25-561 พราหมณ์พาวรีส่งศิษย์ไปทูลถามปัญหา



พระไตรปิฎก


๕. ปารายนวรรค หมวดว่าด้วยธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
วัตถุกถา A พราหมณ์พาวรีส่งศิษย์ไปทูลถามปัญหา

{๔๒๔} [๙๘๓] เรื่องพราหมณ์พาวรีผู้เรียนจบมนตร์
ปรารถนาความเป็นผู้ไม่มีกังวล
จึงเดินทางออกจากแคว้นโกศลอันรื่นรมย์
ไปสู่ทักขิณาปถชนบท
[๙๘๔] ท่านอาศัยอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวรี
อันเป็นพรมแดนแคว้นอัสสกะและแคว้นมุฬกะต่อกัน
(เลี้ยงชีพ) อยู่ด้วยการเที่ยวภิกษาและผลไม้
[๙๘๕] เพราะอาศัยพราหมณ์นั้นนั่นเอง
หมู่บ้านจึงได้เจริญไพบูลย์
ท่านได้ประกอบพิธีมหายัญขึ้น
ด้วยรายได้ที่เกิดจากหมู่บ้านนั้น
[๙๘๖] ท่านบูชาพิธีมหายัญเสร็จแล้ว ก็กลับเข้าอาศรม
เมื่อท่านกลับเข้าอาศรมแล้ว
พราหมณ์อีกคนหนึ่งก็เดินทางมาถึง
[๙๘๗] พราหมณ์ที่มาพบนั้น มีเท้าเดินเสียดสีกัน
ท่าทางน่ากลัวมีฟันเขลอะ
ศีรษะเกลือกกลั้วด้วยสิ่งสกปรก
เข้าไปหาพราหมณ์พาวรีแล้ว
ขอทรัพย์ ๕๐๐ กหาปณะ
[๙๘๘] พราหมณ์พาวรีเห็นเขานั้นแล้วก็เชิญให้นั่ง
ไต่ถามถึงความสุขความสบาย จึงกล่าวคำนี้ว่า
[๙๘๙] สิ่งของที่ควรให้ซึ่งเป็นของเราทั้งหมด
เราบริจาคไปแล้ว พราหมณ์เอ๋ย
ท่านจงเชื่อเราเถิด เราไม่มีทรัพย์ ๕๐๐ เลย
[๙๙๐] (ปังกทันตพราหมณ์กล่าวว่า)
ถ้าเมื่อเราขอ ท่านไม่ให้สิ่งที่มีอยู่
ในวันที่ ๗ ขอให้ศีรษะท่านแตกเป็น ๗ เสี่ยง
[๙๙๑] พราหมณ์นั้นเป็นคนโกหก
แสดงท่าทาง(หลอกลวง)กล่าวคำทำให้น่ากลัว
พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำพูดของเขาแล้วก็เป็นทุกข์
[๙๙๒] (พราหมณ์พาวรี) ถูกลูกศรคือความโศกเสียบแทงแล้ว
ไม่บริโภคอาหาร ซูบผอม
เมื่อท่านมีความคิดอย่างนั้น ใจก็ไม่ยินดีในฌาน
[๙๙๓] เทวดา B ผู้ปรารถนาประโยชน์
เห็นพราหมณ์พาวรีหวาดกลัว เป็นทุกข์อยู่
จึงเข้าไปหาท่านแล้วกล่าวคำนี้ว่า
[๙๙๔] พราหมณ์ผู้ต้องการทรัพย์นั้น เป็นคนโกหก
เขาไม่รู้จักศีรษะ ไม่มีความรู้เรื่องศีรษะ
และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
[๙๙๕] พราหมณ์พาวรีคิดว่า เทวดาผู้เจริญนี้คงจะรู้
(จึงกล่าวไปว่า) ข้าพเจ้าขอถามเรื่องศีรษะ
และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
ขอท่านจงบอกเรื่องนั้นแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
ข้าพเจ้าขอฟังคำตอบของท่าน
[๙๙๖] (เทวดากล่าวว่า)
แม้ข้าพเจ้าก็ไม่รู้จักเรื่องศีรษะ
และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
ข้าพเจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนี้
เรื่องศีรษะและธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
เป็นวิสัยของพระชินเจ้าเท่านั้น
[๙๙๗] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า)
เทวดา ก็ใครเล่าในปฐพีมณฑลนี้
รู้จักเรื่องศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป
ขอท่านจงบอกผู้นั้นแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
[๙๙๘] (เทวดากล่าวว่า)
พระโอรสของเจ้าศากยะ
เป็นเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าโอกกากะ
เสด็จออกผนวชจากกรุงกบิลพัสดุ์
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก เป็นผู้ก่อความสว่างไสว
[๙๙๙] (เทวดากล่าวว่า)
พราหมณ์ เจ้าศากยบุตรพระองค์นั้น
เป็นพระสัมพุทธเจ้า ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง
บรรลุกำลังแห่งอภิญญาทั้งหมดแล้ว
มีพระจักษุในธรรมทั้งปวง
ทรงถึงธรรมเป็นที่สิ้นกรรมทุกอย่าง
ทรงน้อมพระทัยไปในธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ
[๑๐๐๐] พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระพุทธเจ้าในโลก
มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรม
ท่านจงไปทูลถามพระองค์เถิด
พระองค์จักตรัสตอบปัญหานั้นแก่ท่านได้
[๑๐๐๑] พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำว่า พระสัมพุทธเจ้า
ก็มีความเบิกบานใจ
มีความโศกเบาบางและได้รับปีติเปี่ยมล้น
[๑๐๐๒] พราหมณ์พาวรีนั้นดีใจ เบิกบานใจ
เกิดความปลาบปลื้มใจ
จึงไต่ถามเทวดาถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
(และประกาศว่า) พระสัมพุทธเจ้าผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลก
ประทับอยู่ ณ ที่ไหน จะเป็นบ้าน นิคม หรือชนบทใดก็ตาม
พวกเราพึงไปนมัสการพระสัมพุทธเจ้า
ผู้สูงสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
[๑๐๐๓] (เทวดากล่าวว่า)
เจ้าศากยบุตรพระองค์นั้น ทรงชนะมาร
มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระปัญญาล้ำเลิศแผ่ไพศาลยิ่ง
ทรงปราศจากธุระ ไม่มีอาสวะ
ทรงเป็นผู้รู้แจ้งเรื่องศีรษะและธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
ทรงเป็นผู้องอาจกว่านรชน
ประทับอยู่ ณ มณเฑียรสถานของชนชาวโกศล เขตกรุงสาวัตถี
[๑๐๐๔] ลำดับนั้น พราหมณ์พาวรีได้เรียกพราหมณ์ทั้งหลาย
ผู้เป็นศิษย์ ซึ่งเรียนจบมนตร์มากล่าวว่า
มาณพทั้งหลาย มานี่เถิด เราจักบอก
ขอพวกเธอจงฟังคำของเรา
[๑๐๐๕] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า)
ความที่พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดปรากฏเนือง ๆ ในโลก
นั่นหาได้ยาก
วันนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
เสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ปรากฏพระนามว่า พระสัมพุทธเจ้า
เธอทั้งหลายจงรีบไปกรุงสาวัตถี เข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้า
ผู้สูงสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
[๑๐๐๖] (มาณพทั้งหลายถามว่า)
ข้าแต่พราหมณ์ ถ้าข้าพเจ้าทั้งหลายพบแล้ว
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นพระพุทธเจ้า
ขอท่านจงบอกวิธีที่จะรู้จักพระองค์
แก่พวกข้าพเจ้าผู้ไม่รู้ด้วยเถิด
[๑๐๐๗] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า)
ก็ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ
อันมาแล้วในมนตร์ทั้งหลาย
ท่านกล่าวไว้แจ่มแจ้งครบถ้วนโดยลำดับว่า
[๑๐๐๘] บุคคลใดมีลักษณะมหาบุรุษเหล่านั้นอยู่ในตัว
บุคคลนั้นมีคติเป็น ๒ อย่างเท่านั้น
มิได้มีคติเป็นที่ ๓ เลย
[๑๐๐๙] คือ ถ้าบุคคลนั้นอยู่ครองเรือนจะพึงครอบครองแผ่นดินนี้
ย่อมปกครองโดยธรรม โดยไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา
[๑๐๑๐] แต่ถ้าบุคคลนั้นออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม
มีกิเลสดุจเครื่องปิดบัง B อันเปิดแล้ว
[๑๐๑๑] พวกเธอจงทูลถามด้วยใจเท่านั้น
ถึงชาติ โคตร ลักษณะ
มนตร์ ศิษย์คนอื่น ๆ
ศีรษะ และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
[๑๐๑๒] ถ้าบุคคลนั้นเป็นพระพุทธเจ้า
ผู้มีปกติเห็นธรรมหาเครื่องกางกั้นมิได้
เมื่อพวกเธอถามปัญหาด้วยใจแล้ว
ก็จักทรงวิสัชนาด้วยพระวาจา
[๑๐๑๓] ครั้นได้ฟังคำของพราหมณ์พาวรีแล้ว
พราหมณ์ ๑๖ คน ผู้เป็นศิษย์ คือ (๑) อชิตะ
(๒) ติสสเมตเตยยะ (๓) ปุณณกะ (๔) เมตตคู
[๑๐๑๔] (๕) โธตกะ (๖) อุปสีวะ (๗) นันทะ (๘) เหมกะ
(๙) โตเทยยะ (๑๐) กัปปะ (๑๑) ชตุกัณณิ ผู้เป็นบัณฑิต
[๑๐๑๕] (๑๒) ภัทราวุธ (๑๓) อุทัย (๑๔) โปสาละ
(๑๕) โมฆราช ผู้มีปัญญา (๑๖) ปิงคิยะ ผู้เป็นมหาฤๅษี
[๑๐๑๖] พราหมณ์ผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คนนั้น
แต่ละคนเป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ
มีชื่อปรากฏแก่ชาวโลกทั่วไป
เป็นผู้บำเพ็ญฌาน ยินดีในฌาน
เป็นผู้ทรงปัญญาปราดเปรื่อง
เคยอบรมวาสนาแต่ชาติปางก่อน C ทั้งนั้น
[๑๐๑๗] ทุกคนเกล้าชฎาและครองหนังเสือ
อภิวาทพราหมณ์พาวรีและทำประทักษิณแล้ว
ต่างออกเดินทาง มุ่งหน้าไปทางทิศอุดร
[๑๐๑๘] สู่สถานเป็นที่ตั้งแคว้นอุฬกะ เมืองมาหิสสติในกาลนั้น
กรุงอุชเชนี เมืองโคนัทธะ เมืองเวทิสา เมืองวนสวหยะ D
[๑๐๑๙] กรุงโกสัมพี เมืองสาเกต กรุงสาวัตถีอันอุดม
เมืองเสตัพยะ กรุงกบิลพัสดุ์ กรุงกุสินารา
[๑๐๒๐] กรุงปาวา โภคนคร กรุงเวสาลี แคว้นมคธ
และปาสาณกเจดีย์อันรื่นรมย์ น่ารื่นเริงใจ
[๑๐๒๑] พราหมณ์เหล่านั้นรีบขึ้นสู่ภูเขา
เหมือนคนกระหายน้ำ รีบหาน้ำเย็นดื่ม
เหมือนพ่อค้าได้ลาภใหญ่มาครอง
และเหมือนคนถูกความร้อนแผดเผารีบหาร่มเงา ฉะนั้น
[๑๐๒๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม
ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอยู่
ประหนึ่งว่าราชสีห์บันลือสีหนาทอยู่ในป่า
[๑๐๒๓] อชิตมาณพได้เห็นพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นดุจดวงอาทิตย์อันมีรัศมีเจิดจ้า
และดุจดวงจันทร์เต็มดวงในวันเพ็ญ ฉะนั้น
[๑๐๒๔] ลำดับนั้น อชิตมาณพยืนอยู่ ณ ที่สมควร
รื่นเริงใจเพราะได้เห็นอนุพยัญชนะ
บริบูรณ์ในพระวรกายของพระผู้มีพระภาค
จึงได้ทูลถามปัญหาด้วยใจว่า
[๑๐๒๕] (อชิตมาณพทูลถามปัญหาทางใจว่า)
ขอพระองค์ตรัสระบุให้แน่ชัด
ถึงชาติ โคตรพร้อมด้วยลักษณะ
ขอจงตรัสบอกความสำเร็จในมนตร์ทั้งหลายว่า
พราหมณ์สอนมาณพเท่าไร
[๑๐๒๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
พราหมณ์นั้นมีอายุ ๑๒๐ ปี
ชื่อพาวรีโดยโคตร มีลักษณะ ๓ อย่างอยู่ในตัว
เป็นผู้เรียนจบไตรเพท
[๑๐๒๗] พราหมณ์พาวรีนั้นถึงความสำเร็จ
ในลักษณะมนตร์ และประวัติศาสตร์ E
พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ F และเกฏุภศาสตร์ G
ชื่อว่าถึงความสำเร็จในหลักธรรมของตน
กล่าวสอนมนตร์แก่ศิษย์จำนวน ๕๐๐ คน
[๑๐๒๘] (อชิตมาณพทูลถามว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่านรชน ผู้ตัดตัณหาเสียได้
ขอพระองค์จงทรงประกาศความเด่นชัด
แห่งลักษณะของพราหมณ์พาวรี
อย่าให้พวกข้าพระองค์มีความสงสัยเลย
[๑๐๒๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
พราหมณ์นั้นย่อมใช้ลิ้นปิดหน้าได้
มีอุณาโลมอยู่ระหว่างคิ้ว
มีคุยหฐานซ่อนอยู่ในฝัก
มาณพ เธอจงรู้อย่างนี้เถิด
[๑๐๓๐] ชนทั้งปวงไม่ได้ยินใครถามปัญหาอะไร
ได้ยินแต่ปัญหาที่พระพุทธเจ้าทรงตอบ
ก็ปลาบปลื้มใจประนมอัญชลีแล้วพากันคิดไปต่าง ๆ ว่า
[๑๐๓๑] ใครหนอ เป็นเทพ เป็นพระพรหม
หรือเป็นพระอินทร์ผู้สุชัมบดี เมื่อถามปัญหาด้วยใจ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหานั้นกับใครเล่า
[๑๐๓๒] (อชิตมาณพกราบทูลว่า)
พราหมณ์พาวรีถามเรื่องศีรษะ
และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ขอพระองค์ตรัสตอบปัญหานั้น
กำจัดความสงสัยของพวกข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๐๓๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
เธอจงรู้เถิดว่า อวิชชาเป็นศีรษะ
วิชชาที่ประกอบด้วยสัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ
และวิริยะ เป็นธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
[๑๐๓๔] ลำดับนั้น อชิตมาณพมีความปลาบปลื้มใจมากล้น สนับสนุนแล้ว
ทำหนังเสือเฉวียงบ่า ซบศีรษะลงแทบพระยุคลบาท
[๑๐๓๕] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ผู้มีพระจักษุ
พราหมณ์พาวรีพร้อมด้วยเหล่าศิษย์มีจิตเบิกบาน ดีใจ
ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระองค์
[๑๐๓๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ขอพราหมณ์พาวรีพร้อมด้วยเหล่าศิษย์
จงมีความสุข และแม้เธอเองก็ขอให้มีความสุข
มีชีวิตอยู่ยืนนานเถิด มาณพ
[๑๐๓๗] เราให้โอกาสแก่พราหมณ์พาวรี
แก่เธอและมาณพทั้งหมดถามข้อสงสัยทั้งปวง
พวกเธอปรารถนาจะถามปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จงถามเถิด
[๑๐๓๘] อชิตมาณพได้รับโอกาสจากพระสัมพุทธเจ้าแล้ว
นั่งประคองอัญชลี ทูลถามปฐมปัญหากับพระตถาคต
ณ ปาสาณกเจดีย์นั้น
วัตถุกถา จบ
เชิงอรรถ
A ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑-๕๖/๑-๑๐
เทวดา ผู้สิงสถิตอยู่ในอาศรมของพราหมณ์พาวรี (ขุ.สุ.อ. ๒/๙๙๓/๔๒๙)
B กิเลสดุจเครื่องปิดบัง มี ๕ อย่าง คือ ตัณหา ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต และอวิชชา
(ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑๘/๓๘๕)
C มาณพ ๑๖ คนนี้ได้เคยบวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ
แล้วอบรมจิตเพื่อเป็นบุญวาสนาที่จะติดตามตัวไป (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๑๓-๑๘/๔๓๐)
D วนสวหยะ มีชื่อ ๒ ชื่อ คือ (๑) ปวนนคร (๒) วนสาวัตถี
(ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๑๓-๑๘/๔๓๐)
E ประวัติศาสตร์ คือ พงศาวดารเล่าเรื่องเก่า ๆ มักจะมีคำว่า สิ่งนี้ได้เป็นมาอย่างนี้
F นิฆัณฑุศาสตร์ คัมภีร์ประเภทศัพท์มูลวิทยา (Etymology) คลังศัพท์ (lexicon)
หรือภิธานศัพท์ (Glossary)ที่รวบรวมคำศัพท์ ในพระเวทซึ่งเป็นคำยาก
หรือคำที่เลิกใช้แล้ว นำมาอธิบายความหมายเป็นส่วนหนึ่งของนิรุกติ
ซึ่งเป็น ๑ ในเวทางคศาสตร์ ๖ ของศาสนาพราหมณ์
(ที.สี.อ. ๑/๒๕๖/๒๒๒, ขุ.จู.อ. ๑๕/๑๔)
G เกฏุภศาสตร์ คัมภีร์ว่าด้วยกฎเกณฑ์การใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมแก่การประกอบ
พิธีกรรมต่าง ๆ เป็นส่วนหนึ่งของกัลปะ
ซึ่งเป็น ๑ ในเวทางคศาสตร์ ๖ ของศาสนาพราหมณ์
(ที.สี.อ. ๑/๒๕๖/๒๒๒, ขุ.จู.อ. ๑๕/๑๔)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!