25-337 พระยโสชเถระ



พระไตรปิฎก


๓. ยโสชสูตร
ว่าด้วยพระยโสชเถระ

{๗๑} [๒๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปมีพระยโสชะเป็น
หัวหน้าเดินทางมาถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค ภิกษุอาคันตุกะ
เหล่านั้นแลกำลังทักทายกับภิกษุเจ้าถิ่น ปูลาดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวรอยู่ จึงได้
ส่งเสียงอื้ออึง
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเรียกพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ ภิกษุ
พวกไหนส่งเสียงอื้ออึงเหมือนพวกชาวประมงแย่งปลากัน”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป
เหล่านั้น มีพระยโสชะเป็นหัวหน้าเดินทางมาถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับเพื่อจะเฝ้า
พระผู้มีพระภาค ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นแลกำลังทักทายกับภิกษุเจ้าถิ่น ปูลาดเสนาสนะ
เก็บบาตรและจีวรอยู่ จึงได้ส่งเสียงอื้ออึง พระพุทธเจ้าข้า”
{๗๒} พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงเรียกภิกษุเหล่านั้นมาหา
เราว่า พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้วเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ ได้กล่าว
กับภิกษุเหล่านั้นว่า “พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นรับคำของ
ท่านพระอานนท์แล้วพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุอะไร เธอทั้งหลายจึงส่งเสียงอื้ออึงเหมือนพวก
ชาวประมงแย่งปลากัน” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้ ท่านพระยโสชะจึง
กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป
เหล่านี้เดินทางมาถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับ เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค ภิกษุอาคันตุกะ
เหล่านั้นทักทายกับภิกษุเจ้าถิ่น ปูลาดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวรอยู่ จึงได้ส่งเสียง
อื้ออึง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงไปเสียเถิด เราขับไล่
เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายไม่ควรอยู่ในสำนักของเรา”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้วพากันลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาท
แล้วทำประทักษิณ เก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรเที่ยวจาริกไปทางแคว้นวัชชี
เที่ยวจาริกไปโดยลำดับจนถึงแคว้นวัชชีแล้วไปที่แม่น้ำวัคคุมุทา สร้างกุฎีมุงด้วยใบไม้
เข้าอยู่จำพรรษาใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา
{๗๓} ครั้งนั้น ท่านพระยโสชะผู้เข้าจำพรรษาอยู่ด้วย ได้เรียกภิกษุทั้งหลายมา
กล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงมุ่งหวังประโยชน์ แสวงหา
ประโยชน์ ทรงอนุเคราะห์ อาศัยความอนุเคราะห์ จึงทรงขับไล่พวกเรา เอาเถิด
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ขอพวกเราจงอยู่อย่างที่พระผู้มีพระภาคทรงมุ่งหวังประโยชน์
แก่พวกเราเถิด”
ภิกษุเหล่านั้นรับคำของท่านพระยโสชะ แล้วก็ปลีกตัวไป ไม่ประมาท มีความ
เพียร อุทิศกายและใจอยู่ ภายในพรรษานั้นนั่นแล ทุกรูปก็ได้ทำให้แจ้งวิชชา
๓ ประการ A
{๗๔} ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคครั้นประทับอยู่ในกรุงสาวัตถีตามพระอัธยาศัยแล้ว
จึงเสด็จจาริกไปทางกรุงเวสาลี เสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงกรุงเวสาลี ประทับอยู่
ณ กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลีนั้น
ขณะประทับอยู่ที่นั้น พระผู้มีพระภาคทรงมนสิการกำหนดจิตของภิกษุที่อยู่
ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาด้วยพระทัย แล้วรับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า
“อานนท์ ทิศที่ภิกษุผู้อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาอยู่จำพรรษานี้ เป็นเหมือนเกิด
แสงสว่าง เป็นเหมือนเกิดรัศมี ปรากฏแก่เรา เธอคงไม่รังเกียจที่จะไปเพื่อความ
สนใจของเรา อานนท์ เธอพึงส่งภิกษุผู้เป็นทูตไปสำนักภิกษุผู้อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา
พร้อมกับสั่งว่า พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย พระศาสดามีพระประสงค์จะพบ
ท่านทั้งหลาย”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่งถึงที่อยู่ ได้กล่าว
กับท่านว่า “ผู้มีอายุ ท่านจงเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาถึงที่อยู่
แล้วพูดอย่างนี้ว่า พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย พระศาสดามีพระประสงค์จะพบ
ท่านทั้งหลาย”
ภิกษุรูปนั้นรับคำท่านพระอานนท์แล้วก็หายไปจากกูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน
ไปปรากฏเบื้องหน้าภิกษุเหล่านั้น ณ ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา เหมือนคนมีกำลัง
เหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น แล้วได้กล่าวกับภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ใกล้ฝั่ง
แม่น้ำวัคคุมุทาว่า “พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย พระศาสดามีพระประสงค์จะพบ
ท่านทั้งหลาย”
ภิกษุเหล่านั้นรับคำของภิกษุนั้นแล้วเก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรพร้อมกับ
หายไปจากฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา ไปปรากฏเบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ณ กูฏาคาร-
ศาลาในป่ามหาวัน เหมือนคนมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
{๗๕} ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งเข้าอาเนญชสมาธิ B ครั้งนั้น
ภิกษุเหล่านั้น ได้มีควมคิดอย่างนี้ว่า “บัดนี้ พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ด้วยวิหารธรรมไหนหนอ”
ครั้นแล้ว ภิกษุเหล่านั้นก็ได้รู้ว่า “บัดนี้ พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ด้วยอาเนญช-
วิหารธรรม” ทุกรูปจึงพากันนั่งเข้าอาเนญชสมาธิ
ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว ปฐมยามผ่านไปแล้ว ท่านพระอานนท์ก็ลุก
จากที่นั่ง ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาคประทับอยู่
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีผ่านไปแล้ว
ปฐมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุอาคันตุกะนั่งอยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรง
ทักทายกับภิกษุอาคันตุกะด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า” เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูล
อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคก็ยังประทับนิ่งอยู่
แม้ครั้งที่ ๒ เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว มัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ท่านพระอานนท์ก็
ลุกจากที่นั่ง ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาคประทับอยู่
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีผ่านไปแล้ว
มัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุอาคันตุกะนั่งอยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงทักทายกับ
ภิกษุอาคันตุกะด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคก็ยังประทับนิ่งอยู่เช่นเดิม
แม้ครั้งที่ ๓ เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว ปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว เข้ารุ่งอรุณ เริ่มสว่าง
ท่านพระอานนท์ก็ลุกจากที่นั่ง ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมมือไปทางพระผู้มี
พระภาคประทับอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรี
ผ่านไปแล้ว ปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว เข้ารุ่งอรุณ เริ่มสว่าง ภิกษุอาคันตุกะนั่งอยู่นานแล้ว
ขอพระผู้มีพระภาคทรงทักทายกับภิกษุอาคันตุกะด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคก็เสด็จออกจากสมาธินั้น รับสั่งเรียกท่านพระ
อานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ ถ้าเธอพึงรู้ไซร้ ความแจ่มแจ้งแม้นี้ก็ยังไม่ปรากฏชัด
แก่เธอ อานนท์ เรากับภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านี้ทั้งหมดได้นั่งเข้าอาเนญชสมาธิ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน C
ภิกษุใดละหนามคือกามได้ D
ชนะการด่าได้ E ชนะการทำร้ายได้ F และชนะการจองจำได้
ภิกษุนั้นดำรงมั่น ไม่หวั่นไหวดุจภูเขา
ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะสุขและทุกข์
ยโสชสูตรที่ ๓ จบ
เชิงอรรถ
A วิชชา ๓ ประการ คือ
(๑) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
(๒) ทิพพจักขุญาณ
(๓) อาสวักขยญาณ (ขุ.อุ.อ. ๒๓/๑๙๓)
B อาเนญชสมาธิ หมายถึงสมาธิอันสัมปยุตด้วยอรหัตตผลมีฌานที่ ๔ เป็นพื้นฐาน
อาจารย์บางพวกกล่าวว่า มีอรูปฌานเป็นพื้นฐาน เหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงเข้า
อาเนญชสมาธิ เพราะทรงประสงค์จะแสดงว่าภิกษุเหล่านั้นมีสัมโภคะเสมอกับพระองค์
และทรงประสงค์จะแสดงให้ปรากฏว่าภิกษุเหล่านั้นบรรลุพระอรหัตตผล
โดยไม่ต้องทรงเปล่งพระวาจา (ขุ.อุ.อ. ๒๓/๑๙๕)
C พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงการละกิเลสมีราคะเป็นต้นได้อย่างสิ้นเชิง
แสดงความสำเร็จ และความเป็นผู้คงที่ของภิกษุเหล่านั้น (ขุ.อุ.อ.๒๓/๑๙๗)
D ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๒๑๔ ในเล่มนี้
E ชนะการด่า หมายถึงไม่มีวจีทุจริต (ขุ.อุ.อ. ๒๓/๑๙๗)
F ชนะการทำร้าย หมายถึงไม่มีกายทุจริต (ขุ.อุ.อ. ๒๓/๑๙๗)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!