26-369 คาถาของพระภูตเถระ



พระไตรปิฎก


๑. ภูตเถรคาถา
ภาษิตของพระภูตเถระ

(พระภูตเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[๕๑๘] เมื่อใด บัณฑิตกำหนดรู้ทุกข์ว่า
ชราและมรณะเป็นทุกข์ที่ปุถุชนทั้งหลาย
ผู้ติดอยู่ในเบญจขันธ์ไม่รู้แจ้ง
เป็นผู้มีสติ เข้าฌานอยู่
เมื่อนั้น ย่อมไม่ได้ความยินดีที่ประเสริฐยิ่งกว่า
ความยินดีในวิปัสสนา มรรคและผลนั้น
[๕๑๙] เมื่อใด บัณฑิตละตัณหาที่ซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ
อันนำทุกข์มาให้
นำทุกข์อันเกิดเพราะความต่อเนื่องแห่งปปัญจธรรม A
มีสติ เข้าฌานอยู่
เมื่อนั้น ย่อมไม่ได้ความยินดีที่ประเสริฐ
ยิ่งกว่าความยินดีวิปัสสนา มรรค และผลนั้น
[๕๒๐] เมื่อใด บัณฑิตสัมผัสทางอันสูงสุด ปลอดโปร่ง
ที่ให้ลุถึงมรรคมีองค์ ๘ เป็นที่ชำระกิเลสได้หมด
ด้วยปัญญา มีสติ เข้าฌานอยู่
เมื่อนั้น ย่อมไม่ได้ความยินดีที่ประเสริฐ
ยิ่งกว่าความยินดีในวิปัสสนามรรคและผลนั้น
[๕๒๑] เมื่อใด บัณฑิตเจริญสันตบท B ซึ่งไม่มีความเศร้าโศก
ปราศจากกิเลสดุจธุลี อันปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้
เป็นที่ชำระกิเลสได้หมด ตัดกิเลสเครื่องผูกพันคือสังโยชน์
เมื่อนั้น ย่อมไม่ได้ความยินดีที่ประเสริฐ
ยิ่งกว่าความยินดีในวิปัสสนา มรรค และผลนั้น
[๕๒๒] เมื่อใด กลองคือเมฆพรั่งพรูไปด้วยสายฝน
คำรามอยู่ในท้องฟ้า ซึ่งเป็นทางไปของฝูงนกโดยรอบ
และภิกษุผู้อยู่ประจำเงื้อมภูเขา ยังเข้าฌานอยู่
เมื่อนั้น ก็ย่อมไม่ได้ความยินดีที่ประเสริฐ
ยิ่งกว่าความยินดีในฌานนั้น
[๕๒๓] เมื่อใด บัณฑิตมีจิตเบิกบาน นั่งเข้าฌานอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำทั้งหลาย
ซึ่งดารดาษไปด้วยดอกโกสุม มีดอกไม้ป่าเป็นช่อสวยงาม
เมื่อนั้น ย่อมไม่ได้ความยินดีที่ประเสริฐ
ยิ่งกว่าความยินดีในฌานนั้น
[๕๒๔] เมื่อใด มีฝนฟ้าร้องในเวลากลางคืน
ฝูงสัตว์ที่มีเขี้ยวงาก็พากันยินดีในป่าใหญ่ที่สงัด
และภิกษุผู้อยู่ประจำเงื้อมภูเขา เข้าฌานอยู่
เมื่อนั้น ก็ย่อมไม่ได้ความยินดีที่ประเสริฐ
ยิ่งกว่าความยินดีในฌานนั้น
[๕๒๕] เมื่อใด ภิกษุกำจัดวิตกทั้งหลายของตนได้
เข้าถ้ำภายในภูเขา ปราศจากความกระวนกระวายใจ
ปราศจากกิเลสที่ตรึงใจโดยสิ้นเชิง เข้าฌานอยู่
เมื่อนั้น ย่อมไม่ได้ความยินดีที่ประเสริฐ
ยิ่งกว่าความยินดีในฌานนั้น
[๕๒๖] เมื่อใด ภิกษุมีความสุข
กำจัดกิเลสที่เป็นมลทินที่ตรึงใจและความโศกได้
ไม่มีกลอนประตูคืออวิชชา ไม่มีป่าคือตัณหา
ปราศจากลูกศรคือกิเลส
ทั้งทำอาสวะให้สิ้นไปได้หมด เข้าฌานอยู่
เมื่อนั้น ย่อมไม่ได้ความยินดีที่ประเสริฐ
ยิ่งกว่าความยินดีในฌานนั้น
เชิงอรรถ
A ธรรมเครื่องเนิ่นช้า หมายถึงธรรมที่ทำการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลายให้ยึดยาวออกไป ซึ่งได้แก่
ราคะ ความกำหนัด มานะ ความถือตัวเป็นต้น (ขุ.เถร.อ. ๒/๕๑๙/๑๘๐)
B นิพพาน (ขุ.เถร.อ. ๒/๕๒๑/๑๘๐)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!