย
จากน้ำ หรืออันตรายจากการแตกความสามัคคี”
{๘๓}[๑๕๓] ต่อมา มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะชาวแคว้นมคธ
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ
พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ โปรดรับภัตตาหาร
ของพวกข้าพระองค์ในวันนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี
เมื่อมหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะชาวแคว้นมคธทราบพระอาการ
ที่พระผู้พระภาคทรงรับนิมนต์แล้วจึงเข้าไปยังที่พักของตน สั่งให้จัดเตรียมของขบฉัน
อันประณีตไว้ในที่พักของตนแล้วให้คนไปกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคว่า “ได้เวลาแล้ว
ภัตตาหารเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร C
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จเข้าไปยังที่พักของมหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์
วัสสการะชาวแคว้นมคธ ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว มหาอำมาตย์
ทั้งสองได้นำของขบฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน
ให้อิ่มหนำด้วยมือของตน ๆ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จวางพระหัตถ์จากบาตร
มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะชาวแคว้นมคธเลือกที่นั่ง ณ ที่สมควรที่
ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาด้วยพระคาถาเหล่านี้ว่า
“{๘๔}บัณฑิตอยู่ในที่ใด เลี้ยงดูท่านผู้มีศีล
ผู้สำรวม ประพฤติพรหมจรรย์ ในที่ที่ตนอยู่นั้น
พึงอุทิศทักษิณา D แก่เหล่าเทวดาผู้สถิตอยู่ในที่นั้น
เทวดาเหล่านั้นอันเขาบูชาแล้ว ย่อมบูชาตอบ
อันเขานับถือแล้ว ย่อมนับถือเขาตอบ
จากนั้นย่อมอนุเคราะห์บัณฑิตนั้นเป็นการตอบแทน
ดุจมารดาอนุเคราะห์บุตรผู้เกิดแต่อก E
ดังนั้น ผู้ที่เทวดาอนุเคราะห์แล้ว
ย่อมพบเห็นแต่สิ่งที่เจริญทุกเมื่อ”
{๘๕} ครั้นทรงอนุโมทนาแก่มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะชาวแคว้น
มคธด้วยพระคาถาเหล่านี้ ทรงลุกจากพุทธอาสน์เสด็จจากไป
[๑๕๔] ลำดับนั้น มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะชาวแคว้นมคธ
ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคไปเบื้องพระปฤษฎางค์ ด้วยคิดว่า “ประตูที่ท่านพระสมณ-
โคดมเสด็จออกไปในวันนี้จะมีชื่อว่าประตูพระโคดม ท่าที่พระองค์เสด็จข้ามแม่น้ำ
คงคาจะมีชื่อว่าท่าพระโคดม”
ต่อมา ประตูที่พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจึงได้มีชื่อว่า ประตูพระโคดม คราวนั้น
พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปใกล้แม่น้ำคงคา เวลานั้น แม่น้ำคงคาเต็มเสมอฝั่ง
นกกา(ก้ม)ดื่มกินได้ คนทั้งหลายผู้ปรารถนาจะข้ามฟาก บางพวกเที่ยวหาเรือ
บางพวกเที่ยวหาแพ บางพวกผูกทุ่น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ทรง
หายไปจากฝั่งนี้แห่งแม่น้ำคงคาไปปรากฏที่ฝั่งโน้น เหมือนบุรุษมีกำลัง
เหยียดแขนออก หรือคู้แขนเข้าฉะนั้น
พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรคนเหล่านั้นผู้ปรารถนาจะข้ามฟาก บางพวก
เที่ยวหาเรือ บางพวกเที่ยวหาแพ บางพวกผูกทุ่น เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบ
ความนั้นแล้ว ทรงเปล่งอุทานในเวลานั้นว่า
“คนพวกหนึ่งกำลังสร้างสะพาน F
ข้ามสระ G ใหญ่ โดยมิให้แปดเปื้อนด้วยโคลนตม
ขณะที่คนอีกพวกหนึ่งกำลังผูกทุ่นอยู่
ชนผู้ฉลาดได้ข้ามพ้นไปแล้ว”
ภาณวารที่ ๑ จบ
เชิงอรรถ
A ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๒๘๖/๑๐๐-๑๐๑
B ทราบว่า เทวดาเหล่านี้ เข้าสิงในร่างของคนผู้เชี่ยวชาญวิชาดูพื้นที่ แล้วให้ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้น บอกว่า ควรจะสร้างบ้านเมืองที่นั้นที่นี้ ด้วยประสงค์จะให้พระราชาและราชมหาอำมาตย์ผู้มีศักดิ์ใหญ่ มีศักดิ์ปานกลาง มีศักดิ์น้อยใกล้ชิดกับตน และทำสักการะสมควรแก่ตน (วิ.อ. ๓/๒๘๖/๑๗๙)
C ครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร เป็นสำนวนแสดงประเพณีในการเข้าบ้าน นี้มิใช่ว่าก่อนหน้านี้ พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงนุ่งสบง ถือบาตรและจีวรไปโดยเปลือยพระวรกายส่วนบน
ครองอันตรวาสก หมายถึง พระผู้มีพระภาคทรงผลัดเปลี่ยนสบง หรือขยับสบงที่นุ่งอยู่ให้กระชับ
ถือบาตรและจีวร หมายถึงทรงถือ บาตรด้วยพระหัตถ์ ทรงถือจีวรด้วยพระวรกาย คือ ห่มจีวรอุ้มบาตรนั่นเอง(วิ.อ. ๑/๑๖/๑๘๐, ที.ม.อ.๑๕๓/๑๔๓, ที.ม.ฏีกา ๑๕๓/๑๗๑)
D พึงอุทิศทักษิณา หมายถึงพึงให้ส่วนบุญ (ที.ม.อ. ๒/๑๕๓/๑๔๓)
E บุตรผู้เกิดแต่อก หมายถึงบุตรที่มารดาเลี้ยงดูให้เจริญอยู่แนบอก (ที.ม.อ. ๑๔๓/๑๔๓)
F สะพาน หมายถึงอริยมรรค (ที.ม.อ. ๑๕๔/๑๔๔)
G สระ หมายถึงตัณหา (ที.ม.อ. ๑๕๔/๑๔๔)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.