25-551 ปัญหาของติสสเมตเตยะ



พระไตรปิฎก


๗. ติสสเมตเตยยสูตร A
ว่าด้วยปัญหาของติสสเมตเตยยะ

(ท่านพระติสสเมตเตยยะได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้)
{๔๑๔} [๘๒๑] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ความคับแค้นของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ
ข้าพระองค์ฟังคำสอนของพระองค์แล้วจักศึกษาวิเวก
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมตเตยยะ)
[๘๒๒] คำสั่งสอนของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ
ย่อมเลอะเลือน และบุคคลนั้นย่อมปฏิบัติผิด
การปฏิบัตินี้ เป็นธรรมไม่ประเสริฐในบุคคลนั้น
[๘๒๓] ผู้ใดในเบื้องต้นเที่ยวไปผู้เดียว B
(ต่อมา)เข้าไปเสพเมถุนธรรม C
ผู้รู้ทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า เป็นปุถุชนเลวในโลก
เหมือนยานที่แล่นไป D ฉะนั้น
[๘๒๔] ยศและเกียรติ E ในเบื้องต้นของภิกษุนั้น เสื่อมไป
ภิกษุเห็นสมบัติและวิบัตินี้แล้ว พึงศึกษาเพื่อละเมถุนธรรม
[๘๒๕] ภิกษุนั้นถูกความดำริครอบงำ
ย่อมซบเซาเหมือนคนกำพร้า
ครั้นได้ยินคำตำหนิของคนอื่นแล้ว
ย่อมเป็นผู้เก้อเขิน เป็นผู้เช่นนั้น
[๘๒๖] ลำดับนั้น ภิกษุนั้นถูกถ้อยคำของผู้อื่นตักตือนแล้ว
ย่อมสร้างศัสตรา F ย่อมก้าวลงสู่ความเป็นคนพูดเท็จ
นี้แหละเป็นเครื่องทำให้ติดใหญ่ของเธอ
[๘๒๗] ภิกษุ (ในเบื้องต้น) ได้สมญานามว่า เป็นบัณฑิต
อธิษฐานการเที่ยวไปผู้เดียว
ต่อมา เธอประกอบในเมถุนธรรม
ก็จักมัวหมอง เหมือนกับคนโง่ ฉะนั้น
[๘๒๘] มุนีรู้โทษนี้แล้ว ในคราวเป็นคฤหัสถ์
ก่อนบวชในธรรมวินัยนี้
พึงทำการเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่นคง
ไม่พึงเข้าไปเสพเมถุนธรรม
[๘๒๙] บุคคลพึงศึกษาวิเวกนั้นแหละ
เพราะการประพฤติวิเวกนี้ เป็นกิจสูงสุดของพระอริยะทั้งหลาย
ไม่พึงสำคัญตนว่าเราเป็นผู้ประเสริฐสุด ด้วยการประพฤติวิเวกนั้น
ผู้นั้นแล ชื่อว่า อยู่ใกล้นิพพาน
[๘๓๐] หมู่สัตว์ผู้ติดใจในกามทั้งหลาย
ย่อมยินดีมุนีผู้ว่าง ประพฤติอยู่
ไม่มุ่งหวังกามทั้งหลาย ผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว
ติสสเมตเตยยสูตรที่ ๗ จบ
เชิงอรรถ
A ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๔๙-๕๘/๑๖๘-๑๙๔
B เที่ยวไปผู้เดียว หมายถึงบวชเป็นบรรพชิตและการละความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
(ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕๑/๑๗๗)
C เข้าไปเสพเมถุน หมายถึงบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์เสพเมถุนธรรม
(ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕๑/๑๗๘)
D ยานที่แล่นไป ในที่นี้หมายถึงยานช้าง ยานม้า และยานโค ที่ไม่ได้ผ่านการฝึกหัด
ย่อมแล่นพาออกไปนอกทาง (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕๑/๑๗๘)
E ยศและเกียรติ ในที่นี้หมายถึงลาภสักการะและความสรรเสริญ
(ขุ.สุ.อ. ๒/๘๒๔/๓๗๓)
F ศัสตรา มี ๓ อย่าง คือ
(๑) ศัสตราทางกาย
(๒) ศัสตราทางวาจา
(๓) ศัสตราทางใจ
หรือกายทุจริต ๓ อย่าง วจีทุจริต ๔ อย่าง และมโนทุจริต ๓ อย่าง
ในที่นี้หมายถึงศัสตราทางวาจา (ขุ.ม. (แปล)๒๙/๕๔/๑๘๔)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!