25-534 ความเพียรอย่างเด็ดเดี่ยว



พระไตรปิฎก


๒. ปธานสูตร
ว่าด้วยความเพียรอย่างเด็ดเดี่ยว

(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายดังนี้)
{๓๕๕} [๔๒๘] เราตั้งจิตบำเพ็ญเพียร ขะมักเขม้น เพ่งพินิจอยู่
เพื่อบรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ
อยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรานั้น
[๔๒๙] มารได้เข้ามาหาพร้อมกับกล่าวถ้อยคำแสดงความเอ็นดูว่า
ท่านมีร่างกายผ่ายผอม มีผิวพรรณซูบซีด ใกล้จะตายอยู่แล้ว
[๔๓๐] ท่านมีโอกาสตายถึง ๑,๐๐๐ ส่วน
โอกาสรอดชีวิตมีเพียงส่วนเดียวเท่านั้น
ท่านเอ๋ย การที่ท่านมีชีวิตอยู่นั้นดีแล้ว
เพราะเมื่อมีชีวิตอยู่ ท่านก็จักบำเพ็ญบุญทั้งหลายได้
[๔๓๑] ท่านประพฤติพรหมจรรย์ A และบูชาไฟอยู่
ก็ชื่อว่าสั่งสมบุญไว้มาก ท่านจักบำเพ็ญเพียรไปทำไม
[๔๓๒] ทางเพื่อความเพียรดำเนินไปถึงยาก ทำได้ยาก
ยากยิ่งนักที่จะก่อผลสำเร็จ
มารได้ยืนกล่าวคาถาเหล่านี้อยู่ใกล้ ๆ เราผู้จะเป็นพุทธะ
[๔๓๓] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบมารผู้กล่าวอย่างนั้นว่า
มารผู้มีบาป ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของคนประมาท
ท่านมาที่นี้มีความประสงค์ใด
[๔๓๔] เราไม่มีความต้องการบุญแม้แต่น้อย
ความจริง ท่านผู้เป็นมาร
ควรไปบอกแก่คนผู้ต้องการบุญ
[๔๓๕] เพราะเหตุไร ท่านจึงเฝ้าเพียรถามเรา
ผู้มีทั้งศรัทธา ตบะ วิริยะ และปัญญา
ผู้มีจิตมุ่งมั่น มีความเป็นอยู่อย่างนี้
[๔๓๖] กระแสแม่น้ำทุกสาย ลมนี้สามารถพัดให้เหือดแห้งได้
แต่ว่าเลือดของเราผู้มีจิตมุ่งมั่นไม่เหือดแห้งไปแม้สักหยดเลย
[๔๓๗] เมื่อเลือดกำลังเหือดแห้งไป ดี เสลดก็กำลังเหือดแห้งไปด้วย
และเมื่อเนื้อกำลังจะหมดสิ้นไป แต่จิตของเราก็ยิ่งผ่องใส
สติ และปัญญาก็ผ่องใส สมาธิของเราก็ยิ่งตั้งมั่นขึ้นไปอีก
[๔๓๘] เรานั้นถึงจะได้รับทุกขเวทนาอันแรงกล้าอยู่อย่างนี้
จิตก็หาได้หวนคนึงถึงกามทั้งหลายไม่
ท่านจงคอยดูภาวะที่เราเป็นสัตว์บริสุทธิ์
[๔๓๙] กิเลสกามทั้งหลาย เราเรียกว่าเสนากองที่ ๑ ของท่าน
ความไม่ยินดี เราเรียกว่าเสนากองที่ ๒ ของท่าน
ความหิวกระหาย เราเรียกว่าเสนากองที่ ๓ ของท่าน
ตัณหา(ความทะยานอยาก) เราเรียกว่าเสนากองที่ ๔ ของท่าน
[๔๔๐] ถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม)
เราเรียกว่าเสนากองที่ ๕ ของท่าน
ความกลัว เราเรียกว่าเสนากองที่ ๖ ของท่าน
วิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) เราเรียกว่าเสนากองที่ ๗ ของท่าน
มักขะ(ความลบหลู่คุณท่าน) และถัมภะ(ความหัวดื้อ)
เราเรียกว่าเสนากองที่ ๘ ของท่าน
[๔๔๑] ลาภ ความสรรเสริญ สักการะ และยศที่ได้มาที่ผิดๆ
เราเรียกว่าเสนากองที่ ๙ ของท่าน
การยกตนและข่มผู้อื่น เราเรียกว่าเสนากองที่ ๑๐ ของท่าน
[๔๔๒] มารเอ๋ย เสนาของท่านผู้มีธรรมดำนี้
มีปกติประหารสมณพราหมณ์
คนขลาดเอาชนะเสนานั้นไม่ได้
แต่คนกล้า เอาชนะเสนามารได้แล้วย่อมได้รับสุข B
[๔๔๓] แม้เรานี้ก็รักษาหญ้ามุงกระต่ายไว้
น่าติเตียน(ถ้า)ชีวิตของเรา(จะพ่ายแพ้)
เราตายเสียในสงครามประเสริฐกว่า
แพ้แล้วเป็นอยู่จะประเสริฐอะไร
[๔๔๔] สมณพราหมณ์บางพวกตกอยู่ในอำนาจเสนาของท่านแล้ว
ย่อมไม่ปรากฏเกียรติคุณ
และย่อมไม่รู้ทางที่เหล่าท่านผู้มีวัตรดีดำเนินไปอยู่
[๔๔๕] เราได้เห็นมารขี่ช้างเป็นพาหนะ
นำเสนาออกมาโดยรอบทิศ
จึงเตรียมเผชิญหน้าเพื่อจะต่อสู้
โดยมั่นใจว่า มารอย่าหวังที่จะให้เราลุกจากที่
[๔๔๖] ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ไม่สามารถเอาชนะเสนาของท่านนั้นได้
แต่เราจะใช้ปัญญาเป็นอาวุธ
ทำลายเสนาท่านนั้นให้พินาศ
เหมือนคนใช้ก้อนหินทุบภาชนะดิน
ทั้งที่ยังไม่ได้เผาและที่เผาแล้วให้แตกไป ฉะนั้น
[๔๔๗] เราจักเจริญสัมมาสังกัปปะให้เชี่ยวชาญ
และตั้งสติไว้อย่างมั่นคงแล้ว
เที่ยวจาริกแนะนำพร่ำสอนสาวกจำนวนมากไปทุกแว่นแคว้น
[๔๔๘] สาวกผู้ไม่ประมาทเหล่านั้น มีจิตมุ่งมั่น
ปฏิบัติตามคำสอนของเรา เป็นผู้หมดความปรารถนา
ก็จะเข้าถึงสถานที่ซึ่งเหล่าชนผู้ไปแล้ว ไม่เศร้าโศก
[๔๔๙] (มารกล่าวดังนี้)
ข้าพเจ้าได้สะกดรอยตามพระผู้มีพระภาคนานถึง ๗ ปี
ก็ยังหาโอกาสที่จะทำลายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงพระสิริไม่ได้เลย
[๔๕๐] กาตัวหนึ่งบินอยู่รอบ ๆ แท่นศิลา
ที่มีสีคล้ายมันข้น ด้วยคิดว่า
‘เรากำลังจะได้ของอ่อนนุ่มในสิ่งนี้
ความยินดีพอใจก็จะมีแก่เรา’
(แต่เมื่อไม่ได้ความพอใจ รู้ว่า ‘นี้คือแท่นศิลา’ จึงหลีกไป) C
[๔๕๑] ข้าพเจ้าก็เช่นเดียวกัน ตั้งใจว่า
จะมารบกวนก่อความรำคาญพระทัย
ให้พระสมณโคดมเบื่อเสด็จลุกหนีไป
แต่ข้าพเจ้ากลับไม่ได้รับความยินยอมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เกิดความท้อแท้จึงหลีกไป
[๔๕๒] เมื่อมารนั้นกำลังเศร้าโศกมาก
พิณที่หนีบอยู่นั้นจึงตกลงจากรักแร้
ลำดับนั้น มารนั้นผู้เสียใจ
ได้อันตรธานหายไปในที่นั้นเอง
ปธานสูตรที่ ๒ จบ
เชิงอรรถ
A พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงเมถุนวิรัติ (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๓๑/๒๐๘)
B ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๘/๑๑๖, ๑๔๖/๒๗๗, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๔๗/๑๙๘
C ข้อความนี้แปลเติมตามนัยอรรถกถา (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๔๙-๔๕๑/๒๑๔-๒๑๕)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!