26-396 คาถาของพระสารีบุตรเถระ



พระไตรปิฎก


๒. สารีปุตตเถรคาถา
ภาษิตของพระสารีบุตรเถระ

(พระสารีบุตรเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตแก่ภิกษุทั้งหลาย จึงได้กล่าว
ภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๙๘๑] ผู้ใดมีสติประพฤติเหมือนผู้สำรวมกาย เหมือนสัตบุรุษ
ไม่ประมาท เหมือนผู้สำรวมความคิด
ยินดีในการเจริญกรรมฐานไว้ภายใน
มีจิตตั้งมั่นดีอยู่ผู้เดียว สันโดษ
นักปราชญ์ทั้งหลาย เรียกผู้นั้นว่าเป็นภิกษุ
[๙๘๒] ภิกษุ เมื่อฉันอาหารสดก็ตาม แห้งก็ตาม
ไม่พึงฉันให้อิ่มเกินไป ไม่พึงฉันให้น้อยเกินไป
พึงฉันแต่พอประมาณ พึงมีสติอยู่
[๙๘๓] พึงเลิกฉันก่อนอิ่ม ๔-๕ คำ แล้วดื่มน้ำ
เท่านี้ก็เพียงพอเพื่ออยู่ผาสุก
ของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยวมุ่งนิพพาน
[๙๘๔] อนึ่ง การนุ่งห่มจีวรที่สมควร ซึ่งเป็นประโยชน์
นี้ก็เพียงพอเพื่ออยู่ผาสุก
ของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยวมุ่งนิพพาน
[๙๘๕] เมื่อภิกษุนั่งขัดสมาธิในกุฎีใด ฝนตกไม่เปียกเข่าทั้งสอง
กุฎีเท่านี้ ก็เพียงพอเพื่ออยู่ผาสุก
ของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยวมุ่งนิพพาน
[๙๘๖] ภิกษุใดพิจารณาเห็นสุขโดยความเป็นทุกข์
เห็นทุกข์เป็นเหมือนลูกศรคอยทิ่มแทงได้
ภิกษุนั้น ไม่ได้มีความยึดมั่นในอทุกขมสุขเวทนาทั้ง ๒ นั้น
ว่าเป็นของเนื่องในตน
เธอจะพึงถูกกิเลสอะไรผูกมัดไว้ในโลกได้อย่างไร
[๙๘๗] ภิกษุผู้มีความปรารถนาลามก
เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน
มีการเล่าเรียนน้อย ไม่เอื้อเฟื้อ
อย่าได้มีในสำนักเรา ในกาลไหน ๆ เลย
(เพราะ)คนเช่นนั้นในสัตวโลก
จะพึงสอนแบบไหนอย่างไรได้
[๙๘๘] ส่วนภิกษุผู้เป็นพหูสูต มีปัญญา
ตั้งมั่นดีในศีล ประกอบความสงบใจเนือง ๆ อยู่
ขอจงมาสถิตอยู่บนกระหม่อมของเราเถิด
[๙๘๙] ภิกษุใดประกอบธรรมเป็นเหตุให้เนิ่นช้า A อยู่เนือง ๆ
มีใจยินดีในธรรมเป็นเหตุให้เนิ่นช้า
ภิกษุนั้น ชื่อว่าพลาดจากนิพพาน
ซึ่งเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม
[๙๙๐] ส่วนภิกษุใดละธรรมเป็นเหตุให้เนิ่นช้าได้แล้ว
ยินดีแล้วในทางแห่งธรรมซึ่งเป็นเหตุไม่ให้เนิ่นช้า
ภิกษุนั้นบรรลุนิพพาน
ซึ่งเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม
[๙๙๑] พระอรหันต์ทั้งหลาย อยู่สถานที่ใด
คือ จะเป็นบ้านก็ตาม ป่าก็ตาม ที่ลุ่มก็ตาม ที่ดอนก็ตาม
สถานที่นั้น เป็นรมณียสถาน
[๙๙๒] ท่านผู้ปราศจากราคะทั้งหลาย
จะยินดีป่าทั้งหลาย อันน่ารื่นรมย์
ที่ชนผู้แสวงหากามไม่ยินดี
เพราะท่านเหล่านั้น ไม่แสวงหากาม
[๙๙๓] บุคคลพึงเห็นผู้มีปัญญามักชี้โทษ
มักพูดปรามไว้ เหมือนผู้ชี้บอกขุมทรัพย์
(และ) พึงคบผู้ที่เป็นบัณฑิตเช่นนั้น
เพราะเมื่อคบคนเช่นนั้น ย่อมมีแต่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อมเลย
[๙๙๔] ผู้ใดพึงกล่าวสอนพร่ำสอน และห้ามจากความชั่ว
ผู้นั้นย่อมเป็นที่รักของสัตบุรุษทั้งหลาย
แต่ไม่เป็นที่รักของอสัตบุรุษทั้งหลาย
[๙๙๕] พระผู้มีพระภาคตรัสรู้แล้ว ทรงมีพระจักษุ
ได้ทรงแสดงธรรมโปรดผู้อื่น
เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่
เรามุ่งประโยชน์ ได้ตั้งใจฟัง
การตั้งใจฟังของเรานั้น ไม่ไร้ประโยชน์
จึงเป็นผู้หลุดพ้นแล้วหาอาสวะมิได้
[๙๙๖] เราไม่ได้ตั้งความปรารถนาไว้
เพื่อปุพเพนิวาสญาณ B ทิพพจักขุญาณ C
เจโตปริยญาณ D อิทธิวิธญาณ E
จุตูปปาตญาณ F และทิพพโสตญาณ G
(ยักษ์กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๙๙๗] พระเถระโล้นชื่ออุปติสสะนั่นแหละ
ยอดเยี่ยมด้วยปัญญา
ครองผ้าสังฆาฏิอาศัยโคนไม้นั่นเองนั่งเข้าฌานอยู่
[๙๙๘] สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าสมาบัติอันไม่มีวิตก
เป็นผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้นิ่งอย่างประเสริฐโดยแท้จริง
[๙๙๙] ภูเขาศิลาล้วน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว แม้ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นเพราะสิ้นโมหะ ย่อมไม่หวั่นไหวเหมือนภูเขา
(พระสารีบุตรเถระฟังคำของสามเณรนั้นแล้ว จึงได้กล่าวภาษิตว่า)
[๑๐๐๐] คนผู้ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน
ใฝ่ใจแสวงหาความสะอาดอยู่เป็นนิตย์
ความชั่วเพียงเท่าปลายขนทราย
ย่อมปรากฏดังเท่าก้อนเมฆ
(พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงว่าตนมีจิตเสมอกัน ทั้งตาย ทั้งเป็นอยู่ จึง
กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๐๐๑] เราไม่อยากตาย ไม่อยากเป็นอยู่
แต่เรามีสติสัมปชัญญะอยู่เฉพาะหน้า จักละกายนี้
[๑๐๐๒] เราไม่อยากตาย ไม่อยากเป็นอยู่
แต่เราคอยเวลาอันควร
เหมือนลูกจ้างทำการงานคอยค่าจ้าง
(และเมื่อจะแสดงธรรมแก่ผู้อื่น จึงได้กล่าวไว้อีก ๒ ภาษิตว่า)
[๑๐๐๓] ความตายนี้มีแน่นอนใน ๒ คราว
คือ คราวแก่และคราวหนุ่มจะไม่ตาย ไม่มี
เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ อย่าพินาศเลย
ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย
[๑๐๐๔] เมืองชายแดนได้รับการคุ้มครองทั้งภายในและภายนอก ฉันใด
ท่านทั้งหลายโปรดคุ้มครองตนให้ได้ ฉันนั้น
ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย
เพราะเหล่าชนที่ปล่อยให้ขณะล่วงเลยไป
ย่อมแออัดกันในนรก เศร้าโศกอยู่
(พระสารีบุตรเถระ พบท่านพระมหาโกฏฐิตะเมื่อจะประกาศเกียรติคุณของท่าน
จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๐๐๕] ภิกษุผู้สงบ งดเว้นจากการทำชั่ว
พูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน
ย่อมกำจัดบาปธรรมทั้งหลายได้
เหมือนกับลมพัดใบไม้ให้ร่วงหล่น
[๑๐๐๖] ภิกษุผู้สงบระงับ งดเว้นจากการทำความชั่ว
มักพูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน
ย่อมกำจัดบาปธรรมได้แล้ว
เหมือนกับลมพัดใบไม้ให้ลอยไป
[๑๐๐๗] ภิกษุผู้สงบระงับ ไม่มีความคับแค้น
มีใจผ่องใสไม่ขุ่นมัว มีศีลอันงาม
เป็นปราชญ์ พึงทำที่สุดทุกข์ได้
(พระสารีบุตรเถระปรารภพวกภิกษุวัชชีบุตรที่เชื่อพระเทวทัตต์ จึงได้กล่าว
ภาษิตทั้งหลายไว้ว่า)
[๑๐๐๘] บุคคลไม่พึงไว้ใจในปุถุชนบางพวก
ทั้งที่เป็นคฤหัสถ์และบรรพชิต
แม้เบื้องต้นเขาจะเป็นคนดี ภายหลังจะเป็นคนไม่ดี
หรือเบื้องต้นเป็นคนไม่ดี ภายหลังจะกลับเป็นคนดีก็ตาม
[๑๐๐๙] นิวรณธรรม ๕ เหล่านี้ คือ
(๑) กามฉันทะ (๒) พยาบาท (๓) ถีนมิทธะ
(๔) อุทธัจจกุกกุจจะ (๕) วิจิกิจฉา
เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองใจของภิกษุ
[๑๐๑๐] สมาธิของภิกษุใดผู้มีปกติอยู่ด้วยความไม่ประมาท
ย่อมไม่หวั่นไหวด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ
(๑) ด้วยมีผู้สักการะ (๒) ด้วยไม่มีผู้สักการะ
[๑๐๑๑] ภิกษุผู้เข้าฌาน มีความเพียรต่อเนื่อง
พิจารณาเห็นด้วยปัญญาที่สุขุม
ยินดีในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปาทาน H นั้น
นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกว่า สัตบุรุษ
[๑๐๑๒] มหาสมุทร ๑ แผ่นดิน ๑ ภูเขา ๑ ลม ๑
ไม่ควรที่จะเปรียบเทียบกับความหลุดพ้นอย่างประเสริฐ
ของพระศาสดา
[๑๐๑๓] พระเถระผู้ประพฤติตามพระธรรมจักร
ที่พระศาสดาทรงให้เป็นไป มีปัญญามาก มีจิตตั้งมั่น
เป็นผู้เสมอด้วยแผ่นดิน น้ำ และไฟ ไม่ยินดี ย่อมไม่ยินร้าย
[๑๐๑๔] ภิกษุถึงที่สุดสาวกปัญญาบารมี มีความรู้มาก เป็นมหามุนี
ไม่โง่เขลา ไม่ใช่เหมือนผู้โง่เขลา เป็นผู้เย็นอยู่เป็นนิตย์
[๑๐๑๕] เราปรนนิบัติพระศาสดา ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
ปลงภาระที่หนักได้ ถอนตัณหาที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว
[๑๐๑๖] ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น
ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด นี้เป็นคำพร่ำสอนของเรา
เราหลุดพ้นจากกิเลสและภพได้ทั้งหมดแล้ว จะปรินิพพานละ
เชิงอรรถ
A ความยินดีในกามและความติดในรูปเป็นต้น (ขุ.เถร.อ. ๒/๙๘๙/๔๔๑)
B ความรู้ที่เป็นเครื่องระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อน ทั้งของตนและของผู้อื่น
C ความรู้คือดวงตาทิพย์
D ความรู้กำหนดใจผู้อื่นได้
E ความรู้ที่แสดงฤทธิ์ได้ต่าง ๆ
F ความรู้การจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย
G ความรู้ที่ทำให้ฟังได้ยินหมดตามปรารถนา (หูทิพย์) ๑-๖ (ขุ.เถร.อ. ๒/๙๙๖/๔๔๓)
H ความยึดมั่นถือมั่น (ขุ.เถร.อ. ๒/๑๐๑๑/๔๓๗)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!