25-511 ปัญหาของนายจุนทกัมมารบุตร



พระไตรปิฎก


๕. จุนทสูตร
ว่าด้วยปัญหาของนายจุนทกัมมารบุตร

[๘๓] (นายจุนทกัมมารบุตรทูลถามปัญหาดังนี้)
{๓๐๒} ข้าพระองค์ขอทูลถามพระพุทธเจ้าผู้เป็นมุนี
มีพระปัญญามาก ทรงเป็นเจ้าของพระธรรม ปราศจากตัณหา
ทรงเป็นผู้ประเสริฐสุดในบรรดาสรรพสัตว์มีสัตว์ ๒ เท้าเป็นต้น
ทรงเป็นผู้เลิศกว่านายสารถีผู้ฝึกทั้งหลายว่า
ในโลกนี้มีสมณะอยู่กี่จำพวก
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกให้ข้าพระองค์ทราบด้วยเถิด
[๘๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
จุนทะ สมณะมีอยู่ ๔ จำพวก ไม่มีสมณะจำพวกที่ ๕
เราถูกท่านถามต่อหน้าอย่างนี้ ก็จะชี้แจงให้ท่านทราบ
สมณะ ๔ จำพวกนั้น คือ
๑. สมณะผู้ชนะกิเลสทั้งปวงด้วยมรรค
๒. สมณะผู้แสดงมรรคแก่ชนเหล่าอื่น
๓. สมณะผู้ดำรงอยู่ในมรรค
๔. สมณะผู้ประทุษร้ายมรรค
[๘๕] (นายจุนทกัมมารบุตรทูลถามปัญหาดังนี้)
พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงบัญญัติเรียก
สมณะผู้ชนะกิเลสทั้งปวงด้วยมรรคว่าอย่างไร
ทรงบัญญัติเรียกสมณะผู้มีปกติเพ่งมรรค ไม่มีผู้เปรียบเทียบนั้นว่าอย่างไร
ทรงบัญญัติเรียกสมณะผู้ดำรงอยู่ในมรรคนั้นว่าอย่างไร
ทรงบัญญัติเรียกสมณะผู้ประทุษร้ายมรรคนั้นว่าอย่างไร
ข้าพระองค์ทูลถามแล้วขอพระองค์ตรัสบอกแก่ข้าพระองค์
ขอพระองค์ทรงชี้แจงแก่ข้าพระองค์เถิด
[๘๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงบัญญัติเรียก
สมณะผู้ข้ามพ้นความสงสัยได้เด็ดขาด
ปราศจากกิเลสดุจลูกศร ยินดียิ่งในนิพพาน
ไม่ติดอยู่ในตัณหา ผู้แนะนำสั่งสอนชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลกว่า
เป็นสมณะผู้ชนะกิเลสทั้งปวงด้วยมรรค
[๘๗] ภิกษุใดในธรรมวินัยนี้ รู้ว่า นิพพานเป็นบรมธรรม
แล้วบอก เปิดเผยนิพพานธรรมในธรรมวินัยนี้
พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงบัญญัติเรียกภิกษุ
ผู้ตัดความสงสัยได้แล้ว เป็นมุนี
ไม่มีตัณหาทำให้หวั่นไหวนั้นว่า
เป็นสมณะจำพวกที่ ๒ ผู้แสดงมรรค
[๘๘] ภิกษุใดเป็นผู้สำรวมแล้ว มีสติ เสพบทอันไม่มีโทษ A
ดำรงอยู่ในมรรคคือบทแห่งธรรมที่แสดงไว้ดีแล้ว
พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงบัญญัติเรียกภิกษุนั้นว่า
เป็นสมณะจำพวกที่ ๓ ผู้ดำรงอยู่ในมรรค
[๘๙] ภิกษุใดทำตนเลียนแบบพระอริยะ ผู้มีวัตรดีงาม
ชอบเอาหน้า ประทุษร้ายตระกูล
คะนองกาย วาจา ใจ มีมายา ไม่สำรวม พูดเพ้อเจ้อ
ภิกษุผู้เที่ยวเลียนแบบ จัดเป็นสมณะจำพวกที่ ๔ ผู้ประทุษร้ายมรรค
[๙๐] อนึ่ง คฤหัสถ์ผู้ได้สดับแล้ว เป็นอริยสาวก มีปัญญา
รู้ซึ้งถึงลักษณะสมณะทั้ง ๔ จำพวกนั้น
แล้วรู้ว่า สมณะทั้งหมดไม่เป็นเช่นนี้
เพราะเห็นเช่นนี้ ศรัทธาของเขาจึงไม่เสื่อมไป
เพราะเห็นว่า บุคคลจะทำสมณะผู้สมบูรณ์ด้วยศีล
ให้เสมอกับสมณะผู้ทุศีล
และสมณะผู้บริสุทธิ์ให้เสมอกับสมณะผู้ไม่บริสุทธิ์
ได้อย่างไรเล่า
จุนทสูตรที่ ๕ จบ
เชิงอรรถ
A เสพบทอันไม่มีโทษ หมายถึงปฏิบัติตามโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ
(ขุ.สุ.อ.๑/๘๘/๑๖๗)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!