25-515 เหมวตยักษ์ทูลถามปัญหา



พระไตรปิฎก


๙. เหมวตสูตร
ว่าด้วยเหมวตยักษ์ทูลถามปัญหา

{๓๐๙} [๑๕๓] (สาตาคิรยักษ์กล่าวดังนี้)
วันนี้เป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ
ราตรีที่เป็นทิพย์ปรากฏแล้ว
เราทั้งสองไปเฝ้าพระโคดมผู้เป็นศาสดา
ทรงพระนามสูงส่งกันดีกว่า
[๑๕๔] (เหมวตยักษ์ถามดังนี้)
พระโคดมเป็นผู้คงที่ A มีพระทัยสม่ำเสมอ
ในสัตว์โลกทุกจำพวกจริงหรือ
ทรงทำความดำริในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์
ให้อยู่ในอำนาจได้จริงหรือ
[๑๕๕] (สาตาคิรยักษ์ตอบดังนี้)
พระโคดมเป็นผู้คงที่ มีพระทัยสม่ำเสมอ
ในสัตว์โลกทุกจำพวกจริง
และทรงทำความดำริในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์
ให้อยู่ในอำนาจได้จริง
[๑๕๖] (เหมวตยักษ์ถามดังนี้)
พระโคดมไม่ทรงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้จริงหรือ
ทรงสำรวมในสัตว์ทั้งหลายจริงหรือ
ทรงประพฤติห่างไกลจากกามคุณจริงหรือ
พระองค์ไม่ทรงละทิ้งฌานจริงหรือ
[๑๕๗] (สาตาคิรยักษ์ตอบดังนี้)
พระโคดมไม่ทรงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้จริง
ทรงสำรวมในสัตว์ทั้งหลายจริง
ทรงประพฤติห่างไกลจากกามคุณจริง
พระองค์ตรัสรู้แล้ว ไม่ทรงละทิ้งฌานจริง
[๑๕๘] (เหมวตยักษ์ถามดังนี้)
พระโคดมไม่ตรัสคำเท็จจริงหรือ
มีพระวาจาไม่หยาบคายจริงหรือ
ไม่ตรัสคำส่อเสียดจริงหรือ ไม่ตรัสคำเพ้อเจ้อจริงหรือ
[๑๕๙] (สาตาคิรยักษ์ตอบดังนี้)
พระโคดมไม่ตรัสคำเท็จจริง
มีพระวาจาไม่หยาบคายจริง
ไม่ตรัสคำส่อเสียดจริง ไม่ตรัสคำเพ้อเจ้อจริง
ตรัสคำที่เป็นประโยชน์อย่างเดียว
เพราะทรงกำหนดด้วยพระปัญญา
[๑๖๐] (เหมวตยักษ์ถามดังนี้)
พระโคดมไม่ทรงยินดีในกามทั้งหลายจริงหรือ
พระทัยของพระองค์ไม่ขุ่นมัวจริงหรือ
พระองค์ทรงล่วงพ้นโมหะได้จริงหรือ
พระองค์ทรงมีปัญญาจักษุในธรรมทั้งหลายจริงหรือ
[๑๖๑] (สาตาคิรยักษ์ตอบดังนี้)
พระโคดมไม่ทรงยินดีในกามทั้งหลายจริง
พระทัยของพระองค์ไม่ขุ่นมัวจริง
พระองค์ทรงล่วงพ้นโมหะทั้งปวงได้จริง
พระองค์ตรัสรู้แล้ว ทรงมีปัญญาจักษุในธรรมทั้งหลายจริง
[๑๖๒] (เหมวตยักษ์ถามดังนี้)
พระโคดมทรงสมบูรณ์ด้วยวิชชาจริงหรือ
พระองค์ทรงมีจรณะบริสุทธิ์จริงหรือ
พระองค์ทรงสิ้นอาสวะทั้งหลายจริงหรือ
พระองค์ไม่ทรงเกิดอีกจริงหรือ
[๑๖๓] (สาตาคิรยักษ์ตอบดังนี้)
พระโคดมทรงสมบูรณ์ด้วยวิชชาจริง
พระองค์ทรงมีจรณะบริสุทธิ์จริง
พระองค์ทรงสิ้นอาสวะทั้งหลายจริง
พระองค์ไม่ทรงเกิดอีกจริง
[๑๖๔] (เหมวตยักษ์กล่าวชื่นชมสาตาคิรยักษ์ดังนี้)
ท่านได้สรรเสริญพระทัยของพระมุนีโคดม
ที่ถึงพร้อมด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม
และสรรเสริญพระมุนีโคดมนั้น
ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ โดยธรรม
[๑๖๕] (สาตาคิรยักษ์กล่าวชื่นชมเหมวตยักษ์ดังนี้)
ท่านก็ชื่นชมพระทัยของพระมุนีโคดม
ที่ถึงพร้อมด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม
และชื่นชมพระมุนีโคดมนั้น
ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ โดยธรรม
[๑๖๖] พระทัยของพระมุนีโคดม
ถึงพร้อมด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม
เราไปเฝ้าพระโคดมผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะกันเถิด
[๑๖๗] (เหมวตยักษ์กล่าวดังนี้)
มาเถิด เราทั้งสองจะไปเฝ้าพระโคดม
ผู้มีพระชงฆ์ดังปลีแข้งเนื้อทราย
มีพระวรกายงามระหง มีลักษณะองอาจ
เสวยพระกระยาหารแต่พอประมาณ
ทรงปราศจากความติดพระทัยในรสพระกระยาหาร
ทรงเป็นมุนีผู้เพ่งพินิจอยู่ในป่า
[๑๖๘] เราทั้งสองไปเฝ้าพระโคดม ผู้สง่าดุจราชสีห์
เสด็จจาริกโดดเด่นพระองค์เดียว B
ทรงเป็นพระนาคะ C
ไม่ทรงยินดีในกามทั้งหลาย
จะทูลถามถึงธรรมเครื่องพ้นจากบ่วงมัจจุราช D
[๑๖๙] เราทั้งสองจงทูลถามพระโคดมผู้ทรงแนะนำพร่ำสอน
ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง E
ทรงเป็นผู้ตรัสรู้ ล่วงพ้นเวรภัยได้ทุกอย่าง
[๑๗๐] (เหมวตยักษ์ทูลถามดังนี้)
เมื่ออะไรเกิด สัตว์โลกจึงเกิด
สัตว์โลกยินดีในอะไร
สัตว์โลกยึดถืออะไร
เพราะอะไรสัตว์โลกจึงเดือดร้อน
[๑๗๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
เมื่ออายตนะ ๖ F เกิด สัตว์โลกจึงเกิด
สัตว์โลกย่อมยินดีในอายตนะ ๖
สัตว์โลกยึดถืออายตนะ ๖ นั่นแล
เพราะอายตนะ ๖ สัตว์โลกจึงเดือดร้อน
[๑๗๒] (เหมวตยักษ์ทูลถามดังนี้)
ความยึดถือที่ทำให้สัตว์โลกเดือดร้อนนั้นคืออะไร
ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเครื่องนำออกจากโลก
สัตว์โลกจะพ้นจากทุกข์ได้อย่างไร
[๑๗๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
กามคุณ ๕ อันมีใจเป็นที่ ๖ ซึ่งมีอยู่ในโลก
เราประกาศไว้ชัดเจนแล้ว
สัตว์โลกคลายความพอใจในกามคุณ ๕ นี้ได้
ย่อมพ้นจากทุกข์ได้ ด้วยวิธีดังกล่าวนี้ G
[๑๗๔] นี้คือธรรมเครื่องนำออกจากโลก
เราบอกแก่พวกท่านตามความเป็นจริง
เราก็บอกพวกท่านเช่นนี้แล
เพราะว่าสัตว์โลกย่อมพ้นจากทุกข์ได้ก็ด้วยวิธีดังนี้
[๑๗๕] (เหมวตยักษ์ทูลถามดังนี้)
ในโลกนี้ใครเล่าข้ามโอฆะ H ได้
ใครเล่าข้ามห้วงมหรรณพได้ I
ใครเล่าไม่จมลงในห้วงมหรรณพที่ลุ่มลึก
ปราศจากเกาะแก่ง และเครื่องยึดเหนี่ยว
[๑๗๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ผู้สมบูรณ์ด้วยศีล มีปัญญา มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว
เพ่งพินิจธรรมภายใน มีสติทุกเมื่อ
ย่อมข้ามพ้นโอฆะที่ข้ามได้ยาก
[๑๗๗] ผู้นั้นเว้นขาดจากกามสัญญา J ได้แล้ว
เป็นผู้ละสังโยชน์ได้ทุกอย่าง
หมดสิ้นความเพลิดเพลินและภพแล้ว
ย่อมไม่จมลงในห้วงมหรรณพที่ลุ่มลึก
[๑๗๘] (เหมวตยักษ์กล่าวดังนี้)
ท่านทั้งหลายโปรดมาดูพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
มีพระปัญญาลึกซึ้ง ทรงแสดงเนื้อความอย่างละเอียด
ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่ทรงข้องในกามภพ
ทรงหลุดพ้นได้เด็ดขาดในอารมณ์ทั้งปวง
แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เสด็จดำเนินอยู่ในปฏิปทาอันเป็นทิพย์
[๑๗๙] ท่านทั้งหลายโปรดมาดูพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
มีพระนามเลื่องลือไกล ทรงแสดงเนื้อความอย่างละเอียด
ทรงประทานแสงสว่างคือปัญญา ไม่ทรงติดข้องอาลัย K ในกาม
ทรงเป็นพระสัพพัญญูรู้ธรรมทั้งปวง
มีพระปัญญาบารมี แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
เสด็จดำเนินอยู่ในปฏิปทาของพระอริยะ
[๑๘๐] วันนี้เราทั้งหลายเห็นดีแล้ว
สว่างไสวแล้ว ตั้งมั่นดีแล้ว
เพราะเราทั้งหลายได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ข้ามพ้นโอฆะ ผู้ปราศจากอาสวะ
[๑๘๑] ยักษ์ ๑,๐๐๐ ตนที่อยู่ ณ ที่นั้นทั้งหมด มีฤทธิ์ มียศ
ย่อมถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นสรณะ
โดยเปล่งวาจาว่าพระองค์ทรงเป็นพระศาสดาผู้ยอดเยี่ยม
ไม่มีใครยิ่งกว่าของข้าพระองค์ทั้งหลาย
[๑๘๒] ข้าพระองค์ทั้งหลาย จะขอนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระธรรมที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
และพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้ว
เที่ยวประกาศธรรมไปทุกหนทุกแห่ง
ตามหมู่บ้านหรือตามขุนเขาลำเนาไพร
เหมวตสูตรที่ ๙ จบ
เชิงอรรถ
A พระผู้มีพระภาคเป็นผู้มีพระทัยคงที่โดยอาการ ๕ อย่าง คือ
(๑) เป็นผู้คงที่ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์
(๒) เป็นผู้คงที่เพราะสละแล้ว
(๓) เป็นผู้คงที่เพราะพ้นแล้ว
(๔) เป็นผู้คงที่เพราะข้ามได้แล้ว
(๕) เป็นผู้คงที่เพราะแสดงออกซึ่งธรรมนั้น ๆ ได้
(ขุ.สุ.อ.๑/๑๕๕/๒๓) และดู ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๓๘/๑๓๙
B เสด็จจาริกโดดเด่นพระองค์เดียว หมายถึงไม่มีตัณหา อีกนัยหนึ่ง
หมายถึงในโลกธาตุเดียวกันนี้ มีเพียงพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น
ไม่มีพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๖๘/๒๓๗)
C ทรงเป็นพระนาคะ หมายถึงเป็นผู้ไม่เกิดอีกบ้าง เป็นผู้ไม่ทำความชั่วบ้าง
หรือหมายถึงทรงมีพลธรรมบ้าง (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๖๘/๒๓๗)
D ธรรมเครื่องพ้นจากบ่วงมัจจุราช ในที่นี้หมายถึงนิพพาน
(ขุ.สุ.อ.๑/๑๖๘/๒๓๘)
E ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๔
(ขุ.สุ.อ.๑/๑๖๙/๒๓๙)
F อายตนะ ๖ หมายถึงอายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖
(ขุ.สุ.อ.๑/๑๗๑/๒๔๐)
G ดูเทียบ อภิ.ก. ๓๗/๕๑๐/๓๐๙
H โอฆะ หมายถึงกิเลส ๔ ประการ คือ
กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๗๕/๒๔๓)
I ห้วงมหรรณพ ในที่นี้หมายถึงสังสารวัฏ คือการเวียนว่ายตายเกิด
(ขุ.สุ.อ. ๑/๑๗๕/๒๔๓)
J กามสัญญา หมายถึงสัญญาที่เกิดขึ้นปรารภกาม
หรือสัญญาที่สหรคตด้วยโลภจิต ๘ ดวง
(องฺ.ติก.อ.๒/๓๓/๑๑๕)
K อาลัย หมายถึงตัณหา และทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ.๑/๑๗๙/๒๔๕)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!