10-016 คู่พระอัครสาวก
พระไตรปิฎก
คู่พระอัครสาวก
{๔๘}[๗๒] ภิกษุทั้งหลาย ต่อมา พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงพระดำริว่า ‘เราจะพึง
แสดงธรรมแก่ใครก่อน ใครจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน’ แล้วทรงพระดำริต่อไปว่า
‘พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ อาศัยอยู่ในกรุงพันธุมดี
ราชธานี เป็นคนเฉลียวฉลาด หลักแหลม มีธุลีในดวงตาเบาบางมานาน ทางที่ดี
เราพึงแสดงธรรมแก่เธอทั้งสองก่อน เธอทั้งสองจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน’
[๗๓] พระวิปัสสีพุทธเจ้า ทรงหายไปจากควงต้นโพธิ์มาปรากฏที่เขมมฤคทายวัน
ในกรุงพันธุมดีราชธานี เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
ได้รับสั่งเรียกคนเฝ้าสวนมาตรัสว่า ‘มานี่เถิด นายทายบาล เธอจงเข้าไปยังกรุง
พันธุมดีราชธานี บอกราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะว่า
‘พระวิปัสสีพุทธเจ้าเสด็จถึงกรุงพันธุมดีราชธานี ประทับอยู่ที่เขมมฤคทายวัน
มีพระประสงค์จะพบท่านทั้งสอง’
นายทายบาลทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เข้าไปยังกรุงพันธุมดีราชธานี กราบทูล
แก่พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบอกบุตรปุโรหิตชื่อติสสะดังนี้ว่า ‘พระวิปัสสี
พุทธเจ้าเสด็จถึงกรุงพันธุมดีราชธานี ประทับอยู่ที่เขมมฤคทายวัน มีพระประสงค์
จะพบท่านทั้งสอง’
[๗๔] พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ สั่งให้บุรุษ
เทียมยานพาหนะคันงาม ๆ แล้วขึ้นยานพาหนะคันงามออกจากกรุงพันธุมดีราชธานี
พร้อมกับยานพาหนะคันงาม ๆ ติดตามอีกหลายคัน ขับตรงไปยังเขมมฤคทายวัน
จนสุดทางที่ยานพาหนะจะเข้าไปได้ แล้วลงจากยานเดินตรงเข้าไปเฝ้าพระวิปัสสี
พุทธเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
[๗๕] พระวิปัสสีพุทธเจ้าตรัสอนุปุพพิกถา A แก่พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะ
และบุตรปุโรหิตชื่อติสสะเหล่านั้น คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา (เรื่องทาน)
๒. สีลกถา (เรื่องศีล)
๓. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์)
๔. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม)B
๕. เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม)
เมื่อทรงทราบว่า พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะมีจิต
ควรบรรลุธรรม อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิก-
ธรรมเทศนา C ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุ
ปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดขึ้นแก่พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตร
ปุโรหิตชื่อติสสะ ณ อาสนะนั้นแลว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา‘เหมือนผ้าขาวสะอาด ปราศจากมลทิน
ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
[๗๖] พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะเห็นธรรมแล้ว
บรรลุธรรมแล้ว รู้ธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว หมดความสงสัยแล้วปราศจาก
ความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น D ในคำสอนของพระศาสดา
ได้กราบทูลพระวิปัสสีพุทธเจ้าว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มี
พระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตาม
ประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์ทั้งสองนี้ขอถึงพระ
ผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมเป็นสรณะ และพึงได้การบรรพชาพึงได้การอุปสมบท
ในสำนักของพระผู้มีพระภาค’
[๗๗] พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ ได้การบรรพชา
ได้การอุปสมบทในสำนักของพระวิปัสสีพุทธเจ้า พระองค์ทรงชี้แจงให้ภิกษุเหล่านั้น
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงประกาศโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมอง
ของสังขารและอานิสงส์ในนิพพาน จิตของพระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตร
ปุโรหิตชื่อติสสะอันพระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไป
ปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
ไม่นานนัก ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น
เชิงอรรถ
A อนุปุพพิกถา หมายถึงธรรมเทศนาที่แสดงเนื้อความลุ่มลึกลงไปโดยลำดับ เพื่อขัดเกลาอัธยาศัยของผู้ฟัง ให้ประณีตขึ้นไปเป็นชั้น ๆ จนพร้อมที่จะทำความเข้าใจในธรรมส่วนปรมัตถ์ (ที.สี.อ. ๒๙๘/๒๕๐)
B แปลมาจากคำว่า กามานํ อาทีนวํ โอการํ สํกิเลสํ
C สามุกกังสิกธรรมเทศนา หมายถึงธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ทรงเห็น ด้วยสยัมภูญาณ ไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น คือมิได้รับแนะนำจากผู้อื่น ตรัสรู้ลำพังพระองค์เองก่อนใครในโลก (วิ.อ. ๓/๒๙๓/๑๘๑, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๖/๒๓๗, ที.สี.อ. ๒๙๘/๒๕๐)
D ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น หมายถึงไม่ต้องอาศัยผู้อื่นคอยแนะนำพร่ำสอนในคำสอนของพระศาสนา ไม่ได้หมายถึง ว่า ไม่ต้องเชื่อใคร (อปรปฺปจฺจโย =ไม่มีใครอื่นอีกเป็นปัจจัย) (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๑๘/๒๒๒)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต