26-015 วิมานที่เกิดขึ้นแก่นางอุตตรา



พระไตรปิฎก


๑๕. อุตตราวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่นางอุตตรา

(พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า)
[๑๒๔] เทพธิดา เธอมีผิวพรรณงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอยู่ ดุจดาวประกายพรึก
[๑๒๕] เพราะบุญอะไรผิวพรรณเธอจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่เธอในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่เธอ
[๑๒๖] เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามว่า
เมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรเธอจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๑๒๗] เทพธิดานั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมตามที่พระเถระถามว่า
[๑๒๘] เมื่อดิฉันยังครองเรือนอยู่
มิได้มีความริษยา ความตระหนี่ ความตีเสมอ
ดิฉันมีนิสัยไม่มักโกรธ ประพฤติตามคำสั่งสามี
และไม่ประมาทในการรักษาศีลอุโบสถเป็นนิตย์
[๑๒๙] ดิฉันเข้าจำอุโบสถศีลซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘
ทุกวัน ๑๔ ค่ำ A ๑๕ ค่ำและ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
และตลอดปาฏิหาริยปักษ์ B
[๑๓๐] ดิฉันสำรวมระวังในศีลตลอดเวลา
และแจกจ่ายทานด้วยความเคารพ จึงได้ครอบครองวิมานนี้
[๑๓๑] ดิฉันงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ จากการลักขโมย
จากการประพฤตินอกใจสามี สำรวมระวังจากการพูดเท็จ
และเว้นไกลการดื่มน้ำเมา
[๑๓๒] ดิฉันยินดีในศีล ๕ ฉลาดในอริยสัจ
เป็นอุบาสิกาของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าโคดม
ผู้มีพระจักษุ มีพระยศ
[๑๓๓] เพราะศีลของตน ดิฉันนั้นจึงมีเกียรติยศบริวารยศ
เสวยผลบุญของตนอยู่เป็นสุข ไร้โรค
[๑๓๔] เพราะบุญนั้นผิวพรรณดิฉันจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ดิฉันในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ดิฉัน
[๑๓๕] ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ดิฉันขอกราบเรียนว่า
เพราะบุญที่ได้ทำไว้สมัยเมื่อเกิดเป็นมนุษย์
ดิฉันจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
(เทพธิดาได้กราบเรียนต่อไปว่า)
[๑๓๖] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ขอท่านพึงถวายอภิวาทพระยุคลบาทของ
พระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า (แล้วกราบทูล)ตามคำของดิฉันว่า
“อุตตราอุบาสิกาถวาย อภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า
พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้อที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ดิฉันว่าจะได้บรรลุสามัญผลขั้นใดขั้นหนึ่งนั้น
ไม่น่าอัศจรรย์เท่ากับที่ทรงพยากรณ์ดิฉันว่า จะได้บรรลุสกทาคามิผลเลย”
อุตตราวิมานที่ ๑๕ จบ
เชิงอรรถ
A คือ วันแรม ๑๔ ค่ำในเดือนขาด
B คือ วันรับ วันขึ้น ๗ ค่ำ ๑๔ ค่ำ วันแรม ๗ ค่ำ ๑๓ ค่ำ ๑๔ ค่ำ วันส่ง คือ วันขึ้น-แรม ๙ ค่ำ
๑ ค่ำ เช่นเดียวกันทั้งหมด (ขุ.วิ.อ. ๑๒๙/๗๘) อีกนัยหนึ่ง ปาฏิหาริยปักษ์ หมายถึง อุโบสถที่รักษา ประจำตลอด ๓ เดือน ภายในพรรษา ถ้าไม่อาจรักษา ๓ เดือนได้ ก็ให้รักษา ๑ เดือน ในระหว่าง วันปวารณาทั้งสอง (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒) หรือถ้าไม่อาจรักษาได้ ๑ เดือน ก็รักษาตลอดครึ่งเดือน คือ ตั้งแต่วันปวารณาต้น (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑) (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๘/๑๓๙)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!