26-050 วิมานที่เกิดขึ้นแก่หญิงผู้สักการะเคารพพระพุทธเจ้า



พระไตรปิฎก


๑๒. รัชชุมาลาวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่หญิงผู้สักการะเคารพพระพุทธเจ้า

(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพธิดาองค์หนึ่งว่า)
[๘๒๖] เทพธิดา เธอมีผิวพรรณงดงามยิ่งนัก
ขณะที่ดนตรีบรรเลงอยู่อย่างไพเราะ
เธอกรีดกรายมือและเท้าฟ้อนรำได้อย่างกลมกลืน
[๘๒๗] เมื่อเธอนั้นกำลังฟ้อนรำอยู่ เสียงทิพย์น่าฟัง น่ารื่นรมย์ใจ
ย่อมเปล่งออกจากอวัยวะน้อยใหญ่ทุกส่วนสัดของเธอ
[๘๒๘] ทั้งกลิ่นทิพย์ หอมระรื่นชื่นใจ
ก็ฟุ้งออกจากอวัยวะน้อยใหญ่ทุกส่วนสัดของเธอ
[๘๒๙] เมื่อเธอเยื้องไหวกายไปมา เสียงเครื่องประดับที่ช้องผม
ก็เปล่งเสียงดังไพเราะ น่าฟัง ดังเสียงดนตรีเครื่องห้า
[๘๓๐] อนึ่ง ต่างหูเพชรต้องลมสั่นไหว ก็ส่งเสียงดังไพเราะ
น่าฟัง ดังเสียงดนตรีเครื่องห้า
[๘๓๑] แม้มาลัยบนศีรษะของเธอมีกลิ่นหอมระรื่นชื่นใจ
ก็ส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วทุกทิศ ดุจต้นอุโลก
[๘๓๒] เธอสูดดมกลิ่นหอมระรื่นนั้น ทั้งได้เห็นรูปที่มิใช่ของมนุษย์
เทพธิดา อาตมาถามแล้ว ขอเธอจงบอกเถิดว่า
นี้เป็นผลของกรรมอันใดเล่า
(เทพธิดานั้นตอบว่า)
[๘๓๓] ชาติก่อน ดิฉันเกิดเป็นทาสีของพราหมณ์ในหมู่บ้านคยา
มีบุญน้อย ด้อยวาสนา คนทั้งหลายรู้จักดิฉันในนามว่า รัชชุมาลา
[๘๓๔] ดิฉันเสียใจอย่างหนัก เพราะถูกด่าว่า ถูกเฆี่ยนตีต่าง ๆ
และถูกคุกคามจึงถือหม้อน้ำออกไป ทำเป็นเสมือนจะไปตักน้ำ
[๘๓๕] ครั้นแล้วได้วางหม้อน้ำไว้ข้างทาง เข้าไปยังป่าชัฏโดยตัดสินใจว่า
จักตายในป่านี้แหละ เราอยู่ไปจะมีประโยชน์อะไรเล่า
[๘๓๖] จึงทำบ่วงให้แน่น แขวนเข้ากับต้นไม้
ทีนั้นก็เหลียวดูไปรอบทิศด้วยคิดเกรงว่า มีใครอยู่ในป่าไหมหนอ
[๘๓๗] ณ ที่นั้น ดิฉันได้เหลือบเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้เป็นจอมปราชญ์
ทรงเกื้อกูลสัตว์โลกทั้งมวล ผู้ไม่มีโรคภัย
ประทับนั่งเข้าฌานอยู่ที่โคนต้นไม้
[๘๓๘] ดิฉันนั้นเกิดความสังเวช ขนลุกชูชันอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน คิดว่า
ใครหนอมาอาศัยอยู่ในป่านี้ เป็นมนุษย์หรือเทวดากันแน่
[๘๓๙] เพราะได้เห็นพระพุทธองค์ผู้น่าเลื่อมใส ควรแก่การยินดี
เสด็จออกจากป่า แล้วมาสู่ความไม่มีป่า(คือกิเลส)
ใจของดิฉันก็เลื่อมใสด้วยคิดเห็นว่า
ท่านผู้นี้คงจะมิใช่คนธรรมดาสามัญเป็นแน่
[๘๔๐] ท่านผู้นี้คุ้มครองอินทรีย์ได้แล้ว ยินดีในฌาน มีใจไม่วอกแวก
จะต้องเป็นพระพุทธเจ้าผู้ทรงเกื้อกูลสัตว์โลกทั้งมวลเป็นแน่
[๘๔๑] ท่านผู้นี้เป็นที่น่าเกรงขาม
ผู้ซึ่งบุคคลที่ปราศจากความเพียรและความมาดหมาย
ทำให้ทรงชื่นชมได้ยาก ดังราชสีห์ซึ่งเป็นสัตว์อยู่ถ้ำ น่าเกรงขาม
ยากที่ใครจะทำให้ชื่นชมและยากที่จะได้พบเห็น เหมือนดอกมะเดื่อ
[๘๔๒] พระตถาคตเจ้าพระองค์นั้น ได้ตรัสเรียกดิฉันด้วยพระวาจาที่นุ่มนวลว่า
รัชชุมาลาและรับสั่งกับดิฉันว่า เธอจงถึงตถาคตเป็นที่พึ่งเถิด
[๘๔๓] ดิฉันฟังพระดำรัสอันปราศจากโทษ ประกอบด้วยประโยชน์
หมดจด ละเอียดอ่อน นุ่มนวลไพเราะ
เป็นเครื่องบรรเทาความโศกเศร้าทั้งปวงเสียได้นั้น จึงเกิดจิตเลื่อมใส
[๘๔๔] พระตถาคตผู้ทรงเกื้อกูลสัตว์โลกทุกหมู่เหล่า ทรงทราบว่า
ดิฉันมีจิตเลื่อมใส มีใจบริสุทธิ์ ควรแก่การรับฟัง
แล้วจึงได้ทรงพร่ำสอน
[๘๔๕] พระองค์ได้ตรัสสอนดิฉันว่า “นี้คือทุกข์ นี้คือเหตุเกิดทุกข์
นี้คือความดับทุกข์ และนี้คือทางสายตรงให้บรรลุอมตธรรม”A
[๘๔๖] ดิฉันดำรงอยู่ในพระโอวาทของพระตถาคต ผู้ทรงอนุเคราะห์
เกื้อกูล ทรงฉลาดว่า
“บุคคลได้บรรลุทางคือนิพพานซึ่งเป็นธรรมอันไม่ตาย
สงบระงับ ไม่มีการจุติ”
[๘๔๗] ดิฉันนั้นมีความภักดีมั่น ไม่หวั่นไหว
เพราะมีความเห็นชอบเป็นปกติ
ด้วยศรัทธาที่หยั่งรากลงแล้ว จึงได้เป็นธิดาที่แท้จริงของพระพุทธองค์
[๘๔๘] ดิฉันนั้นไม่มีภัย จึงเที่ยวรื่นเริงบันเทิงใจอยู่
ทัดทรงมาลัยทิพย์ ดื่มน้ำหวานที่ทำให้สดชื่น
[๘๔๙] เหล่าดุริยเทพ ๖๐,๐๐๐ องค์ ช่วยกันปลุกเร้าดิฉันให้เกิดปีติโสมนัส
ได้แก่ เทพบุตรมีนามว่า อาฬัมพะ คัคคระ ภีมะ สาธุวาที ปสังสยะ
[๘๕๐] โปกขระและสุผัสสะ เหล่าเทพธิดาน้อย ๆ มีนามว่า
วีณา โมกขา นันทา สุนันทา โสณทินนา สุจิมหิตา
[๘๕๑] อลัมพุสา มิสสเกสีและบุณฑริกา อนึ่ง เทพกัญญาอีกพวกหนึ่ง
คือเอณีปัสสา สุผัสสา สุภัททาและมุทุวาทินี
[๘๕๒] ผู้ประเสริฐกว่านางอัปสรทั้งหลาย
ผู้มีหน้าที่ปลุกเร้าให้เกิดปีติโสมนัส
เทวดาเหล่านั้น พอได้เวลาก็เข้ามาหาดิฉัน เสนอด้วยวาจาน่ายินดีว่า
[๘๕๓] เอาเถอะ พวกเราจักฟ้อนรำ ขับร้อง บำเรอเธอให้รื่นรมย์
สถานที่ที่ดิฉันได้รับในบัดนี้ มิใช่สถานที่สำหรับคนที่ไม่ได้ทำบุญไว้
แต่เป็นสถานที่สำหรับคนที่ได้ทำบุญไว้แล้วเท่านั้น
[๘๕๔] ไม่มีความโศก น่าเพลิดเพลินเจริญใจ
เป็นอุทยานกว้างใหญ่ของเหล่าเทพชั้นดาวดึงส์
สำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำบุญไว้ย่อมไม่มีความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า
[๘๕๕] ส่วนผู้ที่ได้ทำบุญไว้แล้วย่อมมีความสุขทั้งโลกนี้
และโลกหน้าแน่นอน
ผู้ปรารถนาจะสถิตอยู่ร่วมกับเทพชั้นดาวดึงส์เหล่านั้น
ควรทำกุศลไว้ให้มาก เพราะว่าเหล่าชนผู้ที่ได้ทำบุญไว้แล้ว
ย่อมพรั่งพร้อมด้วยโภคสมบัติ บันเทิงอยู่ในสวรรค์
[๘๕๖] พระตถาคตทั้งหลาย
ทรงอุบัติขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมากหนอ
ทรงเป็นพระทักขิไณยบุคคล
เป็นบ่อเกิดแห่งเนื้อนาบุญของมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นผู้ที่ทายกทายิกาทั้งหลายทำสักการบูชาแล้ว
จึงบันเทิงอยู่ในสวรรค์
รัชชุมาลาวิมานที่ ๑๒ จบ
เชิงอรรถ
A เว้นทางสุดโต่ง ๒ อย่างแล้วดำเนินตามมรรคอริยสัจจที่เป็นเหตุให้บรรลุอมตธรรม
เพราะดำเนินไปตามทาง ให้บรรลุนิพพาน (ขุ.วิ.อ. ๘๔๕/๒๔๘)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!