26-063 วิมานที่มีรถทิพย์คันเล็กเป็นพาหนะเกิดขึ้นแก่สุชาติกุมาร



พระไตรปิฎก


๑๓. จูฬรถวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่มีรถทิพย์คันเล็กเป็นพาหนะเกิดขึ้นแก่สุชาตกุมาร

(พระมหากัจจายนเถระทูลถามสุชาตกุมารว่า)
[๙๘๑] นายขมังธนู ท่านยืนลดธนูไม้แก่นอันยอดเยี่ยมอยู่
ท่านเป็นกษัตริย์หรือราชกุมาร หรือเป็นพรานป่า
(สุชาตกุมารตรัสตอบว่า)
[๙๘๒] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นราชโอรสของพระเจ้าอัสสกะ
เที่ยวไปในป่า ภิกษุ ข้าพเจ้าขอบอกนามแก่ท่าน
ชนทั้งหลายรู้จักข้าพเจ้าว่า สุชาตะ
[๙๘๓] ข้าพเจ้าเที่ยวลัดเลาะไปยังป่าใหญ่ เสาะหาหมู่เนื้อ
ไม่ทันได้เห็นเนื้อนั้นเลย แต่มาพบท่านเข้า จึงได้หยุดยืนอยู่
(พระมหากัจจายนเถระทูลว่า)
[๙๘๔] พระองค์ผู้มีบุญมาก พระองค์เสด็จมาดีแล้ว ทั้งมิได้เสด็จมาร้าย
ขอเชิญพระองค์ทรงตักน้ำจากภาชนะนี้ล้างพระบาทของพระองค์เถิด
[๙๘๕] นี้น้ำเย็นน่าดื่มนำมาจากซอกเขา
พระราชโอรส ขอเชิญพระองค์เสวยน้ำจากภาชนะนั้นแล้ว
โปรดเสด็จเข้าไปประทับนั่งบนพื้นที่ปูลาดไว้แล้ว
(สุชาตกุมารตรัสว่า)
[๙๘๖] พระมหามุนี วาจาของท่านงามจริงหนอ
น่าฟัง ไม่มีโทษ มีแต่ประโยชน์ ไพเราะ
ท่านมีปัญญากล่าวแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์
[๙๘๗] ท่านยินดีอะไรจึงอยู่แต่ในป่า
พระฤๅษีผู้องอาจ ข้าพเจ้าถามแล้ว ท่านโปรดบอกด้วยเถิด
ข้าพเจ้าพิจารณาถ้อยคำของท่านแล้วจะประพฤติอย่างสม่ำเสมอ
ตามครรลองแห่งธรรมอันนำมาซึ่งประโยชน์
(พระมหากัจจายนเถระทูลว่า)
[๙๘๘] พระราชกุมาร อาตมภาพชอบการไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง
การงดเว้นจากการลักขโมย การประพฤติผิดประเวณี
และการดื่มน้ำเมา
[๙๘๙] ความงดเว้น ความประพฤติชอบ
ความเป็นพหูสูต ความกตัญญู
ธรรมเหล่านี้เป็นธรรมอันกุลบุตรพึงหวังในปัจจุบัน
อันวิญญูชนพึงสรรเสริญแท้
[๙๙๐] พระราชโอรส พระองค์ทรงทราบเถิดว่า พระองค์ใกล้สวรรคต
เหลืออีกไม่ถึง ๕ เดือน โปรดรีบเปลื้องตนเสียเถิด
(พระราชกุมารตรัสถามว่า)
[๙๙๑] ข้าพเจ้านั้นพึงไปชนบทไหน ทำการงานอะไร
และทำหน้าที่ของบุรุษอย่างไร หรือใช้วิชาอะไร จึงจะไม่แก่ไม่ตาย
(พระมหากัจจายนเถระทูลว่า)
[๙๙๒] พระราชโอรส ไม่มีสถานที่ที่สัตว์ไปแล้วไม่พึงแก่ไม่พึงตาย
ทั้งการงาน วิชา และหน้าที่ของบุรุษ
ที่สัตว์ทำแล้วจะไม่พึงแก่ไม่พึงตาย ก็ไม่มี
[๙๙๓] แม้ชนทั้งหลายที่มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก
ถึงจะเป็นกษัตริย์ผู้ครองแว่นแคว้น
มีทรัพย์และธัญญาหารมากมาย
จะไม่แก่ไม่ตาย ก็ไม่มีเลย
[๙๙๔] ถึงท่านผู้เป็นบุตรของชาวอันธกเวณฑุ ผู้ได้ศึกษาแล้ว
มีความสามารถแกล้วกล้าประหารข้าศึกได้
แม้ท่านเหล่านั้นซึ่งเสมอด้วยสิ่งที่ยั่งยืน
ก็ต้องถึงความสิ้นอายุสลายไป
[๙๙๕] แม้เหล่าชนที่เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์
ศูทร จัณฑาล ปุกกุสะ และชนประเภทอื่น
โดยชาติกำเนิดซึ่งจะไม่แก่ไม่ตายไม่มี
[๙๙๖] แม้เหล่าชนผู้ร่ายมนตร์พรหมจินดามีองค์ ๖ A
และเหล่าชนที่ใช้วิชาอื่น ๆ จะไม่แก่ไม่ตาย ก็ไม่มี
[๙๙๗] อนึ่ง แม้ฤๅษีทั้งหลายผู้สงบ สำรวมตน บำเพ็ญตบะ
ก็ยังต้องละทิ้งร่างกายไปตามกาลอันสมควร
[๙๙๘] แม้พระอรหันต์ทั้งหลายผู้อบรมตนแล้ว ทำกิจเสร็จแล้ว
ไม่มีอาสวะ สิ้นบุญและบาป ก็ยังต้องทอดทิ้งร่างกายนี้ไป
(พระราชกุมารตรัสว่า)
[๙๙๙] พระมหามุนี คาถาทั้งหลายของท่านเป็นสุภาษิต มีประโยชน์
ข้าพเจ้าโล่งใจ เพราะเนื้อความที่เป็นสุภาษิต
และขอท่านโปรดเป็นที่พึ่งที่ระลึกของข้าพเจ้าด้วย
(พระมหากัจจายนเถระทูลว่า)
[๑๐๐๐] ขอพระองค์จงอย่าทรงถึงอาตมภาพว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกเลย
ขอจงทรงถึงพระพุทธเจ้าผู้เป็นศากยบุตร ผู้มีความเพียรยิ่งใหญ่
ผู้ซึ่งอาตมภาพถือเป็นที่พึ่งที่ระลึกแล้ว
พระองค์นั้นแหละว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกเถิด
(พระราชกุมารตรัสถามว่า)
[๑๐๐๑] ท่านผู้นิรทุกข์ พระศาสดาของท่านพระองค์นั้น
ประทับอยู่ ณ ชนบทไหน
ถึงข้าพเจ้าก็จักไปเฝ้าพระชินเจ้าผู้หาบุคคลใดเสมอเหมือนมิได้
(พระเถระถวายพระพรว่า)
[๑๐๐๒] พระศาสดาผู้เป็นบุรุษอาชาไนย ทรงสมภพในราชวงศ์
ของพระเจ้าโอกกากราช ในชนบทด้านทิศตะวันออก
พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานเสียแล้ว
(พระราชกุมารตรัสว่า)
[๑๐๐๓] ท่านผู้นิรทุกข์ ถ้าพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของท่าน
ยังทรงพระชนม์อยู่ ถึงไกลหลายพันโยชน์
ข้าพเจ้าก็จะพึงไปเฝ้าใกล้ ๆ ให้จงได้
[๑๐๐๔] ท่านผู้นิรทุกข์ แต่เพราะพระบรมศาสดาของท่าน
เสด็จดับขันธปรินิพพานเสียแล้ว
ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงขอถึงพระองค์ผู้มีความเพียรยิ่งใหญ่
ซึ่งเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
[๑๐๐๕] ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า กับทั้งพระธรรมที่ยอดเยี่ยม
และพระสงฆ์ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกของเทวดา
และมนุษย์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
[๑๐๐๖] ข้าพเจ้าของดเว้นจากการฆ่าสัตว์โดยพลัน
ของดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ในโลก
ยินดีเฉพาะภรรยาของตน ไม่กล่าวเท็จ และไม่ดื่มน้ำเมา
(พระเถระถามเทพบุตรนั้นว่า)
[๑๐๐๗] รถใหญ่ของท่านนี้แผ่รัศมีไปโดยรอบกว้าง ๑๐๐ โยชน์
ดังดวงอาทิตย์มีรัศมีมากโคจรไปในท้องฟ้า ส่องแสงไปทั่วทุกทิศ
[๑๐๐๘] รถใหญ่ของท่านนี้บุด้วยแผ่นทองคำโดยรอบ
งอนรถนั้นวิจิตรด้วยแก้วมุกดาและแก้วมณี
แผ่นทองคำและแผ่นเงินมีลวดลายสวยงาม
ประดิษฐ์ด้วยแก้วไพฑูรย์ บรรจงสร้างไว้อย่างดี ทำให้แลดูงาม
[๑๐๐๙] และปลายงอนรถนี้สร้างด้วยแก้วไพฑูรย์
แอกรถนี้วิจิตรด้วยแก้วทับทิม
แม้ม้าเหล่านี้ก็ประดับด้วยทองและเงิน
วิ่งได้เร็วทันใจ แลดูสง่างาม
[๑๐๑๐] ท่านยืนสง่าอยู่บนรถทองคำเทียมด้วยม้า๑,๐๐๐ ตัวเป็นพาหนะ
เปรียบดังท้าวสักกะจอมเทพ ท่านผู้มียศ
อาตมภาพขอถามท่านผู้ชาญฉลาดว่า
ยศอย่างโอฬารนี้ท่านได้มาอย่างไร
(เทพบุตรตอบว่า)
[๑๐๑๑] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ชาติก่อนข้าพเจ้าเป็นราชโอรสนามว่าสุชาตะ
และพระคุณเจ้าได้อนุเคราะห์ให้ข้าพเจ้าได้ตั้งอยู่ในความสำรวม
[๑๐๑๒] อนึ่ง พระคุณเจ้ารู้ว่าข้าพเจ้าจะสิ้นอายุ
ได้มอบพระบรมสารีริกธาตุของพระศาสดาด้วยกล่าวว่า
สุชาตราชโอรส พระองค์จงทรงบูชาพระบรมสารีริกธาตุนี้
การบูชานั้นจักเป็นประโยชน์แก่พระองค์เอง
[๑๐๑๓] ข้าพเจ้าได้ขวนขวายบูชาพระบรมสารีริกธาตุนั้น
ด้วยของหอมและดอกไม้ทั้งหลาย
ครั้นละร่างมนุษย์แล้วได้เกิดในสวนนันทวัน
[๑๐๑๔] มีเหล่านางอัปสรฟ้อนรำขับร้องห้อมล้อมรื่นรมย์อยู่
ในสวนนันทวันอย่างงามเลิศ น่ารื่นรมย์
ขวักไขว่ไปด้วยฝูงนกนานาชนิด
จูฬรถวิมานที่ ๑๓ จบ
เชิงอรรถ
๑ มนตร์พรหมจินดามีองค์ ๖ คือ ๑. กัปปะ (ว่าด้วยวิธีเกี่ยวกับการบูชายัญ) ๒. พยากรณ์ (แสดงการแยกปกติ)
๓. นิรุตติ (แสดงรูปศัพท์ เติมปัจจัย) ๔. สิกขา (แสดงฐานกรณ์ และปตยนะของอักษร) ๕. ฉันโทวิจิติ
(แสดงลักษณะของฉันท์) ๖. โชติสัตถะ (แสดงลักษณะของดวงดาวที่บ่งถึงความเจริญหรือความเสื่อมของ
มนุษย์) (ขุ.วิ.อ. ๙๙๖/๓๐๙) เทียบ เวทางคศาสตร์ของพราหมณ์ มี ๖ อย่าง คือ ๑. ศึกษาวิธีออกเสียง
คำในพระเวทให้ถูกต้อง ๒. ไวยากรณ์ ๓. ฉันท์ ๔. เชยติส คือดาราศาสตร์ ๕. นิรุกติ คือกำเนิดของคำ
และ ๖. กัลปะ คือวิธีจัดทำพิธี (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ หน้า ๗๗๓)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!